อ่านแล้วเล่า

หนีไฟนรก

เรื่อง หนีไฟนรก
ผู้เขียน โนริโอะ ชิมามูระ
จากคำบอกเล่าของ เจีย กิมลั้ง
ผู้แปล ผุสดี นาวาวิจิต
สำนักพิมพ์ ผีเสื้อ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9741401876

จากเรื่อง 4 ปี นรกในเขมร
ได้มีตอนหนึ่งที่ยาสึโกะ นะอิโต ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น
ได้ขอเด็กสาวชาวกัมพูชาคนหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรม
เด็กสาวคนนั้นชื่อว่ากิมลั้ง หรือเจีย กิมลั้ง
เธอได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาขณะนั้น
ผ่านสายตาและมุมมองของตัวเธอเอง
ให้กับ โนริโอะ ชิมามูระ เป็นผู้เรียบเรียง ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ
และมันก็คือหนังสือเล่มนี้ .. หนีไฟนรก

เจีย กิมลั้ง อายุ 18 – 19 ปี (เมื่อปี พ.ศ. 2518 ในวันที่สงครามกลางเมืองเริ่มต้นขึ้น)
เธอเป็นลูกสาวคนโตของครูเรียง (ชื่อครูเรียง เป็นพ่อค้า ไม่ได้เป็นครู) กับพินพอม
ครูเรียงอายุ 45 ปี พินพอมอายุ 41 ปี
ทั้งคู่มีลูกชายหญิงรวมทั้งสิ้น 10 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 8 คน
คือกิมลั้ง จุเรน กิมกง วรรณา วรรณี สินะ สุคนเทีย สุคนเทรี และสัมดี

ปู่ของกิมลั้งเป็นคนจีน ลงเรือมาจากจีนแผ่นดินใหญ่
มาตั้งรกรากอยู่ในประเทศเขมร
ตั้งแต่ในสมัยที่เขมรยังตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ครอบครัวของกิมลั้งทำโรงสี และมีร้านขายของ
เมื่อกัมพูชาจะเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์
ครอบครัวของเธอได้รับคำสั่งให้ต้อง
อพยพออกจากบ้านเกิดที่โทโมโป

เรื่องที่เล่ามุมมองของกิมลั้งใน หนีไฟนรก เล่มนี้
เป็นเรื่องราวคู่ขนานกับมากับ 4 ปี นรกในเขมร ที่ยาสึโกะเป็นผู้จดบันทึก
เหตุการณ์บางช่วงเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน เพราะทั้งสองคนรู้จักกัน
และได้กลายมาเป็นแม่ลูกบุญธรรมกันในภายหลัง
แต่อีกหลายเหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่ยาสึโกะไม่มีโอกาสได้พบเห็น

บ้านเมืองเขมรในช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมือง (ก่อน พ.ศ. 2518)
ตอนที่เขมรเพิ่งได้รับอิสรภาพใหม่ๆ บ้านเมืองค่อนข้างสงบเรียบร้อย
ประชาชนอยู่ดีมีสุข ประกอบสัมมาอาชีพ

ผู้เขียนได้สอดแทรกประวัติศาสตร์กัมพูชา
ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม
การวางตัวของกัมพูชาในวงการเมืองโลก
การบริหารบ้านเมืองของเจ้าสีหนุ
ช่วยให้เราเข้าใจสภาพสังคมกัมพูชา
ก่อนที่กัมพูชาจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์

และเมื่อกัมพูชากลายเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นก็ยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากหนังสือเล่มนี้

เจีย กิมลั้ง เป็นหญิงสาวที่อยู่ในวันทำงาน
ไม่ใช่วัยเกษียณเหมือนยาสึโกะ ซึ่งได้รับผ่อนผันให้ทำงานที่ไม่หนักมากนัก
ดังนั้น เหตุการณ์เดียวกันผ่านคำบอกเล่าของกิมลั้ง
จึงเป็นเรื่องที่โหดร้ายกว่าที่เราอ่านจากบันทึกของยาสึโกะมาก

คนหนุ่มสาวต้องทำงานหนัก ตื่นตั้งแต่ตี 3 ไม่ได้กินข้าวเช้า
ได้พักกินข้าวกลางวันและเย็น และทำงานต่อจนถึงเที่ยงคืน
ได้นอนเพียงวันละ 5 ชั่วโมง อาหารก็มีเพียง 2 มื้อ
และเป็นมื้อที่ไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนด้วย

อ่าน หนีไฟนรก เล่มนี้จบ เราจิตตกมากกว่าตอนที่อ่าน 4 ปี นรกในเขมร
แต่ถึงแม้หนังสือเล่มนี้จะแฝงความรู้สึกเศร้า หดหู่ จนทำให้จิตตก
แต่มันก็ยังมีความหวัง ทั้งความหวังให้กับตัวกิมลั้งเอง
และยังเป็นความหวัง กำลังใจให้แก่ผู้อ่านด้วย
เป็นอีกครั้งที่อยากแนะนำว่า
อ่านประวัติศาสตร์เถิด .. รับรู้ เรียนรู้ ..
เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์นั้นเกิดซ้ำ .. ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง
4 ปี นรกในเขมร
สงครามกลางเมืองกัมพูชา เหตุการณ์อันเป็นฉากหลังของหนังสือ 4 ปี นรกในเขมร

 

Comments are closed.