อ่านแล้วเล่า

เดเมียน

เรื่อง เดเมียน
ผู้แต่ง เฮอร์มานน์ เฮสเส
ผู้แปล สดใส
สำนักพิมพ์ สร้างสรรค์บุ๊คส์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9743415084

เดเมียน เป็นหนังสือที่ยากตอนเริ่มต้นนิดหน่อย
โดยเฉพาะเรื่องราวที่บีบเค้นความรู้สึกในบทแรก
แต่พอผ่านบทนั้นมา ความน่าสนใจของเนื้อเรื่องก็ทำให้เราสนุกไปกับมัน

ตอนเริ่มต้น เราเข้าใจว่าหนังสือกำลังเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง
แต่พอผ่านพ้นช่วงต้นไป เรื่องกลับพาเราเข้าสู่อีกเรื่อง
ซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญของเฮสเส
ไม่ต่างจากเล่มแรกที่เราอ่าน (สิทธารถะ)
เราว่า เดเมียน เข้าใจยากกว่าสิทธารถะ

เดเมียน เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่ชื่อว่า เอมิล ซินแคลร์
ปัญหาชีวิตครั้งแรกของซินแคลร์เริ่มต้นขึ้นในวัยเด็ก
แมกซ์ เดเมียน คือเพื่อนที่มาช่วยฉุดเขาขึ้นจากปลักตมนั้น
หลังจากนั้น เดเมียนก็กลายมาเป็นผู้ที่มีผลต่อจิตใจของซินแคลร์

เดเมียนเป็นตัวละครที่มีจุดเด่น และมีลักษณะบางอย่างเหนือจริง
เป็นตัวละครที่ฉลาดเฉลียว น่าทึ่ง
เขามีมุมมองที่แปลกแยกไปจากกรอบเดิมของศาสนา
และตรรกะของเดเมียนนี่เอง ที่สั่นคลอนความศรัทธาของซินแคลร์
หลายครั้งที่เหตุผลของเขาทำให้ซินแคลร์กังขาในคำสอนของพระเจ้า
เดเมียนสอนให้เขาสงสัย และครุ่นคิดหาคำตอบ
ซึ่งมันทำให้ความศรัทธาอย่างแรงกล้าตลอดมา เริ่มไม่มั่นคง
และความรู้สึกเช่นนั้นช่างน่ากลัว

ตอนที่เราเริ่มสงสัยต่อสิ่งที่เราศรัทธามาตลอดนั้น
ช่างสร้างความหวั่นหวาด หมดไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยว

ผู้เขียนเขียนถึงความรู้สึกของคนได้ลึกซึ้ง
ดึงดูดเราให้เข้าไป .. เข้าใจในความรู้สึกของตัวละคร ที่มีต่อสิ่งที่พวกเขาประสบอยู่
เราชอบการบรรยายกระบวนการเป็นไปของความรู้สึกนึกคิด
จากความรู้สึกหนึ่ง ข้ามผ่านไปสู่อีกความรู้สึกหนึ่ง

และอันที่จริงแล้ว ช่วงที่บีบคั้น กดดันความรู้สึกคนอ่านในตอนต้นเรื่องนี้เอง
ก็ได้เป็นพื้นฐานของการพินิจวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจ
ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในบทถัดมา และถัดมาอีกหน่อย
มันเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพ ต่อสิ่งที่เป็นนามธรรม
ในกระบวนความคิดที่ผู้เขียนเล่าถึง

เราชอบตอนที่เขาพูดถึงพระจ้า
ว่าต้องมีส่วนผสมของทั้งความดีงาม และความชั่วร้าย
มิเช่นนั้นแล้ว เราก็คงต้องนับถือซาตานด้วย
เพราะในตัวคนเราประกอบไปด้วยทั้งความดีและความเลวร้าย
และหากเรานับถือแต่ตัวแทนแห่งความดีงาม
ความเลวร้ายภายในตัวเราก็จะไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ไร้ที่อยู่อาศัย
มันคงจะถูกเก็บกด บีบอัดอยู่ภายใน
รอวันระเบิดออกในวันหนึ่ง

เราอดนึกถึง และเปรียบเทียบแนวความคิดในยุคสมัยนี้
นี่อาจจะหมายถึงการบอกให้เรายอมรับตัวตนของเราเอง
โอบกอดมันทั้งในด้านที่น่ารัก และด้านที่เลวร้าย
หากเราไม่ยอมรับการมีอยู่ของมัน เราจะก้าวข้ามผ่านมันไปได้อย่างไร?

ซินแคลร์จากเดเมียน ก็คือสิทธารถะที่กำลังแสวงหา
และยังไม่พบคำตอบแห่งชีวิต
เขายังคงค้นหา สับสน หลงทาง
หากแต่เราทุกคนก็ยังคงค้นหา ยังต้องค้นหา
ไม่มีใครตอบคำถามของใครได้
ไม่มีใครบอกหนทางเดินแก่ใครได้
ไม่มีใครกำหนดชีวิตของใครได้ ..
เราต้องค้นหาหนทางของตนเอง .. ด้วยชีวิตของเราเอง

สำหรับเรา เดเมียน เป็นหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกเหมือนถูกชำระจิตใจ
มันเป็นหนังสืออีกเล่มที่ทำให้เราหันมาทบทวนตัวเอง
ทบทวนหลักที่เรายึดเกาะ
ทบทวนความดีและความเลวตามนิยามที่เรายึดถือ
หรือตามที่สังคมของเรายึดถือ

เดเมียน ไม่ใช่หนังสือแบบที่เราจะอ่านได้เข้าใจทั้ง 100%
แต่ท่ามกลางความสับสน งุนงง
และคำถามที่ผุดขึ้นมาเป็นระยะระหว่างอ่าน
เป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้
หรือบางที อาจเป็นเสน่ห์ในแบบของเฮเส

ในตอนต้น เราเข้าใจว่าเราชอบเดเมียนมากกว่าสิทธารถะ
มาถึงในตอนจบ เรากลับลำ
กลับกลายเป็นรู้สึกชอบสิทธารถะมากกว่าเดเมียน

เราชอบครึ่งแรกของเล่มนี้มากกว่าครึ่งหลัง
ทั้งที่ครึ่งหลังมันเป็นส่วนที่เขากำลังเติบโต
บางที อาจะเป็นเพราะภายในของเราเองก็ยังไม่เคยเติบโต
เราจึงยึดติดกับมุมมองบริสุทธิ์
และไม่อาจยอมเปิดรับซาตานภายในจิตใจเรา
หากมองเป็นรูปธรรม เราเข้าใจสิ่งที่เขาบอก
หากในทางปฏิบัติ ตัวตนของเรากำลังค้านจิตใจตัวเอง
ไม่ยอมเปิดรับ ไม่ยอมเป็น ในเหตุผลที่ตัวเองบอกว่าเข้าใจ

สำหรับเรา ซินแคลร์ไม่ได้ตื่นรู้
แม้เขาจะบอกให้เราค้นหาคำตอบของตนเอง
แต่เขาก็แบ่งแยกตนเองว่าต่างระดับ ต่างประเภทกับคนอื่น
ในขณะที่เราสามารถที่จะเป็นสิทธารถะได้
แต่กับซินแคลร์ เราเป็นคนอื่น เราไม่มีทางที่จะเป็นเขา

ในช่วงท้ายของเล่ม ..
ยิ่งเราอ่านใกล้จบ ยิ่งเหมือนถูกดึงรั้งให้ไปได้ช้าลง
กับงานเขียนของเฮสเส
เกือบทุกอย่าง มันเกือบจะเป็นรูปธรรมที่เราจับต้องได้
ยกเว้นเพียงตอนเดียว คือตอนไคล์แมกซ์
ตอนที่ค้นพบหนทาง ตอนที่ประสบความรู้แจ้ง
ตอนที่คำถามในใจได้รับคำตอบ
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นนามธรรมที่เราไม่อาจตีแตก
บางที เฮสเสอาจต้องการให้เราทุกคน
ค้นหาหนทาง ค้นหาคำตอบ และพบมันได้ด้วยตนเอง

งานของเฮสเสยังคงตั้งคำถาม ..
และเรายังคงหาคำตอบ .. ไม่เคยพบ ..

Comments are closed.