อ่านแล้วเล่า

พวงเพชร

67 พวงเพชร

เรื่อง พวงเพชร
ผู้แต่ง โอ เฮ็นรี
ผู้แปล อาษา ขอจิตต์เมตต์
สำนักพิมพ์ บำรุงสาส์น
ราคา (ปก) 35 บาท
(แต่ซื้อมาในราคาหนังสือมือสอง 250 บาทถ้วน ^^)
(พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อปีพ.ศ. 2511)

รีวิวเล่มนี้มีสปอยล์นะคะ!

หยิบเล่มนี้มาอ่านลัดคิวก่อนเล่มอื่นใดเลยค่ะ .. รวมเรื่องสั้นของ “โอ เฮ็นรี” ชุดพวงเพชร
เหตุเพราะเพิ่งสั่งซื้อออนไลน์จากเฟสบุ๊คหนังสือมือสอง (ศศิบุ๊คค่ะ)
พอหนังสือมาส่ง ก็ดี๊ด๊ารับลัดทุกคิว หยิบเล่มนี้มาอ่านก่อนเลย ^^

รวมเรื่องสั้นของโอ เฮ็นรี่ เป็นอีกหนึ่งในความทรงจำวัยเด็กของเราค่ะ
เราเคยมีหนังสือเล่มนี้ (ปกอ่อนและพิมพ์ครั้งใหม่กว่านี้) แล้วมันก็หายไป
เรื่องราวมันคงจะไม่เฮิร์ตเท่าไร
ถ้าเรื่องสั้นเรื่องโปรดที่สุดจะอยู่ในหนังสือเล่มนั้น .. “ส่วนผสมที่สาม”
เรื่องราวของสาวตกงานคนหนึ่ง มีเงินซื้อได้แค่เนื้อก้อนเดียว ตั้งใจจะนำกลับมาทำสตูว์ที่บ้าน
แต่แล้วพบว่าในครัวของเธอไม่มีหัวหอมและมันฝรั่งเหลืออยู่เลย
สตูว์จะเป็นยังไง ถ้ามีแต่เนื้อ?
แต่แล้ว โชคชะตาก็พาสาวน้อยถังแตก ที่มีแต่มันฝรั่งสองหัวเป็นอาหารเย็น
สาวสองคนจึงตกลงใจร่วมกันแชร์ส่วนผสมทำมื้ออาหารค่ำ
สาวน้อยมันฝรั่งผู้เศร้าสร้อย เพราะพลัดหลงกับความรัก
ใครจะคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว หัวหอม .. ส่วนผสมที่สามที่เธอตามหา …
จะเดินทางมาพบเธอในหม้อสตูว์นี่เอง
โรแมนติค ขำขัน และช่างคิดจริงๆ ค่ะ

นั่นล่ะค่ะ ทำให้การกลับมาอีกครั้งของหนังสือเรื่องนี้สำหรับเรามันพิเศษมากๆ

มีหนังสือหลายเล่มที่อ่านในสนุกในตอนเด็กๆ
แต่เมื่อโตขึ้น มุมมองความคิดเปลี่ยนไป หนังสือเล่มนั้นก็ไม่สนุกเสียแล้ว
แต่สำหรับเรื่องสั้นของโอ เฮ็นรี ไม่เป็นเช่นนั้นค่ะ
ต่อให้หยิบอ่านเป็นหนแรก ไม่มีความผูกพันใดๆ ก็เถอะ
โอ เฮ็นรีเป็นนักเขียนเรื่องสั้นมือฉกาจ
เขาเล่าเรื่องธรรมดาๆ ด้วยมุมมองประหลาดๆ
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเรื่องปกติของชาวตะวันตกในยุคนั้น
หรือเป็นไอเดียบรรเจิดของโอ เฮ็นรีเองกันแน่
เนื้อเรื่องดำเนินไปบนบรรทัดฐานแปลกๆ แถมตอนจบยังพร้อมหักมุมได้เรื่อยๆ อีกด้วย
เนื้อเรื่องที่บางเรื่องก็ฮา บางเรื่องก็ซึ้ง และบางเรื่องก็ติงต๊อง
ทั้งหมดนี้คือเสน่ห์ของ โอ เฮ็นรีค่ะ

ดูสำนวนเปรียบเปรยของเขาเสียก่อน

67-2 พวงเพชร

อีกเรื่องสั้นของโอ เฮ็นรีที่โด่งดังเป็น fw mail คือเรื่องใบไม้ใบสุดท้าย (the last leaf )
เรื่องราวของหญิงสาวที่ป่วยเป็นไข้นิวมอเนีย และหมดกำลังใจที่จะรักษา
เธอเฝ้านับใบไม้ที่ร่วมหล่นอยู่นอกหน้าต่าง
เฝ้ารอวันที่มันจะร่วงหมด และวันนั้นก็จะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเธอ
แต่แล้ว ใบไม้ใบสุดท้ายนั้นกลับไม่เคยร่วง
เธอจึงมีกำลังใจ กินอาหารและยาตามคำสั่งแพทย์ และหายเป็นปกติในที่สุด
หารู้ไม่ ใบไม้ใบสุดท้ายนั้น แท้ที่จริงแล้วคืองานศิลปะชิ้นเอก ที่ทำขึ้นกลางอากาศหนาว .. เพื่อเธอ ..
ชายชราผู้ประดิษฐ์ใบไม้ใบนั้น กลายเป็นฝ่ายที่ทนต่ออากาศหนาวไม่ไหว และป่วยตายในที่สุด

เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหนังอินเดียเรื่อง “lotera” ไปเมื่อปีก่อนด้วยค่ะ

เรื่องสั้นของโอ เฮ็นรี่ แม้จะตีพิมพ์ (เป็นภาษาไทย) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511
แต่พล็อตของเขาก็ไม่เก่าเลย ยังทันสมัย ไม่ซ้ำใคร (ไม่นับสำนวนนะ)
สนุกข้ามกาลเวลาจริงๆ ^^

Comments are closed.