อ่านแล้วเล่า

วินาทีที่เป็นอิสระ

เรื่อง วินาทีที่เป็นอิสระ
ผู้แต่ง โตมร ศุขปรีชา, นิ้วกลม
สำนักพิมพ์ KOOB
ในเครือ บริษัท เลี้ยงลูกด้วยนม จำกัด
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167942162

วินาทีที่เป็นอิสระ เป็นหนังสือที่คุณโตมรกับนิ้วกลม
สลับกันเล่าเรื่องของผู้คน ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิด ศาสนา หรือปรัชญา
หนึ่งบทเล่าถึงหนึ่งคน
โดยบุคคลที่ถูกนำมาเล่าถึงในเรื่อง มีทั้งหมด 12 คน
ได้แก่ จวงจื่อ, เอ็กค์ฮาร์ท โทลเล, ติช นัท ฮันห์, เขมานันทะ, ริค แฮนสัน,
นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี, จิททุ กฤษณมูรติ, เดวิด โบห์ม, เพม่า โชดรัน,
เฮอร์มานน์ เฮสเส, โอโช, และชิโยโนะ

ซึ่งทั้งหมดนี้ เราเคยได้ยินชื่อผ่านหูอยู่ไม่กี่คนเอง
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะแบบนี้หรือเปล่า รวมกับการไม่มีสมาธิอ่านในช่วงแรก
ทำให้ในตอนเริ่มต้น เราจึงอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ช้ามาก
นอกจากนี้ ยังคอยนึกค้านบางคำบอกเล่าอยู่เป็นระยะ
เริ่มตั้งแต่คนแรก (ของนิ้วกลม) .. เอ็กค์ฮาร์ท โทลเล เลยทีเดียว

อาจเป็นเพราะเนื้อที่จำกัดในแต่ละตอน
ทำให้ทั้งโตมรและนิ้วกลม ต่างไม่สามารถเกริ่นนำ –
ถึงแนวความคิดของแต่ละคนได้อย่างละเอียด
การมาแบบไม่มีที่มา ทำให้เราไม่เข้าใจสถานการณ์ และนึกค้านไปเสียหมด

ไม่รู้ว่าในกระบวนการเขียน
นิ้วกลมเขียนแต่ละเรื่องต่อกันไปในช่วงระยะเวลาเดียวกันหรือเปล่า
แต่ถ้อยความที่นิ้วกลมบอกไว้ในบทแรก ที่เล่าถึง เอ็กค์ฮาร์ท โทลเล
เป็นเรื่องที่พูดถึงความคิด ที่เป็นอุปสรรคต่อความสงบสุข (ซึ่งเรานึกค้านในทีแรก)
มาถึงเรื่องของท่านเขมานันทะ ในช่วงท้าย นิ้วกลมได้เขียนถึงเรื่องนี้อีกครั้ง
และอีกหลายๆ ครั้ง ในบทถัดๆ ไป
เป็นในอีกมุมมอง และเราเริ่มพอจะเข้าใจสาระสำคัญ

นิ้วกลมบอกว่า ความคิด เป็นสิ่งที่ทำให้หลุดพ้นได้ยากที่สุด
(อ้างถึงหนังสือเรื่อง เดินทางไกลกับไซอิ๋ว ของท่านเขมานันทะ)
ปัญญาและความคิด เป็นกับดัก
นักคิดส่วนมากจะเต็มไปด้วยคำถาม
เพราะเชื่อว่าการหาคำตอบ จะทำให้เขาฉลาดขึ้น
สงสัย ถาม หาคำตอบ รู้คำตอบ รู้สึกดีที่ได้รู้ สงสัยอีก ถามอีก ..
กระบวนการถามตอบภายในจึงเกิดขึ้นหมุนเวียนไม่รู้จบ
เป็นการบำเรอกิเลสตัวเองไปอีกแบบ

พูดแบบนี้พอจะเข้าใจกว่าเรื่องแรกที่เล่า
แต่ถึงอย่างนั้น การจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเหมือนกัน
เพราะมันค้านความรู้สึก ไม่รู้ว่าตรงกลางของการปฏิบัตินี้ควรเป็นเช่นไร
เราควรคิด หรือไม่ควรคิด ควรสงสัย หรือไม่ควรสงสัย ควรรู้ หรือไม่ควรรู้
และเท่าไหนถึงจะพอดี เพราะอะไร อย่างไร ทำไม ฯลฯ
นั่นสินะ ชีวิตยังคงเต็มไปด้วยปัญหา
และการเวียนว่ายตายเกิดของคำถามคำตอบ

เราสังเกตว่า โดยตลอดทั้งเล่ม
นิ้วกลมน่าจะกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ..
เกี่ยวกับการจัดการความคิดของตนเอง
ในบทของจิททุ กฤษณมูรติ
คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อยชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

บางที การเขียนหนังสือเล่มนี้
อาจะไม่ได้เขียนจากสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มา
แต่อาจเป็นกระบวนการเรียนรู่ต่างหาก
ที่เกิดขึ้นระหว่างการเขียน

วินาทีที่เป็นอิสระ เป็นหนังสือเล่มบางๆ เล่าเป็นตอนสั้นๆ
ดูเหมือนจะอ่านง่าย แต่อ่านเร็วไม่ได้เลย
ตอนเริ่มอ่าน เรามองว่า ก่อนอ่านมัน เราควรมีพื้นฐานมาก่อน
ควรจะรู้จักแนวความคิด หรือเข้าใจไอเดียของคนเหล่านี้มาก่อน

การที่จู่ๆ หยิบเหตุการณ์หนึ่ง หรือคำสอนส่วนหนึ่งมาเล่าเลย
ทำให้เราไม่เห็นภาพรวม ไม่เห็นวัตถุประสงค์ และไม่อินกับสถานการณ์

แต่พออ่านมาได้ระยะเวลาหนึ่ง
การที่หยิบแต่ละคนมาเล่าเป็นเรื่องสั้นๆ แบบนี้
ก็เป็นวิธีที่ดี ที่เราจะได้ทำความรู้จักกับแนวความคิดแต่ละแบบ แบบสั้นๆ เร็วๆ
ถ้าสนใจเรื่องไหน ก็ไปศึกษาหาความรู้กันต่อได้

สำหรับบทสุดท้ายในเล่มนี้ (งานเขียนของโตมร)
เป็นตอนจบที่ให้ความรู้สึกจบ ทั้งที่เป็นความเรียง

เป็นการสรุปรวมทั้งเล่ม ได้ด้วยบทเดียว ด้วยย่อหน้าสุดท้ายย่อหน้าเดียว
ด้วยบรรทัดสุดท้าย .. เพียงบรรทัดเดียว

เรียกได้ว่า วินาทีที่เป็นอิสระ เป็นหนังสือที่ควรลองอ่านดู
แต่ไม่ควรตั้งความคาดหวัง
เป็นหนังสือไม่ได้เข้าใจได้ด้วยการอ่าน
แต่ต้องขบคิด ทดลองด้วยประสบการณ์ตรงของตนเอง
ครั้งละนิดครั้งละหน่อย ค่อยๆ ทำความเข้าใจ

เราอยากมีประสบการณ์กับมันอีกครั้ง
หยิบมันมาอ่านซ้ำอีกครั้ง ..
ในจังหวะชีวิตที่ดีกว่านี้

Comments are closed.