อ่านแล้วเล่า

ปาฏิหาริย์แห่งวาฬ

เรื่อง ปาฏิหาริย์แห่งวาฬ
ผู้แต่ง วิทิ อิแมร่า
ผู้แปล สุวัฒน์ หลีเหม
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740211044

ปาฏิหาริย์แห่งวาฬ เป็นเรื่องเล่ากึ่งตำนานสัญชาตินิวซีแลนด์
ตำนานเทพเจ้าที่ผูกพันอยู่กับท้องทะเลและวาฬ
ผู้เขียนเริ่มต้นเรื่องด้วยสิ่งที่คล้ายตำนานหรือเทพนิยายลึกลับ
เล่าถึงความผูกพันของวาฬและเหล่ามนุษย์บนโลก
วาฬถูกปกครองดูแลด้วยเทพ และมนุษย์ก็ถูกปกครองด้วยเทพเช่นกัน
ลอร์ดแทน เป็นบิดาของมนุษย์และผืนป่า
ในขณะที่ลอร์ดแทนการัว ผู้เป็นบุตร ครอบครองดูแลทุกชีวิตในอาณาจักรมหาสมุทร

ตำนานเก่าแก่ของชนเผ่าเมารีเล่ากันว่า
มีชายผู้หนึ่งซึ่งมีกายสีทอง เป็นบรรพบุรุษของเผ่า
เขาเป็นผู้ขี่วาฬ เดินทางไกลมาจากดินแดนแห่งหนึ่ง
มาค้นพบแผ่นดินแวนการาอันอุดมสมบูรณ์
เขาพบรับกับหญิงสาวที่นี่ ก่อตั้งรกราก และสืบลูกสืบหลานอยู่ที่นี้จนสิ้นอายุขัย
เขาคือ คาฮูเตีย เต แรนกี คือ ไพเกีย
เขาคือบรรพชนคนแรกแห่งชาวเผ่าเมารี

ผ่านช่วงเวลามาอีกหลายร้อยปี .. จวบถึงในยุคปัจจุบัน
เผ่าเมารีขณะนี้มีผู้นำเผ่าคือ โคโร อะพิรานา
บางที โคโร อะพิรานา ก็ถูกภรรยาของเขา นานี ฟลาวเวอร์ส เรียกว่า ตาแก่พาคา
ทั้งโคโร อะพิรานา และนานี ฟลาวเวอร์ส เป็นปู่และย่าของผู้เล่า

ผู้เขียน เล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง คือ “ผม”
ซึ่งก็คือ ราวิริ ในเรื่อง
เขาเป็นหลานปู่หลานย่าของผู้นำเผ่าอย่างที่บอก
มีพี่ชายหนึ่งคน คือ โพรัวแรนกี ซึ่งแต่งงานกับ เรฮัว
และคลอดลูกสาวออกมาชื่อ คาฮู
และแล้วคนสำคัญก็ปรากฏตัวซะที! .. คาฮูนี่ล่ะค่ะ เป็นคนสำคัญของเรื่อง

ปาฏิหาริย์แห่งวาฬ เป็นหนังสือที่ชื่อจำยาก
แล้วยังเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวละครเยิ่นเย้อ รุงรัง
นอกจากนี้ยังแทรกภาษาท้องถิ่นเข้ามาให้อ่านยากอีก
อ่านไปก็ทำใจไปว่า คล้ายๆ กับอ่านนิยายของป้าทมยันตีนี่แหละ
ต้องปรับจูนกันสักพักกว่าจะเริ่มชิน

ตาแก่พาคาเรียกการถือกำเนิดของคาฮู เป็นความผิด
ตามธรรมเนียมอันเนิ่นนานของแก
ลูกคนแรกที่เกิดจากทายาทคนโตของตระกูลต้องเป็นผู้หญิง
คาฮูผิดที่ดันเกิดเป็นหญิง และแกก็เริ่มถูกปู่ (ทวด) เกลียดตั้งแต่วันที่แกเกิด

ชาวเมารีเชื่อกันว่า ..
แต่ก่อนนั้น คนกับวาฬสามารถสื่อสารพูดคุยกันรู้เรื่อง
ต่อเมื่อเวลาผ่านไป ความสามารถเช่นนี้กลับค่อยๆ ถูกหลงลืม
มันยังคงหลงเหลือเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะบางคน
ตามบันทึกล่าสุด ผู้ที่มีความสามารถนี้เหลืออยู่เพียงคนเดียว
คือไพเกีย บรรพบุรุษผู้ขี่วาฬนี่เอง

ตลอดชีวิตของตาแก่พาคา แกเฝ้าแต่เวียนหาลูกหลานเมารีสักคน
ที่จะสามารถคุยกับวาฬรู้เรื่องเหมือนดังที่บรรพชนแกเคยทำได้มาก่อน
แกพยายามเฝ้าค้นหา “ผู้ขี่วาฬ” มาชั่วชีวิตแก
หลานชายคนแรกคือความหวังสุดท้าย .. แต่แกก็ดันมาพลาดหวังอีก
เรื่องมันก็เลยดราม่าประมาณนี้แหละ

เป็นเรื่องที่เดารูปแบบการจบได้ตั้งแต่แรกๆ นะ (จะสปอยล์ล่ะนะ)
โครงเรื่องมันควรจะให้ความรู้สึกฟีลกู๊ด
แต่ไม่รู้ทำไมตอนจบมันไม่ฟินเท่าที่ควร
ปู่ (ทวด) เกลียดเหลนสาวนี่เป็นประเด็นใหญ่มากในเรื่อง
มันเริ่มต้นอย่างธรรมดา แต่ค่อยๆ มากขึ้นทุกทีๆ
โดยที่ผู้เขียนไม่ชี้แรงจูงใจให้เลย แค่เกิดมาเป็นผู้หญิงก็เกลียดแล้ว
อันนี้มันควรจะเริ่มตั้งแต่ตอนเกิด (ซึ่งในเรื่องก็เป็นอย่างนั้น)
แต่หลังจากนั้น ความดีงาม ความน่ารักของเธอ
ไม่มีผลอะไรต่อจิตใจของปู่บ้างหรือ?
ผู้เขียนไม่แตะตรงนี้เลย เอะอะเกลียด
ไม่อธิบาย หรือแม้แต่บอกใบ้ด้วยการกระทำของปู่เลย ว่าข้างในรู้สึกอย่างไร
ผู้เขียนบรรยายแต่การกระทำด้านลบ
ว่าในแต่ละวัน เขาได้ทำร้ายจิตใจเหลนสาวแสนดีคนนี้ยังไงบ้าง
ดังนั้นพอจบ มันเลยไม่ฟิน
ปู่กลับมารักเพราะหลานขี่วาฬได้?
แล้วถ้าเธอขี่ไม่ได้อ่ะ ก็จะยังคงเกลียดหลานต่อไปงี้เหรอ?
(อย่าหาว่าสปอยล์เลยนะ เส้นเรื่องมันมาทื่อๆ ตรงๆ
เดาได้แต่แรกกันอยู่แล้วอ่ะเนอะ)

มันก็จะคาใจๆ หน่อยค่ะ

Comments are closed.