อ่านแล้วเล่า

ราชินีชีบา

98-1 ราชินีชีบา

เรื่อง ราชินีชีบา
ผู้แต่ง ลักษณวดี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา 440 บาท (2 เล่มจบ)

จากธุวตารา เรื่องราวในตอนท้ายยังคลุมเครือ ค้างคา
ฟาโรห์ 2 พระองค์ .. เมมโนฟิสและฮัตเชปซัสจักครองมงกุฎร่วมกันธีบิสบน ธีบิสล่าง (อาณาจักรเมมโนฟิส)
แล้วจะอยู่ที่ไหน อยู่ด้วยกันได้อย่างไร?
แล้วยังมีคำมั่นสัญญาที่ฟาโรห์เมมโนฟิสให้ไว้กับทาสผิวดำชาวนูเบียน .. มาร์เมอร์
ซึ่งแท้จริงเป็นถึงกษัตริย์นูเบีย แต่ถูกพระอนุชาวางยา จับมาขายเป็นทาสอีกเล่า ..

ราชินีชีบา คือเรื่องราวต่อจากนั้น ..

98-2 ราชินีชีบา

ณ อาณาจักรเออร์ชีบา ..
เจ้าหญิงบิลคิส หรือนิคัวเร่จากอียิปต์ (เป็นพระขนิษฐาต่างพระมารดากับฮัต)
ถูกส่งมาอยู่ ณ ที่นี้ .. เพื่อความมั่นคงของบัลลังก์แห่งฮัตเชปซัต
เจ้าหญิงน้อยนิคัวเร่เสด็จมาเออร์ชีบาในฐานะเทพีแอชตาร์ .. เทพีดาวศุกร์
เทพีผู้ทรงสิริโฉม ล้ำเลิศด้วยปัญญาญาณ ตามคำทำนายของชาวชีบัน

และเมื่อบัลลังก์แห่งเออร์ชีบาว่างลง เทพีแอชตาร์ ธิดาแห่งเซม-รา
จึงขึ้นดำรงเหนืออาณาจักรและศาสนจักร .. ด้วยนามราชินีบิลคิสในบัดนั้น!

ความสัมพันธ์ระหว่างฮัตและนิคัวเร่น้อยเป็นไปอย่างสนิทใจ
ทั้งสองต่างเฉลียวฉลาดเท่าทัน ฮัตเป็นฝ่ายรบ ขณะที่นิคัวเร่เป็นฝ่ายสนับสนุน
สองแผ่นดินอันเป็นพันธมิตรจึงติดต่อกันเสมอ

เมื่อธีบิสทั้งบนและล่างจะ ‘ช่วย’ มาร์เมอร์ทวงอาณาจักรนูเบียคืนจากพระอนุชา
อาณาจักรเออร์ชีบาคือกำลังสนับสนุนที่ดี
ด้วยผืนแผ่นดินแห่งนูเบียและเออร์ชีบานั้น ห่างกันเพียงแม่น้ำสายเดียว .. แม่น้ำแดง
สองฟาโรห์แห่งธีบิสจึ่งได้เดินทาง .. ทั้งทางบกและทางเรือมาสานสัมพันธไมตรีที่เออร์ชีบา
แม้ฮัตและเมมโนฟิสจะเป็นเพียงสองฟาโรห์ มิใช่ฟาโรห์และราชินี
แม้ทั้งสองจะอยู่ต่างเมือง แต่ทั้งคู่ก็หาเหตุตระเวนรบไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้อยู่ด้วยกัน
จากนูเบีย แล้วจะเลยไปยังเอริเทรีย ..
ฮัตและเมมโนฟิสยังมีแผนรบต่อๆ ไปอีกหลายเมืองเชียวแหละ

ที่อียิปต์ ‘เคย’ มีเจ้าวิเซียร์เป็นหนอนอ้วนตัวร้าย ชอนไชราชบัลลังก์
ที่เออร์ชีบาเองก็มีเจ้าวิซิเออร์ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน .. นั่นคือปัญหาภายในของราชินีชีบา
ในศึกทวงนูเบียคืนแก่มาร์เมอร์ ทัพเออร์ชีบาเข้าตีเมืองคูช ..
ศึกนั้น เจ้าวิซิเออร์จึงกลับมาเพียงร่าง .. รบอย่างสมศักดิ์ศรี ..
ยังดี ที่ยังให้ศักดิ์ศรีมัน!!

แต่เมื่อสิ้นวิซิเออร์ เออร์ชีบาจำต้องมีวิซิเออร์คนใหม่ .. ใครที่เหมาะสม?
อัสนา .. หลานชายในนาม หรือบุตรแห่งทอรัส หัวหน้านักบวช ..
เทพีอีลัมคัวห์ เทพีประจำองค์ราชินีชีบา .. ทรงเลือกแล้ว

ในครั้งที่ทุตโมสที่ 2 ถูกวางตำแหน่งฟาโรห์องค์ต่อไป
นอกจากนิวคัวเร่น้อย พระธิดาแห่งเซนปาเตน ในทุตโมซิสที่ 1 ถูกส่งมายังเออร์ชีบาแล้ว
อามิเนส พระธิดาแห่งเนฟธิส ในทุตโมซิสที่ 1
ก็ถูกส่งไปอภิเษกยังอาณาจักรพันต์แห่งพระเจ้าโซโลมอนด้วย
เพื่อความปลอดภัยแห่งราชบัลลังก์ของทุตโมซิสที่ 2 และฮัตเชปซัส (โอรสและธิดาแห่งราชินีอาเมส)

หลังศึกที่นูเบีย นิวคัวเร่ .. ราชินีชีบา
ก็เริ่มวางแผน .. เดินทางไปยังอาณาจักรพันต์เช่นกัน
เหตุการณ์พอเหมาะ เมื่อเธอเริ่มคิด .. ฮัตก็ส่งข่าว
เจ้าหญิงอามิเนสจากอียิปต์ที่ถูกส่งไปเป็นราชินีแห่งเจรูซาเล็ม อาณาจักรพันต์ กำลังเจ็บหนัก
นิคัวเร่ควรเสด็จไปเยี่ยม!

เหนือธีบิสล่างขึ้นไปค่อนข้างไกล .. ณ อาณาจักรจูดาห์ ณ ดินแดนนามเจรูซาเล็ม ..
วันที่กษัตริย์โซโลมอนขึ้นครองราชย์ เป็นวันแห่งการช่วงชิงไหวพริบ
ขณะที่พระบิดา กษัตริย์ดาวิดใกล้จะสิ้นพระชนม์
การชิงอำนาจกันระหว่าง เจ้าชายอโดนียาห์ พระโอรสนางฮักกีท อัครมเหสี
กับเจ้าชายโซโลมอน พระโอรสพระนางบัทเชบา พระชายาที่ทรงเสน่หา
เจ้าชายอโดนียาห์นั้น มีกำลังหนุนทั้งจากฝ่ายทหาร .. โกฮาบ  ผู้บัญชาการกองทัพ
และฝ่ายศาสนจักร .. อาบียาธาร์ นักบวชผู้พยากรณ์
หากพระนางบัทเชบา ก็ผลักดันเจ้าชายโซโลมอนขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดาจนได้
ในวันนั้นเอง กษัตริย์โซโลมอนได้รับคำทำนายจากอบียาธาร์เป็นครั้งสุดท้าย
“พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ หากไร้ความสุข
หัวใจท่านจะถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ท่านพรากบุตรคนอื่น .. บุตรท่านจะถูกพรากเช่นกัน!”

มีแนวโน้มว่าเรื่องนี้จะจบไม่สวยเหมือนธุวตาราเสียแล้วสิ!!

(ลักษณวดี ขนาดเขียนถึงโซโลมอน กษัตริย์แห่งกษัตริย์ผู้โด่งดัง
ยังมิวายยกสตรีเหนือกว่า ใช้สตรีเล่าเรื่อง .. เฟมินิสต์ฝุดๆ)

และนั่นแหละ เมื่อราชินีชีบา ‘จำต้อง’ เดินทางไปยังเจรูซาเล็ม
ระหว่างทาง เจ้าโฮปิ เหยี่ยวทะเลทราย .. เหยี่ยวเลี้ยงของฮัตที่ให้นิคัวห์เร่น้อยตั้งแต่ครั้งมาเออร์ชีบา
โฮปิเป็นทั้งผู้นำสาส์น และเป็นทั้งเพื่อน
ในการเดินทางครั้งนี้ เจ้าโฮปิก็เป็นทูตสัมพันธ์ไมตรี ตีสนิทกับกษัตริย์โซโลมอนเอาไว้ก่อน
จากนั้น สาส์นระหว่างสองพระองค์ก็ถูกส่งไปมา
สาส์นแซวพระราชินีร่างยักษ์ผู้เลี้ยงเหยี่ยวทะเลทราย ทรงม้าแคระ
และราชินีชีบาทรงตอบกลับด้วยภาพกษัตริย์ไม้ขีดไฟทรงช้าง

การเดินทางใกล้ขึ้น แต่สัมพันธภาพท่าจะแย่ลง
การพบกันครั้งแรกจึงค่อนข้างน่าลุ้น

เมื่อเสด็จมาถึง ราชินีชีบาถูกทดสอบ ..
ด้วยความซนของกษัตริย์โซโลมอน (ไม่ต่างจากฮัตกับเมมฟิสเลย)
แต่เธอก็ได้แสดงความเฉลียวฉลาดแห่งเธอ
ทั้งสองพระองค์เริ่มวัดความฉลาดกัน

แม้เริ่มต้นไม่ค่อยดีเท่าไร .. แต่ .. ความรักก็เกิด .. และความทุกข์ก็ตามมา
อณูแห่งมหาเทพี จะเป็นราชินีในอาณาจักรพระเจ้าได้อย่างไร

98-5 ราชินีชีบา

ท่ามกลางความสุข .. ลมปากของมนุษย์เริ่มพัดพา
ราชินีชีบาในสายตาคนเจรูซาเล็ม เธอถูกมองเป็นแม่มด
เธอลึกลับ ทรงอำนาจ และมีกฤตยามนตร์
ร่ำลือกันว่ากษัตริย์โซโลมอนทรงหลงใหลเธอ
ลมที่ร้ายกว่าพายุทะเลทรายคือลมปาก
ความเชื่อทรงพลัง ความเชื่อสร้าง และความเชื่อทำลายได้ทุกอย่าง

98-3 ราชินีชีบา

ถึงกระนั้น ราชินีชีบาก็ยังคงตัดสินใจไม่เดินทางกลับ
‘ที่’ ของเธอถูกเตรียมไว้ ณ ป้อมมิลโล ห่างไกลจากตัวเมือง
วิหารน้อยถูกสร้างไปพร้อมๆ กับนิเวศน์สถานแห่งพระเจ้า
อันสร้างโดยกษัตริย์ฮีราม จากอาณาจักรไทร์

98-4 ราชินีชีบา

เธอขัดโองการแห่งเทพีอีลัมคัวห์
เมื่อเธอละหน้าที่ มหาเทวีจะทรงละหน้าที่ต่อเธอเช่นกัน
เธอจึงโดดเดี่ยว หมดสิ้นสรรพวิชา เป็นเช่นสามัญชนทั่วไป

“เมื่อเจ้าจะดำรงชีวิตเฉกมนุษย์ เจ้าต้องรับทุกข์เยี่ยงมนุษย์”

และในที่สุด นิคัวเร่น้อยก็ทรงครรภ์ .. พระโอรส ..
ในนามเจ้าชายเมเนลิค ฤามหาเทพชามาช ..
โอรสแห่งโซโลมอนคือจุดอุบัติแห่งปัญหา
โซโลมอนมิทรงใช้ ‘สมอง’ วินิจฉัยเช่นเคย พระองค์ทรงใช้ ‘หัวใจ’ มองสรรพสิ่ง
หากโอรสเป็นรัชทายาท จะถูกประกาศเป็นบุตรแห่งพระเจ้า เติบโตในฐานะบุตรแห่งพระเจ้า
แม่มดนอกรีตให้กำเนิดลูกปีศาจ
ลูกนอกรีตของนางจะครองเจรูซาเล็ม!

ลักษณวดีมิอาจจบเรื่องนี้แบบอื่นใดนอกเหนือประวัติศาสตร์ได้
หากแต่วิถีทางที่มาที่ไปที่นำพามาจนเกิดเรื่องราวอ่านสนุกอย่างนี้ต่างหาก .. ที่น่าทึ่ง
ถ้าไม่อยากอ่านนิยาย แต่อยากรู้ว่าจบอย่างไร คงหาคำตอบได้บ้างจากประวัติศาสตร์
แต่จะไ่ม่ดีกว่าหรือคะ ถ้าจะเสริมเติมแต่งด้วยจินตนาการอีกนิดหน่อย ..
ประวัติศาสตร์สนุกขึ้นเยอะเลย ^^

Comments are closed.