อ่านแล้วเล่า

หมาป่าโดดเดี่ยว ปราสาทเดียวดาย ในกระจก

เรื่อง หมาป่าโดดเดี่ยว ปราสาทเดียวดาย ในกระจก
ผู้แต่ง สุจิมุระ มิซึกิ
ผู้แปล บัณฑิต ประดิษฐานุวงษ์
สำนักพิมพ์ น้ำพุ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786162874819

อันไซ โคโคโระ เป็นเด็กประถมที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นชั้นมัธยมมาได้ไม่นาน
เมื่อย้ายโรงเรียนใหม่ และไม่มีเพื่อนที่สนิทกันมาก่อน
ไม่รู้ทำไม จู่ๆ เธอก็กลายเป็นที่หมายหัวของซานาดะ หัวโจกของห้อง
เพื่อนๆ เริ่มไม่กล้าไปไหนกับเธอ ไม่กล้าพูดคุยกับเธอ
แล้วในที่สุดเธอก็กลายเป็นคนที่ถูกกลั่นแกล้ง
เรื่องราวเลวร้ายต่างๆ ทำให้ความมั่นใจภายในถูกลดทอน
เธอไม่กล้าที่จะไปโรงเรียนอีกต่อไป

โชคยังดีที่เธอมีพ่อแม่ที่เข้าใจ หรืออย่างน้อยก็พยายามจะเข้าใจ
แม่พาเธอไปดูโรงเรียนใหม่
เป็นโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กที่มีปัญหาเช่นเธอ
ทุกอย่างดูเหมือนจะดี
แต่วันแรกที่เธอจะต้องไปโรงเรียน เธอกลับรู้สึกปวดท้อง
เป็นความรู้สึกปวดท้องที่จริงจัง ไม่ได้แกล้งทำ

เธอรู้ว่าเธอทำให้แม่ผิดหวัง
และเธอก็รู้สึกผิดหวังกับตัวเอง
การที่ต้องจมอยู่กับบ้าน
ทั้งๆ ที่เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันได้ไปโรงเรียน
เป็นความผิดหวัง เป็นความอับอาย
เธอรู้สึกผิดต่อพ่อแม่ รู้สึกผิดกับตัวเอง
เป็นความรู้สึกแย่ๆ ที่หาทางออกไม่ได้เลย

จนกระทั่งวันหนึ่ง
กระจกบานใหญ่ในห้องเธอก็ส่องแสงประหลาด
ตอนที่เธอเอื้อมมือไปแตะ
ผิวกระจกก็กลายเป็นความรู้สึกหยุ่นๆ
และดูดร่างเธอเข้าไปข้างใน

เธอลืมตาขึ้นอีกครั้งที่ปราสาทแสนสวย
มีเด็กหญิงวัยประถมสวมหน้ากากหมาป่า ..
คุณหมาป่าพูดจาแปลกๆ กันเธอ
ทำให้เธอหนีกลับบ้านก่อนจะได้ฟังเรื่องราวทั้งหมด

เธอกลับมาที่เดิมอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น
ที่ปราสาท นอกจากตัวเธอเอง
เธอยังพบคนที่อายุไล่ๆ กับเธออีก 6 คน

มาซะมูเนะ เด็กชายติดเกม
ฟุกะ เด็กหญิงสวมแว่นตา
อุเรชิโนะ เด็กชายร่างอวบ ที่ดูจะขี้อาย
ริออน เด็กชายหน้าตาดีและดูเท่
อากิ เด็กหญิงตัวสูง และไว้ผมหางม้า
ซูบารุ เด็กชายตัวสูง ที่มีรอยกระที่จมูก

ทุกคนดูงุนงง และแปลกใจเช่นกัน
คุณหมาป่าเรียกเด็กๆ ทั้งหมดว่า หนูน้อยหมวกแดงผู้หลงทาง ..
น่าจะเพราะเด็กทุกคนเป็นเด็กที่ไม่ยอมไปโรงเรียน
ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน

เด็กหญิงหน้ากากหมาป่าบอกว่า
ปราสาทแห่งนี้ คือปราสาทที่ทำให้ความปรารถนาเป็นจริง
ภายในปราสาท จะมีห้องแห่งความปรารถนา
ซึ่งคนที่จะเข้าไปได้มีเพียงคนเดียว
คือคนที่หากุญแจเจอ
และคนที่หาเจอเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ขอพร 1 ข้อ
นี่เป็นกติกาสำคัญ
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของทุกคน ..

ที่ปราสาทแห่งนี้ จะเปิดให้เด็กๆ มาได้ทุกวัน
ตามเวลาเรียนปกติ คือเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น
เด็กๆ จะต้องกลับบ้านผ่านกระจกนี้ก่อนห้าโมงเย็น
ไม่เช่นนั้น จะมีบทลงโทษที่น่ากลัวรอคอยอยู่

เบื้องหลังของเด็กๆ ที่ไม่ไปโรงเรียนทั้ง 7 คนนั้น
ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความสัมพันธ์
และการปฏิบัติต่อเด็กๆ ของคนในครอบครัว,
วิถีปฏิบัติและกรอบความคิดของครู, สังคมเพื่อน ฯลฯ

แม้จะไม่ไปโรงเรียนเหมือนๆ กัน
แต่ปัญหาของทุกคนก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย
ที่แตกต่างกันออกไป
บ้านที่ไม่ให้ความรัก บ้านที่ไม่ให้ความอบอุ่น
บ้านที่ไม่ให้ความปลอดภัย
และยังมีบ้านธรรมดาๆ ที่สังคมภายนอกเลวร้าย ฯลฯ

ความรู้สึกภายในของเด็กๆ ที่มีต่อเพื่อน
พ่อแม่ ครู และโรงเรียน ก็ต่างกันออกไป
ซึ่งวิธีแก้ก็ย่อมไม่เหมือนกันด้วย

เด็กๆ ที่ไม่ไปโรงเรียนเหล่านี้
บางคนแทบจะไม่กล้าออกจากบ้านด้วยซ้ำ
แต่ทุกคนสมัครใจ และเต็มใจ
ที่จะมาที่ปราสาทประหลาดแห่งนี้
ในเวลาเดียวกันกับเวลาทำการของโรงเรียน
สถานที่ที่ไม่มีผู้ใหญ่มาออกคำสั่งหรือตัดสินใจ
มีแต่เด็กๆ ที่มีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน

ตัวละครหลักผู้เล่าเรื่อง คือโคโคโระ
เราได้รับรู้มุมมองของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ไปโรงเรียน
ผู้เขียนอธิบายความรู้สึกภายในของเด็กหญิง
ที่ทั้งเศร้า ทั้งโกรธแค้น ความรู้สึกลำพัง
ความต้องการต่อสู้ ทั้งที่กลัวมากๆ
ความรู้สึกผิดต่อตัวเอง

ความทุกข์ทรมานจากความรู้สึกผิดเหล่านี้
เป็นความรู้สึกที่ซับซ้อน
ทั้งที่ไม่กล้าบอกใคร ไม่อยากเล่าให้ใครฟัง
แต่ก็ยังอยากให้มีคนรับรู้ความรู้สึกนั้น
อยากมีคนเข้าใจ ทุกข์ร้อนไปด้วย
แต่ก็พูดไม่ออก และไม่อาจอธิบาย
ผู้เขียนถ่ายทอดทั้งหมดนั้นออกมา
ผ่านเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ

ระหว่างนั้น เราได้เห็นมิตรภาพ
ความเข้าอกเข้าใจของคนที่มีอะไรบางอย่างเหมือนกัน
ทุกคนล้วนเป็นเพียงเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่ง
ที่ถูกกระทำอย่างมากมายเหลือเกิน
เป็นการถูกกระทำที่แม้แต่คนกระทำ ก็ไม่อาจรับรู้อย่างลึกซึ้ง
ว่าตัวเองได้ทำร้ายคนคนหนึ่งได้ถึงขนาดนี้

นอกจากนี้ กับเด็กบางคน
ความเหมาะสม ความจริงจังและจริงใจ
ของผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัว
ก็มีผลกระทบอย่างละเอียดอ่อนต่อเด็กๆ

ผู้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกอ่อนโยน อบอุ่นหัวใจ
ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็อยากเป็นที่ยอมรับ
อยากมีพื้นที่ของตัวเอง มีคนที่เข้าใจ
ที่ที่ปลอดภัย อบอุ่น และมีความสุข

หนังสือเล่มนี้ถูกโอบล้อมไว้ด้วยความอบอุ่น เข้าอกเข้าใจ
มีหลายตอนที่กระทบความรู้สึกของเราโดยตรง
และเชื่อว่า มันน่าจะกระทบใจเด็กๆ ที่มีประสบการณ์ร่วมบางอย่าง

เราชอบความคิดแบบที่ว่า “ก็แค่โรงเรียน ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต”
กับ “ไอ้พวกหัวโจกน่ะ ก็เป็นหัวโจกแค่ในวันนี้
คนพวกนั้นผลการเรียนย่ำแย่ นิสัยไม่ดี
โตขึ้นไป อนาคตไม่สวยแน่”
มันเป็นความคิดแบบที่ทำให้เรามองเห็นแสงแห่งความหวังรำไร
ว่าโลกไม่ได้เป็นของคนแบบนั้นตลอดไป
โลกที่คนพวกนั้นยืนอยู่ ไม่ได้ถูกต้องตลอดไป

มันเป็นหนังสือที่ดี เข้าถึงจิตใจและให้กำลังใจคนอ่านได้ดี
เป็นหนังสือเล่มหนาๆ ที่เราใช้เวลาอ่านไม่นานเลย
เราเสียน้ำตาให้กับเด็กๆ มากมายอย่างที่ไม่ได้ร้องไห้มานานแล้ว
ประทับใจ อย่างที่ไม่ได้ประทับใจเล่มไหนมากเท่านี้มานานแล้ว
ดีใจที่ได้อ่าน และดีใจที่ได้แนะนำให้คนอื่นๆ ได้อ่าน
ลองให้เวลากับหนังสือเล่มนี้ แล้วเปิดรับความรู้สึกที่ได้รับจากการอ่าน
ขอให้มีความสุข และสนุกไปกับมันนะคะ

Comments are closed.