อ่านแล้วเล่า

ผมเรียกเขาว่าเน็กไท

เรื่อง ผมเรียกเขาว่าเน็กไท
ผู้แต่ง มิเลนา มิชิโกะ ฟลาซาร์
ผู้แปล สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท
สำนักพิมพ์ แมร์รี่โกราวด์ พับลิชชิ่ง
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786169342441

ผมเรียกเขาว่าเน็กไท เป็นหนังสือเล่มบาง
ที่ใช้เวลาอ่านนานกว่าจำนวนหน้าที่เห็น

มันหนัก มันหน่วง
ยิ่งอ่าน .. บทหลังๆ ก็ยิ่งหนักหน่วง ทับถม

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังอ่านต่อไป และต่อไป
เป็นหนังสือที่เราอยากไปให้ถึงตอนจบ
ทั้งที่ระหว่างทางมันช่างยากเย็น

พล็อตของเรื่อง .. น้อยแต่มาก มากๆๆๆ
ผู้เขียนจับตัวอย่างผู้คนในญี่ปุ่นจากสองช่วงวัย
เป็นการสุ่มตัวอย่างจากคนล้มเหลว .. เมื่อมองผ่านกรอบสังคมญี่ปุ่น
คนหนึ่งอยู่ในช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิตวัยหนุ่ม .. เด็กหนุ่ม อายุ 20 ปี
กับอีกคนหนึ่ง อยู่ในช่วงวัยสุดท้ายของการทำงาน .. ชายพนักงานเงินเดือน อายุ 50 ปีกว่า

เรื่องมันเริ่มต้นตอนที่เด็กหนุ่มที่เป็นฮิกิโกะโมริ .. เด็กเก็บตัวที่ไม่กล้าออกจากบ้าน
ตัดสินใจก้าวเท้าออกจากบ้านเป็นครั้งแรก หลังจากที่ไม่ได้ออกไปไหนมาเนิ่นนาน
เขาสะเปะสะปะไปถึงสวนสาธารณะเป็นปลายทาง
และนั่งมองผู้คนอยู่เงียบๆ

แรกเริ่มเดิมที มันค่อนข้างผิดที่ผิดทาง และวางตัวไม่ถูก
จนกระทั่งเขาได้พบชายวัยกลางคนที่สวมเน็กไท
จากวันแรก กลายเป็นวันต่อมา .. อีกวัน และอีกวัน
บนม้านั่งตัวเดิม ในสวนสาธารณะแห่งเดิม
จากการแอบมองคนไม่รู้จัก กลายเป็นคนที่เคยเห็นหน้า
และท้ายที่สุด เด็กหนุ่มก็แอบตั้งชื่อให้เขาในใจว่าเน็กไท

การมีอยู่ของชายผู้ถูกเรียกว่าเน็กไท
สร้างความผูกพันบางอย่างขึ้นกับเด็กหนุ่ม
เป็นความสัมพันธ์อันบางเบา .. ที่แน่นหนัก

เราชอบวิธีเล่าของเขา
ภาษาดีมาก เราได้เห็นความยากลำบาก
ของเด็กหนุ่มที่ไม่ได้ออกจากบ้านมานานมาก
ตัดสินใจก้าวเดินออกจากบ้าน อย่างงกเงิ่น
และท้ายที่สุดก็ไปถึงสวนสาธารณะ
มันเป็นการเดินเท้าระยะสั้นๆ แต่มันยากลำบากมากๆ

เขาบรรยายให้เราเห็นถึงความกังวลของเด็กชาย
ที่แคร์สายตาของคนรอบข้าง ไม่กล้าที่จะแกว่งมือแรงเกินไป
กลัวส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวเองจะไปโดนคนที่เดินสวนมา อะไรแบบนี้
ตอนที่นั่งอยู่ที่สวนสาธารณะ เขาก็พยายามทำตัวให้ล่องหนที่สุด เป็นจุดเด่นน้อยที่สุด

ชอบอีกตอน ตอนที่เขาสบตากับคุณลุงเน็กไทครั้งแรก
ผู้เขียนอธิบายว่า เขาถูกเห็นแล้ว
ต่อไปนี้ เขามีตัวตนแล้ว ตัวตนของเขาถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว
การที่คนที่มานั่งที่เดิมทุกๆ วัน ได้พบกัน ได้มองๆ กันทุกๆ วัน
มันค่อยๆ เกิดสายสัมพันธ์บางอย่าง เขาบรรยายได้ละเอียดอ่อนมากเลย

แล้ววันหนึ่ง .. เมื่อความรู้สึกบีบเค้น เต็มเปี่ยม ..
คนไม่รู้จักกันสองคน ก็ตัดสินใจเปิดเผยมุมที่อ่อนแอของตัวเองต่ออีกฝ่าย

เป็นชายสวมเน็กไทที่เริ่มพูดก่อน
เขาสารภาพ หรืออีกนัยหนึ่ง ..
เขาได้บอกความลับของเขาให้แก่เด็กหนุ่ม
เขาตกงาน และไม่กล้าบอกภรรยา
แต่งตัวออกมาจากบ้าน แสร้งว่าไปทำงานทุกวัน
แต่ “งาน” ในตอนนี้ของเขาคือการนั่งเฉยๆ
บนม้านั่งในสวนสาธารณะ รอเวลาเลิกงาน
เผาผลาญแต่ละวินาทีไปด้วยความทุกข์ทรมานอยู่ภายในใจ

แล้วเด็กหนุ่มก็เปล่งเสียงแรก
ถ้อยคำที่ไม่ได้พูดกับใครมาเนิ่นนาน ..
อย่างเนิบช้า .. แล้วเขาก็เริ่มเล่าถึงเพื่อนคนหนึ่ง .. และอีกคนหนึ่ง ..

แม้เล่มนี้จะมีกลิ่นอายแบบนิยายวาย
แต่เรามองว่าเรื่องนี้ไม่วายเลย
ชายผู้สวมเน็กไทมีภรรยา และเขารักภรรยาของเขามาก
เราชอบเรื่องเขาเล่าตอนที่ไปดูตัวภรรยา
ชอบคำบรรยายการขอแต่งงาน และการตอบตกลงของหญิงสาว
มันเรียบง่าย น้อย น่ารัก และไม่ตรงแบบแผนใดๆ
เป็นความขำเล็กๆ น้อยๆ ในบรรยากาศหน่วงๆ ทั้งหมดของเรื่อง

มนุษย์เรามีความซับซ้อน
มีโลกใบเดียวกันที่บางครั้งเรามองมันด้วยหัวใจที่ปิดอยู่
แต่บางครั้งเราก็มองมันอย่างเปิดใจ
มีบางครั้งที่เราแสดงความรู้สึกหนึ่ง และเก็บกดอีกความรู้สึกหนึ่ง
อาจตั้งใจ อาจไม่ได้ตั้งใจ อาจรู้ตัว หรืออาจไม่รู้ตัว
ในความรัก อาจมีความเห็นแก่ตัว
ในความกลัว อาจมีความละอาย
ในความโกรธ อาจมีความกลัว

มนุษย์ไม่ได้มีความรู้สึกเดียวเดี่ยวๆ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ควรตัดสินมนุษย์

แต่ .. นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะละทิ้งความรับผิดชอบ
มนุษย์เกี่ยวโยงกันอยู่
การกระทำและการตัดสินใจของเรา มีผลต่อคนรอบข้าง
และไม่ว่าเราจะแสดงออกอย่างไร
เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น

มันทำให้เรามองเห็นเส้นทางของปัญหาในสังคมญี่ปุ่น
ที่ไม่ใช่แค่การบูลลี่ในห้องเรียน พอเรียนจบแล้วก็จบไป
แต่ความรู้สึกภายในของทั้งคนที่แกล้ง ถูกแกล้ง หรือแม้แต่คนที่เพิกเฉย
ยังคงตกค้างอยู่ภายในตัวตนจนเติบโต
เราว่าความรู้สึกพวกนี้ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในชีวิตการทำงาน
มันสร้างวัฒนธรรม และค่านิยมบางอย่าง
มันสร้างนิสัยติดตัว ที่มองลงมาในช่วงไหนของชีวิต
มันก็ล้วนเชื่อมต่อกันเป็นเส้นเดียว
มีเหตุผล ที่มา และที่ไปบนเส้นทางเดียวกัน

และใช่ .. ผมเรียกเขาว่าเน็กไท เป็นอีกหนึ่งเล่ม
ที่เล่าถึงวัฒนธรรมการกลั่นแกล้งในห้องเรียน

แต่เรื่องไม่ได้เล่าไปที่ตัวผู้ถูกกระทำโดยตรง
หากเล่าถึงคนที่เพิกเฉย

นับไปนับมา นี่เป็นเล่มที่ 4 ของปีนี้แล้ว ที่เล่าเรื่องของการบูลลี่
ปกติคือไม่รัก, หมาป่าโดดเดี่ยว ปราสาทเดียวดาย ในกระจก,
ยายฝากบอกว่าขอโทษ และ ผมเรียกเขาว่าเน็กไท เล่มนี้
มันอาจกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม ที่ค่อยๆ หยั่งรากลึกลงไป
หรือมันอาจเป็นปัญหาที่กำลังถูกจับตามอง ถูกมองเห็นว่าเป็นปัญหา
และเราควรเริ่มที่จะแก้ไขมันได้แล้ว?

Comments are closed.