อ่านแล้วเล่า

เจ้าชายน้อย

121-1 เจ้าชายน้อย

เรื่อง เจ้าชายน้อย
ผู้แต่ง อังตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี
ผู้แปล อริยา ไพฑูรย์ (แปลจากภาษาฝรั่งเศส)
สำนักพิมพ์ หนังสือยามเช้า
ราคา 78 บาท

เจ้าชายน้อย เป็นวรรณกรรมแปลที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันมากในหลายประเทศ
ต่อให้เป็นคนที่ไม่อ่านหนังสือ ก็ต้องเคยได้ยินชื่อเจ้าชายน้อยกันมาบ้างแน่ๆ
ยิ่งถ้าเป็นคนที่อ่านหนังสือด้วยแล้ว
กว่าครึ่งที่เคยอ่านเป็นต้องหลงรักเจ้าชายน้อยกันเป็นแถว

สำหรับเรา แม้จะอ่านหนังสือมานับร้อยนับพันเล่ม
แต่หนนี้ กลับเป็นการอ่านเจ้าชายน้อยเป็นครั้งแรกของเรา
(อันที่จริงเคยเปิดอ่านก่อนหน้านี้หลายปีก่อน แต่อ่านไม่จบ เพราะติดอคติไปว่า
ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ทำไมจึงได้โด่งดังนัก)

เจ้าชายน้อยเล่มนี้ มีความพิเศษแตกต่างไปจากเจ้าชายน้อยเล่มอื่นอยู่นิดหน่อย
ตรงที่ไม่มีภาพประกอบใดๆ ตามต้นฉบับเลยแม้แต่น้อย
ผู้จัดทำมีความประสงค์ให้ผู้อ่านได้เปิดต่อมจินตนาการออกให้กว้าง
เปิดรับเจ้าชายน้อยในรูปแบบที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา
แต่ใช้ความรู้สึกสัมผัส และรับรู้ด้วยใจ

สารภาพอีกครั้งว่า หนังสือเล่มที่เราอ่านไม่ใช่เล่มนี้หรอก
(แม้คำนำจากหนังสือเล่มนี้จะดีงามมาก)
การขาดภาพประกอบ ทำให้คนจินตนาการชำรุด
ต้องใช้ความพยายามในการอ่านมากเป็นพิเศษอยู่สักหน่อย
นั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เราอ่านมันไม่จบเสียที
จนกระทั่งได้ไปอ่านอีกเล่ม (เสิร์ชคำว่าเจ้าชายน้อย มีไฟล์ pdf ที่หลากหลายมาก)
ที่มีภาพประกอบชัดเจน จึงอ่านได้สบายใจ
ละทิ้งอคติและความระแวงไปว่าเราพลาดภาพประกอบสำคัญไปหรือเปล่า -*-

121-2 เจ้าชายน้อย

เปิดใจอ่านเจ้าชายน้อยอีกครั้ง อย่างคนที่อยากรู้อยากเห็น
หนังสือเล่มบางๆ ภาษาง่ายๆ อ่านอย่างไม่ตั้งความหวัง ไม่คาดเดา
เจ้าชายน้อยก็เป็นหนังสือที่น่าสนใจดี

เนื้อหาในเล่มเสียดสีสังคมมนุษย์ผู้ใหญ่เบาๆ ค่อยๆ ขบคงจะค่อยๆ จุก
เปิดเผยความสดใสไร้เดียวสา และการมองโลกด้วยสายของความเยาว์วัย

หนังสือเจ้าชายน้อย เล่าถึงชีวิตวัยเด็กของชายผู้หนึ่ง
ที่เคยถูกลบความฝันด้วยคำปรามาสรูปวาดของตนจากผู้ใหญ่รอบกาย
เขาทอดทิ้งการวาดภาพ และเติบโตในเส้นทางที่ผู้ใหญ่กำหนด
เขาเติบโตขึ้นเป็นนักบินในขณะที่จิตใจยังคงติดค้างกับรูปวาดในวัยเด็กของตนรูปนั้น
ในวันหนึ่งขณะที่เครื่องบินของเขาเสีย ณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งห่างไกลมนุษย์ (ทะเลทรายซะฮาร่า)
เขาก็ได้พบกับใครคนหนึ่งที่ทำให้เขาหวนกลับมาลองวาดภาพอีกครั้ง .. เจ้าชายน้อย

เจ้าชายน้อย คือจิตวิญญาณแห่งความเยาว์วัย
เป็นตัวแทนของความรู้สึกนึกคิดอันบริสุทธิ์และเต็มไปด้วยจินตนาการของเด็กๆ
เขาได้ส่งมอบ ถ่ายทอดความเยาว์วัยนั้นให้แก่นักบินคนนั้น และผู้อ่านด้วย

ความพิเศษของหนังสือเจ้าชายน้อยน่าจะเป็นเพราะ
มันเป็นหนังสือที่จุดไม้ขีดไฟแห่งความคิดให้ต่อเนื่องออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
ไม่ว่าจะอ่านในวัยใด เราก็สามารถแตกความคิดออกไป
ได้กว้างไกลตามแต่ประสบการณ์ชีวิตของใครจะพาไป

อาจเป็นเพราะเกือบตลอดเวลาที่เราอ่าน เสียงในหัวของเรามันคอยย้ำตลอดว่า
หนังสือที่เรากำลังอ่านอยู่นี่นะ เป็นวรรณกรรมที่แสนดีแสนดัง
เลยพาลให้เราออกอาการเกร็งเกือบตลอดเวลาที่อ่าน โดยไม่ได้ตั้งใจ
อ่านจบ เลยไม่ค่อยจะซาบซึ้งอะไรเท่าไร
คิดเอาเองว่าเจ้าชายน้อยออกจะเป็นหนังสือแห่งนิยามที่ทื่อๆ ตรงๆ
แง่มุมที่นำเสนอ ก็เคยอ่านพบในหนังสืออีกหลายเล่มที่เล่าได้ซาบซึ้งกว่า
ภาษาที่ง่ายเกินไปทำให้ไม่อิน
และไม่รู้สึกประทับใจเจ้าชายน้อยอย่างที่ตั้งความคาดหวังเอาไว้

แต่ถึงอย่างนั้น ..
ความดีงามของหนังสือเล่มหนึ่งนั้น บางทีก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะบอกแก่ใครได้
คงต้องรอสักวัน ที่เราจะรู้สึกถึงสิ่งนั้น .. ด้วยตนเอง

Comments are closed.