อ่านแล้วเล่า

พิเธีย

140-1 พิเธีย

เรื่อง พิเธีย
ผู้แต่ง ทมยันตี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา 280 บาท

อ่านจบแล้วร้อง .. อืม ..
พิเธีย เป็นหนังสือที่เริ่มต้นอ่านค่อนข้างยาก
แต่เมื่อเริ่มอ่านไปแล้วก็ไม่ยากแล้ว
แต่พออ่านจบ แล้วต้องเอามาเล่าต่อนี่สิ .. เริ่มยากอีกแล้ว ..

โดยความหมาย พิเธีย คือนักบวชหญิงของซีกโลกตะวันตก
พิเธีย
 ในเล่มนี้เล่าถึงผู้จดบันทึกคำสอนแห่งเทวะ
ซึ่งน่าจะหมายถึงตัวผู้เขียนเอง ที่บันทึกจากประสบการณ์ตรงของตนเอง
โดยผู้เขียนวางตนเป็นผู้เรียน และมีเทวะเป็นผู้สอน
(ฟังดูเหลือเชื่อเนอะ แต่ลองเปิดใจอ่านดู)

หมดจากคำนำ เริ่มต้นบทแรก ผู้เขียนก็ไม่เกริ่นนำใดๆ เริ่มบันทึกตั้งแต่บัดนั้น
อ่านทีแรก เพียง 2 – 3 หน้าแรก ถึงกับงงและถอดใจ จับต้นชนปลายไม่ถูก
เลยบ่นให้ลูกสาวฟัง เจ้าลูกสาวจึงอาสาอ่านให้ฟัง โดยเริ่มต้นตั้งแต่บทแรกใหม่อีกครั้ง
การฟังแทนการกวาดสายตาไล่ตามบรรทัด ทำให้สมาธิดีขึ้น และเริ่มจับใจความได้
และลูกสาวเอง ก็ได้อ่านไปด้วย ซึ่งลูกสาวกลับบอกว่าสนุกดี!!
ซึ่งก็สนุกจริงๆ แต่ออกจะแปลกๆ อยู่บ้าง
บางเรื่องเคยฟังผู้เขียนสอดแทรกเอาไว้ในนิยายเรื่องอื่นๆ
แต่สำหรับเรื่องนี้เป็นเนื้อหาเพียวๆ

บันทึกนี้กล่าวโดยรวมทั้งเรื่องกำเนิดมนุษย์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ของเทวะ มนุษย์ โลก จักรวาล นรก สวรรค์ สรรพสิ่งแวดล้อมทั้งปวง ฯลฯ
กล่าวถึงประวัติที่มาของความเชื่อ ศาสนา ที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งเริ่มมีมนุษย์
และวิวัฒนาการของมนุษย์
ศาสตร์ที่เล่าปนเปกันไปทั้งทางวิทยาศาสตร์ ตำนาน บันทึกทางโบราณคดี และศาสนา
แรกๆ ภาษาที่ใช้ยากมาก มีคำบาลีสันสกฤต และภาษาเทวะ (ตามที่ผู้เขียนกล่าว)
แต่แล้วก็กลับง่ายลง และมีการอธิบายซ้ำๆ เป็นสไตล์เฉพาะตัวของผู้เขียน

มีหลักของศาสนาพุทธ ซึ่งเชื่อมโยงย้อนหลังไปถึงคัมภีร์พระเวท และย้อนไปไกลกว่านั้น
ผนวกกับความเชื่อโบราณของอียิปต์ กรีก ย้อนไปถึงการบูชาดินน้ำลมไฟของมนุษย์รุ่นแรกๆ
ความเชื่อของขอมในยุคถัดๆ มา ฯลฯ

อ่านแล้วก็คอยแต่จะมีคำว่า ‘จริงหรือ?’ .. ‘จริงหรือ?’ ผุดขึ้นเต็มไปหมด
แต่ถ้าตั้งสมาธิอ่านโดยตัดความรู้สึกนั้นออกไป ไม่สนใจว่าจริงไม่จริง
และก็เริ่มชินกับภาษาสำนวนแล้วด้วย ..
ก็นับว่าเป็นเรื่องที่สนุกดีอย่างที่ลูกสาวบอกเหมือนกัน

พิเธีย เป็นเล่มต่อของจิตตเทวะ และทิพยอาภา
ซึ่งหลายครั้งผู้เขียนจะอ้างถึงว่าได้เคยเล่าไปแล้วในเล่มนั้นๆ
แต่เราไม่ได้อ่านไง ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งงๆ ไปบ้าง
แต่ถ้าถามว่าจะไปหาจิตตเทวะกับทิพยอาภามาอ่านต่อมั๊ย ..
อันนี้ต้องขอคิดดูก่อน .. สักหลายๆ ปี (ฮา)

เนื่องจากยังไม่ได้อ่าน เลยบอกไม่ได้ว่าจิตตเทวะกับทิพยอาภาเล่าอะไรเอาไว้บ้าง
สำหรับเนื้อหาเฉพาะในพิเธียเล่มนี้
เราว่าเนื้อหายังไม่ลงลึกในแต่ละเรื่องราว
แตะตรงโน้นนิด ไปพ่วงตรงนี้หน่อย แล้วก็เปลี่ยนเรื่องไปอีก
ไปเน้นพูดถึงสภาวะจิตเสียมาก แต่ก็พูดซ้ำอยู่ที่เดิม ไม่ลงลึกลงไปกว่านั้น
พูดถึงภาวะของแท้ของเทียม แต่ก็ไม่ลงรายละเอียดอีก ฯลฯ
หรือจะมองอีกแง่ว่า ผู้เขียนพยายามไปอย่างช้าๆ (แต่เรามองว่าน้ำเยอะ ไปไม่ถึงไหน)
มาเข้าเรื่องเอาจริงๆ เข้มข้นเน้นหนักขึ้นอีกหน่อย ตรงราวๆ 5 บทสุดท้าย

หลายช่วงที่ผู้เขียนนำวิทยาศาสตร์มาอธิบายเทวศาสตร์
ซึ่งอ่านแล้วก็เข้าใจว่าผู้เขียนอธิบายว่าอย่างไร แต่ไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร
และบางที ก็ไม่เข้าใจว่าจะต้องรู้ไปทำไม เกี่ยวข้องกับการหลุดพ้น .. นิพพานหรือ?
โดยสรุป หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปถึงขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น
แต่เป็นการเล่าเทวศาสตร์ เพื่อเป็นรากฐานแห่งการหลุดพ้น ..
แต่เราก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า .. จำเป็นต้องรู้จริงๆ หรือ?

แต่ถ้าไม่ได้มุ่งหมายจะนิพพานจากการอ่านเล่มนี้
ความรู้ดีๆ สนุกๆ ก็มีแทรกอยู่ในเล่ม
โดยเฉพาะช่วงท้ายเล่ม ยิ่งเข้มข้นและเริ่มสนุกขึ้นค่ะ

Comments are closed.