อ่านแล้วเล่า

พูดกับบ้าน

เรื่อง พูดกับบ้าน
งานเขียนเกี่ยวกับผู้ชายกับบ้านของเขา
และบรรณาธิการอยากอ่าน
ผู้แต่ง รงค์ วงษ์สวรรค์
สำนักพิมพ์ ฟรีฟอร์ม
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167147277

พูดกับบ้าน ถูกเขียนเป็นบทความลงในนิตยสารฟ้าเมืองไทย
ซึ่งมีคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ
เริ่มพิมพ์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2525 ถึงเดือนสิงหาคม 2526

เราโตไม่ทันช่วงที่ผู้เขียนกำลังพีคอยู่ในวงการน้ำหมึก
ทำให้ไม่ได้อยู่ร่วมในบรรยากาศ
ของคนที่คุยกันเกี่ยวกับหนังสือของเขา
พอมาอ่านในวันนี้ เราจึงไม่เคยเข้าใจว่าคนที่ชอบผู้เขียน
เขาชอบอะไรในผลงานของเขา

สำหรับเรา งานของรงค์ วงษ์สวรรค์เล่าเรื่องตามใจตัวเอง
ไว้ตัวนิดๆ ยกตนเหนือกว่าบางคน และตัดสินรสนิยมของพวกเขา

บางทีเราอาจจะตีความไปเอง
แต่สาส์นที่เรารับมันมีแนวทางไปอย่างนั้น
คุณรงค์มีตัวสะกดฉีกขนบ สะกดตามที่ตัวเองเห็นควร
สำนวนภาษาเป็นกันเอง เสียดสีนิดๆ บ่นๆ หน่อย
แต่ก็มีสำนวนที่น่าสนใจผุดพรายออกมาระหว่างอ่าน

พูดกับบ้าน เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของบ้าน
ทั้งบ้านหลังแรกที่ผู้เขียนเก็บหอมมาอย่างกระเบียดกระเษียร
ทั้งบ้านของผู้คนที่เขามีโอกาสได้ไปเห็น
เล่าถึงช่างรับเหมา ถึงเพื่อนสถาปนิก ฯลฯ

ผู้เขียนเล่าถึงการสร้างบ้าน
ผนวกไปกับการเล่าถึงชีวิตของตนเองในช่วงนั้น
จนบางบทตอนเหลือเพียงชีวิต ไม่มีบ้าน
เลยเถิดไปถึงร้านเหล้า หรือร้านกับแกล้มของวงเหล้า
สดุดีเพื่อนพ้องพี่น้องในวงการหนังสือ และหนังสือพิมพ์
เบื้องหลังของนวนิยายบางเรื่องถูกเล่าผ่านช่วงชีวิตเหล่านั้น
(บางลำภูสแควร์, แมงบาร์, สนิมสร้อย, สนิมกรุงเทพฯ, คืนรัก, แดง รวี ฯลฯ )

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเล่าถึงนักเขียนผู้เป็นตำนานหลายท่าน
บันทึกเอาไว้มากกว่าที่เราเคยอ่านจากที่ไหน
นับถือเป็นคัมภีร์ได้เลย

หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูกเขียนเรียงตามไทม์ไลน์
บางครั้งผู้เขียนอยู่ในบ้าน ซึ่งเราสงสัยว่าบ้านหลังไหนกันแน่
ใช่หลังที่ตอนต้นเล่าว่ากำลังสร้างอยู่หรือเปล่า?
แล้วบ้านอีกหลายต่อหลายหลังก็ถูกเล่าถึง
ข้ามไปข้ามมา นัวๆ ดีเหมือนกัน

โดยรวมๆ หนังสือเล่มนี้มันเล่าถึงบ้านน้อยมาก
เล่าถึงแค่เพียงส่วนเริ่มต้น
นอกเหนือจากนั้นคือชีวิตอันแสนวุ่นวายและยุ่งเหยิง
กับเพื่อน กับผู้คน กับผู้หญิง กับอดีต
กับเหล้ายา กับงาน กับการเงิน ฯลฯ
ทั้งหมดนั้นมันอยู่ในเล่มนี้มากกว่า “บ้าน”
ผู้เขียนกลับมาที่ “บ้าน” อีกครั้งในช่วงท้ายเล่ม
ราวๆ 4 – 5 บทสุดท้าย เพื่อจบมัน
การออกนอกเรื่องเป็นเอกลักษณ์ของงานชิ้นนี้

Comments are closed.