อ่านแล้วเล่า

ร้านเครื่องเขียนนั้นใต้ต้นสึบากิ

เรื่อง  ร้านเครื่องเขียนนั้นใต้ต้นสึบากิ
ผู้แต่ง โอกาวะ อิโตะ
ผู้แปล ฉัตรขวัญ อดิศัย
สำนักพิมพ์ น้ำพุ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786162875007

ร้านเครื่องเขียนนั้นใต้ต้นสึบากิ เรื่องนี้
เล่าผ่านมุมมองของตัวละครคนเดียวเลย
คือ อาเมมิยะ ฮาโตโกะ
เธอมีฉายาที่ถูกตั้งมาตั้งแต่เด็กว่าป๊บโปะจัง
เพื่อนบ้านที่สนิทกัน หรือคนที่รู้จักเธอมาตั้งแต่เด็กๆ
พากันเรียกเธอว่าป๊บโปะจัง

หนังสือเปิดเรื่องขึ้นในตอนที่ป๊บโปะจังเพิ่งจะกลับมาที่บ้านเกิด
หลังจากที่ญาติคนที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กเสียชีวิตไป
เธอยอมกลับมาดูแลร้านเครื่องเขียนร้านเก่าแก่ที่เธอเติบโตมา
เพราะไม่อยากขายที่ดินผืนนี้
และไม่ต้องการให้ต้นสึบากิต้นใหญ่ที่หน้าร้านต้องถูกตัด

แม้จะมีคำว่าร้านเครื่องเขียนอยู่ในชื่อเรื่อง
แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเครื่องเขียนสักเท่าไร
มันเป็นเรื่องที่ว่าด้วยรายละเอียดของการเขียนจดหมาย
ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นโบราณ
ที่มีข้อกำหนดมากมายราวกับเป็นพิธีกรรม
อันที่จริง เครื่องเขียนเป็นองค์ประกอบเล็กๆ องค์ประกอบหนึ่งในเรื่อง
แม้จะมีความสำคัญ
แต่การตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ก็ชวนให้เข้าใจผิดอยู่สักหน่อย

เพราะนอกจากร้านเครื่องเขียนใต้ต้นสึกบากิแห่งนี้
จะเป็นเพียงร้านเครื่องเขียนเล็กๆ
ที่มีเครื่องเขียนขายอยู่ไม่มากนักแล้ว
อาชีพสำคัญที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ
ก็คืออาชีพรับเขียนจดหมาย ..

ป๊บโปะจังถูกเลี้ยงมาอย่างเข้มงวด
ถูกบังคับให้ต้องท่องจำตัวอักษรของญี่ปุ่น
ทั้งฮิรางานะ คาตากานะ คันจิ
หนังสือภาพที่ได้นั่งดูตอนเด็กๆ แทนหนังสือนิทาน
ก็คือหนังสือภาพตัวอักษรโบราณ
พอโตขึ้นมาหน่อยก็ต้องหัดคัดลายมือทุกวัน
ยิ่งโตขึ้น จำนวนชั่วโมงที่ต้องคัดก็ยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย
จึงไม่แปลกที่พอถึงวัยหนึ่ง เธอจึงเริ่มต่อต้านครอบครัว
ต่อต้านอาชีพของครอบครัว

ญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นญี่ปุ่น และโดยเฉพาะเล่มนี้ ..
มีความเป็นญี่ปุ่นมากกว่าเล่มอื่นๆ ที่หยิบมาอ่านในช่วงนี้
ตัวละครของเรื่อง ดำเนินชีวิตผันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวที่ทำอาชีพเก่าแก่โบราณของญี่ปุ่น
ทำให้ ฮาโตโกะถูกหล่อหลอมมาด้วยขนบธรรมเนียมโบราณเข้มข้น

ช่วงแรกๆ เรารู้สึกเบื่ออยู่หน่อยๆ
เพราะผู้เขียนลงรายละเอียดของอาชีพของตัวละครหลักเยอะมาก
มันเนิบนาบ เรียบเฉื่อย และน่าเบื่อ
แต่พออ่านไปเรื่อยๆ เราจะค้นพบว่า
ภายใต้ความน่าเบื่อในตอนแรกนั้น
ผู้เขียนซ่อนพล็อตบางอย่างเอาไว้
และค่อยๆ ทยอยปล่อยข้อมูลออกมา
ทีละนิด ทีละนิด เหมือนเหยื่อล่อให้เราตามอ่านไม่วาง

วิธีเล่าเรื่องเป็นแบบที่เราชอบ
คือระหว่างที่ผู้เขียนเล่าชีวิตในแต่ละวันของฮาโตโกะ
เล่าถึงลูกค้าที่สลับหมุนเวียนเข้ามาในร้าน
พร้อมทั้งการว่าจ้างประหลาดๆ สนุกๆ และน่าสนใจ
ระหว่างนั้น ตัวละครก็ได้ทบทวนความหลังครั้งยังเยาว์
ที่เคยถูกฝึกฝน เคี่ยวกรำอย่างหนัก
เพื่อสืบทอดอาชีพรับเขียนจดหมาย
อันเป็นอาชีพสำคัญที่ส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุขัย
นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ฮาโตโกะก็เป็นถึงรุ่นที่สิบเอ็ดแล้ว

อาชีพที่ไม่คิดว่าจะมีใจรัก
แต่เป็นอาชีพที่ฝังลึกอยู่ในกิจวัตรประจำวันตลอดความทรงจำวัยเด็ก
สร้างแผลใจบางอย่างต่อฮาโตโกะ
และมันค่อยๆ ถูกถ่ายทอดออกมาสู่ผู้อ่าน
ผ่านความทรงจำที่ผุดพรายในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนี้ เรายังชอบการอธิบายการทำงานของฮาโตโกะ
ซึ่งเป็นอาชีพที่คนไทยอย่างเรานึกภาพไม่ออกแน่ๆ
ผู้เขียนบรรยายขั้นตอนต่างๆ ที่ฮาโตโกะต้องทำอย่างละเอียด เห็นภาพ

เธอเริ่มต้นจากการพูดคุยกับผู้ว่าจ้างให้เข้าใจตรงกันอย่างถ่องแท้
ว่าจดหมายที่ได้รับการจ้างวานให้เขียนนั้นเป็นจดหมายอะไร
ผู้จ้างวานมีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับผู้รับจดหมายอย่างไร
เนื้อความต้องการลงรายละเอียด หรือสื่ออารมณ์ไปในทางไหน ระดับไหน
รายละเอียดที่จะต้องกลายมาเป็นถ้อยคำในจดหมาย
จะต้องผ่านการเรียบเรียงและทบทวนจากฮาโตโกะ
ผ่านการคัดเลือกกระดาษ สีของหมึก รวมถึงความหนักเบาของตัวอักษร
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีแบบแผน และมีผลต่ออารมณ์ผู้รับจดหมายทั้งสิ้น
เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และต้องผ่านการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง

เวลาที่ผู้เขียนบรรยายถึงผิวสัมผัสของกระดาษ
กลิ่นหมึก รอยบุ๋มหรือรอยนูนของตัวอักษร
ที่ถูกเขียน หรือถูกพิมพ์ลงบนกระดาษ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ให้ความรู้สึกฟินมากเลย
อยากจะจรดจมูกลงไปดมกลิ่นกระดาษในจินตนาการเหล่านั้น
กลิ่นกระดาษจากหนังสือในความทรงจำวัยเด็กของเราเอง
หอมกรุ่นอยู่ในความคำนึง 🙂

ฉากของหนังสือเรื่องนี้คือ เมืองคามาคุระ
นอกจากเรื่องราวสนุกๆ ที่เล่าไว้ในหนังสือ
ผู้เขียนยังแอบใส่สถานที่ต่างๆ
ทั้งศาลเจ้า กับวัดญี่ปุ่น ที่มีอยู่มากมายในคามาคุระ
ใส่ร้านอาหารอร่อยๆ บาร์ หรือคาเฟ่ เข้ามาในเนื้อเรื่องด้วย
แอบคิดว่าสถานที่ต่างๆ ที่เล่ามานี้ น่าจะมีอยู่จริง
และมันถูกผู้เขียนอ่อยเหยื่อยเอาไว้อย่างน่าตามรอยมาก

อ่านไปอ่านมาเราก็พบว่า
ความเรียบเรื่อยน่าเบื่อในตอนแรกที่เรารู้สึกนั้น
ซ่อนมิตรภาพระหว่างเพื่อนบ้าน
ซ่อนความอบอุ่นและใจดีของผู้คนที่เคยรู้จักกันมาแต่ก่อนเก่า
การกลับมาเยือนบ้านเกิด และต้องทำอาชีพที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำ
แบบตกกระไดพลอยโจน
ก็นำพาเรื่องราวดีๆ ให้เกิดขึ้นกับฮาโตโกะ

แม้พล็อตเรื่องจะมีกลิ่นอายดราม่าอยู่จางๆ
แต่เรากลับอ่านไปได้อย่างเพลิดเพลิน
แถมตอนใกล้จบยังพกรอยยิ้มกรุ้มกริ่มระหว่างอ่าน
ก่อนจะจบลงความซาบซึ้ง
ที่เป็นส่วนเติมเต็มให้เล่มนี้จบลงอย่างสวยงาม
เป็นหนังสือที่น่ารักจริงๆ เลย

ในตอนสุดท้าย
แม้ว่าปมหลายๆ อย่างในเรื่องดูจะยังไม่คลี่คลายหมดจดนัก
แต่ก็รู้สึกดีที่มีอะไรเอาไว้ให้ลุ้นต่อในเล่มต่อไป
ใช่แล้วล่ะค่ะ เรื่องนี้มีภาคต่อ (อีกแล้ว!!)
ที่ญี่ปุ่นมีเล่มที่ 2 แล้ว
และเราก็ได้แต่ลุ้นว่าสำนักพิมพ์จะหยิบมาแปลเมื่อไร
และปกจะเชื่อมต่อสวยงามแค่ไหน >,<
พบกันใหม่รีวิวหน้าค่ะ
ระหว่างนี้ขอให้มีหนังสือสนุกๆ อ่านอยู่เสมอนะคะ

ปล. ถ้าให้นึกถึงหนังสือสักเล่มที่คล้ายๆ แบบนี้
เรานึกถึงบิเบลียนะคะ
ทั้งๆ ที่เล่มนี้ไม่ใช่แนวสืบสวน
แต่อารมณ์อะไรบางอย่าง ทำให้รู้สึกคล้ายๆ กันเวลาอ่าน

Comments are closed.