อ่านแล้วเล่า

หิมาลัยไม่มีจริง

เรื่อง หิมาลัยไม่มีจริง
ผู้แต่ง นิ้วกลม
สำนักพิมพ์ KOOB
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167942308

หนังสือเล่มนี้ นิ้วกลมเล่าเรื่องการไปปีนเขา
ลูกเดิม ลูกเดียวกันกับใน เนปาลประมาณสะดือ
ผ่านสายตาของนิ้วกลมคนใหม่
ที่ไม่หลงเหลือเซลล์ใดเซลล์เดียวกันกับนิ้วกลม
คนที่เขียนเนปาลประมาณสะดืออยู่เลย

เวลาเปลี่ยน ร่างกายภายนอกเปลี่ยน และจิตใจภายในก็เปลี่ยน
การปีนเขาลูกเดิม จึงให้เรื่องราวที่ไม่เหมือนเดิม

ปลายทางของนิ้วกลมในครั้งนี้ เขยิบยาวไกลออกไปอีกหน่อย
คืออยู่ที่ EBC หรือ Everest Base Camp
ซึ่งมีความสูงอยู่ที่ 5364 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเล

ในช่วงต้น เราเดินเตาะแตะไปกับนิ้วกลมแบบช้าๆ เนิบๆ
ผ่านไปราวร้อยหน้า นิ้วกลมเพิ่งจะเริ่มออกเดินเท้าจากจุดเริ่มต้น

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นหนังสือบันทึกการเดินทางจ๋าเท่า เนปาลประมาณสะดือ
แต่เป็นการบันทึกความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างเดินทางมากกว่า
เป็นการตกผลึกภายใน ของสิ่งที่ต่างๆ ที่ลอยวนอยู่รอบตัวเขา
อาจเป็นสิ่งที่เคยอ่าน เคยได้ฟัง เคยรับรู้ ฯลฯ
แล้วก็มาได้ขบ คิด คุย กับตัวเองตอนเดิน เดิน และเดิน
ร้อยหน้าแรกในระยะเริ่มต้น นิ้วกลมและเพื่อนในกลุ่มยังคงเดินได้ชิลๆ
เรื่องราวที่อ่านก็ยังชิลๆ
คนอ่านก็เลยชิลไปด้วย อ่านไม่ไปไหนเสียที
นิ้วกลมยังไม่รู้ว่าอะไรรอเขาอยู่ข้างหน้า
เช่นเดียวกับที่เราก็ยังไม่รู้ว่าอะไรรอเราอยู่ในอีกหลายร้อยหน้าที่เหลือ

แม้ชื่อหนังสือจะทำให้ดูเหมือนว่านิ้วกลมเล่าเรื่องการปีนขึ้นหิมาลัย
แต่แท้ที่จริงแล้ว หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการเดินทางน้อยมาก
ตลอดทั้งเล่มนี้ นิ้วกลมเล่าถึงธรรมชาติ
เล่าถึงการสอดประสานสัมพันธ์กันของสรรพสิ่งบนโลก
พูดถึงวัฏจักรชีวิต การเกิดดับ การตายจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง
มีทั้งปรัชญา ทั้งวิทยาศาสตร์
ไม่ว่าเขาจะเล่าเรื่องใดๆ ก็จะพบเรื่องเหล่านี้แทรกอยู่ในเรื่องที่เล่าเสมอ

สิ่งซึ่งนิ้วกลมระลึกถึงบ่อยๆ ขณะเดินไต่อยู่บนหิมาลัยนั้น
คือความตัวเล็กจ้อยของมนุษย์
และความเปลี่ยนแปรอันเป็นวัฏจักรนิรันดร์
จากเล็กสู่ใหญ่ แล้วกลับกลายมาเล็ก
จากความไม่มี สู่มี และไม่มี วนเวียนตราบนานเท่านาน

ต่อมาถึงในช่วงหลังจึงเป็นช่วงที่หนักหน่วง
มีวันที่ทางเดินชันกว่าวันอื่น
มีวันที่หิมาลัยเต็มไปด้วยสายฝนและหมอกขาว
ที่ทำให้ยากจะมองออกว่าเส้นแบ่งระหว่างทางเดินกับหน้าผาอยู่ตรงไหน
เราเริ่มได้ยินนิ้วกลมถามตัวเองว่า
เขากำลังทำอะไรอยู่ เขามาที่นี่ทำไม

คนที่กำลังปีนเขาอยู่นั้น นอกจากจะต้องแบกน้ำหนักของความหวังแล้ว
บางครั้งยังต้องแบ่งพลังมาแบกน้ำหนักของความลังเลสงสัยในใจตนเองด้วย

จากที่เดินชิลด์ในช่วงแรก ครึ่งหลังเราเริ่มมองเห็นความยากลำบาก
ต่อให้เตรียมร่างกายมาพร้อมแค่ไหนก็ตาม
แต่สถาพแวดล้อมที่แตกต่างจากบ้านเรามากๆ
ก็ทำให้การเดินทางครั้งนี้หนักหนาสาหัสอยู่ดี

ในตอนที่กำลังอ่านถึงตอนนี้ เราเริ่มจินตนาการถึงขากลับ
ปกติแล้วเวลาเราออกเดินทางหรือไปเที่ยวนั้น
เมื่อเราได้เที่ยวครบตามโปรแกรมและอิ่มเอมกับความรู้สึกนั้นแล้ว
หลังจากนั้นคือการเดินทางกลับบ้านเพื่อพักผ่อน
ไม่ว่าจะไปกี่วัน แต่ขากลับก็คือเพียงวันเดียว
บ้านที่โหยหาก็จะอยู่ตรงหน้าเรา
แต่การเดินเท้าอยู่บนยอดหิมาลัย
การกลับบ้านคือระยะเวลาเท่ากันกับขาไปเกือบจะเป๊ะๆ
เราอยากรู้ว่านิ้วกลมจะรู้สึกกับ “ขากลับ” ยังไง
อยากรู้ว่าเขาจะเล่ามันออกมายังไง ..

ในช่วงสุดท้ายของเล่ม
นิ้วกลมเล่าถึงประสบการณ์การปีนเขา
ของนักปีนเขายุคบุกเบิกหลายคน หลายเรื่องราว
เขาถ่ายทอดทั้งความหวัง ความสิ้นหวัง
ความกล้าบ้าบิ่น และความไม่ประมาท
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทางเลือกสองทางเกิดขึ้นในหัวใจของนักปีนเขาทุกคน
คือทำสำเร็จ แม้อาจแลกด้วยชีวิต
หรือล้มเลิกกลางคัน และกลายเป็นคำถามที่ค้างคาใจจากนั้นตลอดมา

ณ จุดสูงสุดของทุกคนที่ไปถึง มันก็มีระยะเวลาเพียงไม่นาน
ไม่มีใครอยู่ตรงนั้นได้ตลอดไป
สุดท้ายแล้ว ทุกคนก็ต้องกลับมาใช้ชีวิตกันไปตามครรลอง
มีเพียงบางอย่างในใจของพวกเขาเท่านั้นที่เกิดขึ้น
และมีเพียงเจ้าตัวที่รับรู้ .. รู้สึก

เข้าใจแล้วว่าทำไมมีคนบอกว่าหนังสือเล่มนี้ดี
ตลอดทาง .. ตลอดการอ่าน แม่จะมีช่วงเนือยๆ เบื่อๆ บ้าง
แต่นิ้วกลมจบได้ดี ตอนจบเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ดี

Comments are closed.