อ่านแล้วเล่า

ลำคู รูคลอง

ของเก่าเราลืม ชุด
เรื่อง ลำคู รูคลอง
ผู้แต่ง สรศัลย์ แพ่งสภา
สำนักพิมพ์ พี.วาทิน พลับลิเคชั่น จำกัด
เลขมาตรฐานหนังสือ 

แซ่บตั้งแต่เริ่มอ่านเลยทีเดียว
ผู้เขียนสามารถเอาคำว่า บรรลัยจักร
เข้าไปใส่ในคำนำได้อย่างหน้าตาเฉย
ภายในเล่มก็เล่าได้เสียดสี ประชดประชันถึงใจ .. 
สำนวนแสบสันต์ ดุเด็ดเผ็ดมันส์
จนหลงลืมตัวไปว่านี่เรากำลังอ่านหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์!

 

ลำคู รูคลอง เล่มนี้ไม่ได้เล่าเรื่องแม่น้ำลำคลองแต่อย่างเดียว
แต่เล่าประวัติศาสตร์ผ่านประสบการณ์ของผู้เขียน (พ.ศ. 2463 – 2552)
ชื่อ ลำคู รูคลอง เป็นเพียงบทหนึ่งในเรื่องราวทั้งหมด
(ภายในเล่มใช้ชื่อว่า ลำคู ลำคลอง)

ผู้เขียนเปิดด้วยบทแรกที่กระตุกอารมณ์ให้ฮึกเหิม คึกคัก ตั้งแต่แรกอ่าน
เล่าเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังของการเดินขบวน
เรียกร้องดินแดนแถบฝั่งตะวันออกคืนจากประเทศฝรั่งเศส 
ในยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เล่าผ่านประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งเป็นนิสิต คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ อยู่ในเวลานั้น

นอกจากนั้น ผู้เขียนยังเล่าเรื่องยุวชนทหาร
เรื่องลูกเสือ พ่วงเรื่องงานฉลองรัฐธรรมนูญ และการประกวดนางงาม
เล่าเรื่องรถม้า ควบเรื่องการตัดถนนยุคแรกๆ
เล่าเรื่องถนนเจริญกรุง เฟื่องนคร ฯลฯ
เล่าถึงช้างที่ชื่อว่าพลายมงคล
ซึ่งเราว่าน่าจะเป็นช้างเดียวกันกับ ช้างพลายมงคลผู้อาภัพ ที่เคยอ่านตอนเด็กๆ
เล่าเรื่องน้ำประปา เรื่องถนน เรื่องคลอง เรื่องเรือโดยสารสมัยนั้น
เล่าเรื่องเครื่องบิน และการถือกำเนิดกองทัพอากาศไทย
เล่าเรื่องมหกรรมการคล้องช้างที่รัฐบาลจัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 8 ฯลฯ
ในมุมที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนเองป็นส่วนมาก
ที่อ่านจากหนังสือประวัติศาสตร์เล่มอื่นแล้วเอามาเล่าต่อก็มีบ้าง
แต่เล่าด้วยสำนวนเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ของผู้เขียนเอง
ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ซ้ำกับหนังสือเล่มไหนๆ

ตอนที่เราอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ยุคสงครามก็ปลุกใจฮึกเหิมให้รักชาติกันไป
แต่พอมาอ่านประวัติศาสตร์เล่าเรื่องเมืองเก่าของเราแต่ก่อนแบบนี้
มันชวนให้ปลงว่าไม่มีสิ่งใดจีรัง
สิ่งของใดเคยมีค่าเหลือคณา พอวันหนึ่งก็กลายเป็นของธรรมดามีกันทุกคน
หรือกับบางสิ่งที่เคยธรรมดามองหาเห็นได้ตามบ้าน
พอมาอีกยุคกลายเป็นของหายาก มีค่ามีราคาไปเสียอย่างนั่น
สถานที่ใดเคยหรูหราโอ่โถง คนดังคนทันสมัยแห่งยุคต้องไปให้ได้
ถึงวันหนึ่งก็กลับซบเซากลายเป็นตรอกลับๆ เล็กๆ เอ่ยชื่อไปก็ไม่มีใครรู้จัก
วนเวียนเป็นวัฏจักรซ้ำแล้วซ้ำเล่า ..
อ่านบ่อยครั้งเข้าก็ชักจะปลงได้เสียแล้ว

 

Comments are closed.