อ่านแล้วเล่า

บ้านเกิดและเพื่อนเก่า

132-1-%e0%b8%9a%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%b2

เรื่อง บ้านเกิดและเพื่อนเก่า
ผู้แต่ง วาณิช จรุงกิจอนันต์
สำนักพิมพ์ มติชน
ราคา 178 บาท

ภาพสุพรรณในความทรงจำของเราเกิดขึ้นจาก แม่น้ำยามศึก ของคุณอาจินต์
เมื่อคุณวาณิชหยิบภาพบรรยากาศคล้ายๆ เดิม ห้วงเวลาใกล้ๆ กัน มาเล่าซ้ำ
ทำให้สุพรรณของเราเป็นภาพชนบทอันเงียบสงบ สมถะ ร่มเย็น และเรียบง่าย
เราทุกคนต่างเคยมีเพื่อนวัยเด็ก และมีบ้านเกิด ของใครของมันเป็นภาพจำอยู่ในใจ
แตกต่างแน่นอนในรายละเอียด แต่กลิ่นอายและความรู้สึก มักจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
คือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข .. ยามนึกถึง

บ้านเกิดและเพื่อนเก่า เป็นบันทึกเหตุการณ์ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26
ไม่ได้เล่าแต่เรื่องเพื่อนล้วนๆ แต่เพียงอย่างเดียว
แต่รวมไปถึงผู้คนทุกรุ่นรอบๆ ตัวคุณวาณิชด้วย
มีทั้งแม่เพื่อน แม่ตัวเอง พ่อเพื่อน เฮียลิ้มผู้กว้างขวาง
ตาเส่ยคนตกปลา ตาเชยคนบ้า ครูประจวบ ฯลฯ
โดยทั้งหมดนี้พ่วงเรื่องชีวิตของคนเอาไว้ด้วย
พ่วงภาพอดีตของสถานที่นั้นๆ และผู้คนในยุคนั้นเอาไว้ด้วย

คุณวาณิชเกิดที่ตลาดบัวหวั่น อำเภอสองพี่น้อง ใกล้วัดไผ่โรงวัว
แล้วย้ายมาที่ตลาดบ้านสุด อำเภอบางปลาม้า เมื่อราวๆ 5 ขวบ
ว่ากันว่า บ้านสุด ก็คือบ้านสุดท้ายก่อนที่จะเข้าเขตอยุธยา
ชีวิตของผู้คนที่นั่งเกี่ยวข้องผูกพันกับลำคลองสองสามสายแถวนั้น
มีคลองบางยี่หนเป็นที่เล่าถึงบ่อยหน่อย

มีบางช่วงของเรื่องที่ผู้เขียนเปิดเผยความผิดพลาด ความขี้โกง (แบบเด็กๆ)
ความยากจนข้นแค้นของตัวเอง ฯลฯ อย่างซื่อตรง
คนที่กล้าเล่าถึงอดีตเหล่านี้ของตนเองได้นั้น
คงเป็นเพราะเพราะเขาไม่ได้นึกว่ามันเป็นปมด้อยของชีวิต
หรือไม่อีกที เขาก็เอาชนะความรู้สึกนั้นมาแล้ว

สิ่งหนึ่งที่แทรกอยู่ในชีวิตของคุณวาณิชก็คือเพลงลูกทุ่ง
ไม่ว่าคุณวาณิชจะเขียนหนังสือเล่าถึงเรื่องอะไร
ก็มักจะมีเรื่องของเพลงลูกทุ่งแทรกอยู่ในเล่มเสมอ
เล่มนี้ก็เช่นกัน

ตอนที่เราชอบ คือตอนที่คุณวาณิชเล่าเรื่องของตาเชยที่ชอบตีระนาด
คนไทยสมัยก่อนนั้นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
มีมิตรไมตรี มีน้ำใจที่พร้อมเผื่อแผ่ให้ทั้งคนรู้จักและคนไม่รู้จัก
ไม่เว้นแม้แต่คนบ้า
คุณวาณิชเล่าเรื่องทำนองนี้ได้กินใจดีเหมือนกัน
ไม่แพ้แนวแสบสันต์บันเทิงเลย
อีกตอนหนึ่งที่ชอบมากเช่นกันคือตอนติดกันเลย
คุณวาณิชเล่าถึงแม่ของตัวเอง
คุณวาณิชเขียนให้เราอ่านแล้วรู้สึกสะท้อนสะท้านในใจไปหมด

ส่วนในตอนจบ ก็เป็นตอนจบนั่นแหละ ..
ก็คือเป็นการที่คุณวาณิชลาจากบ้านเกิด เพื่อไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ
แต่มันเป็นการจบที่ห้วนและทำให้อารมณ์ค้างมาก
เพราะจบแค่นั้นเลย ไม่มีเกริ่นมีสรุปสักนิดว่า
นับจากวันนั้นจนกลายเป็นคุณวาณิชในวันนี้
เกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง!!
นั่นล่ะค่ะ ไม่ใช่ชีวประวัติ (แต่ก็ใกล้เคียง)
ใครรู้สึกคาใจเหมือนเรา คงต้องไปติดตามเก็บเล็กผสมน้อยจากเล่มอื่นๆ อีกที
สนุกกับการอ่านหนังสือของคุณวาณิชนะคะ

Comments are closed.