อ่านแล้วเล่า

สาบนรสิงห์

เรื่อง สาบนรสิงห์
ผู้แต่ง จินตวีร์ วิวัธน์
สำนักพิมพ์ กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167735542

นรสิงห์ เป็นหนึ่งในอวตารของนารายณ์สิบปาง
ในการอวตารลงมาเป็นปางต่างๆ ของพระนารายณ์นั้น
ก็เพื่อปราบยุคเข็ญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์
สำหรับปางนรสิงห์นี้ เป็นปางที่ 4 และดุร้ายที่สุด

มีลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์
ตามตำนานสืบมาแต่คัมภีร์วิษณุปุราณะ
ในยุคพระเวทของฮินดู
มีอสูรร้ายตนหนึ่ง ชื่อ หิรัณยกศิปุ
ได้ขอพรจากพระพรหมธาดาให้ตนเองมีฤิทธิ์
ใครฆ่าไม่ตาย ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์ หรือสัตว์
ไม่ให้ตายด้วยอาวุธใดๆ
ไม่ตายทั้งในกลางวันและกลางคืน
ไม่ตายในบ้านหรือนอกบ้าน

เมื่อเจ้าอสูรตนนี้ได้พร ก็เหิมเกริม
ไล่พระอินทร์ออกจากวิมาน แล้วก็เข้าไปอยู่แทน
สร้างความเดือดร้อนให้เหล่าเทวดา
เหล่าเทวดาจึงไปฟ้องพระอิศวร
พระอิศวรจึงส่งพระนารายณ์ไปปราบ
พระนารายณ์ดูกติกาแล้ว ก็เลยอวตารเป็นนรสิงห์
คือไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เทวดา
แล้วก็ฆ่าอสูรร้ายด้วยกรงเล็บ
ในเวลาโพล้เพล้ ไม่กลางวัน ไม่กลางคืน
โดยลากไปฆ่าที่ธรณีประตู แหกทุกกฏ
อสูรก็ตายลงไปด้วยประการฉนี้ .. นี่คือตำนานที่มีมาแต่เดิม
ที่เพิ่มเติมคือพล็อตของนิยาย .. ดังต่อไปนี้ค่ะ 🙂

สาบนรสิงห์ เปิดเรื่องขึ้นในตอนที่นักโบราณคดีชาวฝรั่งคนหนึ่ง
จ้างนายพราน พร้อมลูกหาบกลุ่มหนึ่ง เข้าป่า
เพื่อค้นหาหลุมฝังศพโบราณ อายุราว 5000 ปี
เขาเชื่อว่าเป็นหลุมศพที่ว่านี้ เป็นหลุมศพของนรสิงห์
เทพเจ้าที่เคยมีตัวตนอยู่จริงในอดีต
เพียงไม่กี่บทแรก โลงศพโบราณนี้ก็ถูกค้นพบ
พร้อมกันกับที่นักโบราณคดีฝรั่งคนนี้ได้กลายเป็นศพปริศนา
ที่มีร่องรอยกรงเล็บประหลาดกรีดยาวพาดร่างเหวอะหวะ

การค้นพบจึงหยุดชะงัก
และมาถูกสานต่อหลังจากนั้นไม่นาน
โดยกลุ่มเพื่อนนักวิชาการของเขา ..
ศาสตราจารย์ศรินทร์ อภัยพรต
เป็นอาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ ที่มีความสนใจทางด้านวรรณคดี
และ ศาสตราจารย์ ดร.ไมเคิล แอนดรู อาจารย์ด้านเทววิทยา
และนักวิชาการวัยหนุ่ม วิฑิต วรรณาศรัย
จึงได้ตามรอยเข้าไปค้นพบ
และหอบเอาโลงศพผลึกแก้วสีเขียวทึบนั้น กลับมายังกรุงเทพฯ

หลังจากนั้น เหตุการณ์ร้ายต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ
มีคนพบศพเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ที่ตายคล้ายกับนายฝรั่งคนแรก
คือร่างถูกกรงเล็บขนาดใหญ่ฉีกอก ถูกควักเครื่องในออก
กลายเป็นเหตุการณ์ฆาตกรต่อเนื่องที่ไร้เบาะแส

ในขณะเดียวกันนั้นเอง
ก็ปรากฏเจ้าชายต่างเมืองขึ้นในวงสังคม
คอยพัวพันอยู่ใกล้ๆ กับครอบครัว ของศาสตราจารย์ศรินทร์ อภัยพรต

นับจากที่เราอ่านหนังสือของคุณจินตวีร์ วิวัธน์ มา 3 เรื่อง
ความสนุกไล่เรียงลำดับมาเลย
สำหรับเราคือ ใต้เงาปิรามิด สนุกน้อยที่สุด
พอมาอ่าน วังไวกูณฑ์ ก็สนุกมากขึ้นมาอีกหน่อย
มาพีคสุดที่เล่มนี้
ผู้เขียนมีวิธีเล่าเรื่องที่น่าติดตาม
โดยการสร้างปมบางอย่างขึ้นมา
แล้วค่อยๆ ให้เราแกะรอย แล้วก็เฉลยเรื่อยๆ
เป็นปมเล็กๆ แต่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นไปตลอดทั้งเล่ม

แต่ก็ยังคงมีจุดขัดใจนิดๆ หน่อยๆ เวลาอ่านนิยายเก่าๆ
คือการตัดสินใจของตัวละครจะมีช่องโหว่ให้เห็น
เราพอจะเดาได้ว่า่ต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น
เกิดปัญหาให้ตามแก้ วัวหายล้อมคอก อะไรแบบนี้
กับตอนจบที่ไม่ฉึบฉับ ดูเยิ่นเย้อ ชักช้าเกินไปหน่อย
แต่ถ้าอ่านโดยละเลยข้อข้อใจพวกนี้ ก็นับว่าอ่านได้เพลินๆ
อ่านสนุกดีค่ะ 🙂

 

Comments are closed.