อ่านแล้วเล่า

ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ

59-1 ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ

เรื่อง ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ
ผู้แต่ง พิบูลศักดิ์ ละครพล
สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์
(สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์)
ราคา 319 บาท

ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ
หนังสือชื่อหวาน ปกหวาน สะดุดตาเราตั้งแต่แรกพบ
ตอนนั้นมีโอกาสเปิดอ่านนิดหน่อย ก่อนตั้งใจเอาไว้ว่า
ถ้าพบกันคราวหน้าแล้วยังสนใจ เธอคงถูกจดลงลิสต์ของเราแน่ๆ
และแล้ว .. ผ่านไปเกือบครึ่งปีนั่นล่ะ เราถึงได้มาอยู่ร่วมบ้านกัน

ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ
เป็นหนังสือรวบรวมบทความจากคอลัมน์ ‘ฟ้ากว้างทางใจ’ ในนิตยสารกุลสตรี
เปล่าหรอก ไม่เคยอ่านมาก่อน ไม่ได้อ่านนิตยสารมานานมาแล้ว
แต่การมาพบกัน ได้อ่านกันแบบรวดเดียวจบแบบนี้ ก็ดูโรแมนติคดีเนอะ

59-2 ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ

ระยะเวลาที่เราอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเล่ม
เปรียบเสมือนเป็นห้วงเวลาที่เราสวมบทบาทเป็นนางเอกนิยายไทยพล็อตโหล
ในช่วงต้น เราไม่ค่อยชอบมันเอาเสียเลย .. แต่ยิ่งอ่าน ยิ่งอ่าน ก็ยิ่งหลงรัก

59-3 ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ

หลายบทในช่วงเปิดเรื่องบอกเราว่า ..
ดอกไม้ของพิบูลย์ศักดิ์ ละครพล เป็นดอกไม้ที่ปนเหงาๆ เศร้าๆ ไปเสียทุกดอก
ประโยคบอกเล่าของเขามีรสจืด แม้จะเขียนเรื่องหวานแต่มันไม่หวาน
หนังสือมันเลยออกจะหดหู่ ไม่ชุ่มชูใจเอาเสียเลย

ภาพประกอบสวยหวาน กับบทความแทรกบทกลอน
(มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ด้วยบางครั้ง)
แต่ทั้งหมดนั้นมันก็ยังไม่ซาบซึ้ง ซึมลึกในหัวใจเรา
ได้เท่ากับเล่มอื่นๆ ที่เคยอ่านมา (ใน ปล. ข้างล่าง)

มันคงจะเหมาะกับหนุ่มโสดสาวโสดขี้เหงา
อ่านแล้วจ่อมจมบ่มเพาะความเหงาให้ได้ที่ แล้วก็เป็นสุขอยู่กับความเศร้าในใจตน

59-4 ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ

จวบจนได้อ่านมาเรื่อยๆ บทความในแต่ละบทก็ค่อยๆ ดีขึ้น
ความเหงาค่อยๆ คลายไป (หรือชักชิน?)
แต่เราเริ่มสนุกที่จะอ่านมัน สนุกไปกับเรื่องราวที่ผู้เขียนบอกเล่า

59-5 ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ

ผู้เขียน (คง) เป็นคนเหนือ ชื่อดอกไม้ต่างๆ ในเล่มจึงเริ่มต้นและแอบอิงภาษาเหนือเอาไว้เป็นหลัก
(คิดถึงงานของฮิมิโตะ ณ เกียวโต นิดๆ)
ดอกไม้ภาษาเหนือฟังดูไพเราะอ่อนหวาน
แถมในบางดอกผู้เขียนยังได้ตั้งชื่อเป็นภาษากวีแสนไพเราะ อย่างเช่น ..
เขาเรียกดอกตาเบบูญ่า หรือชมพูพันธ์ทิพย์ว่า ‘ดนตรีสีกุหลาบ’
เรียกดอกมหาหงส์ หรือต๋าเหินว่า ‘มาลีมาลัย’
เรียกดอกราตรี หรือดอกหอมดึกว่า ‘ราตรีรัญจวน’
ฯลฯ

บางครั้ง การเล่าเรื่องดอกไม้ใบไม้
ผู้เขียนก็อดเฉียดเฉี่ยวไปเล่าเรื่องอาหารด้วยเป็นของแถมด้วย
เรียกว่าถ้าไม่อ่านเอาอารมณ์หรือความรู้สึกแล้วล่ะก็ ..
ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ เล่มนี้
ก็ได้ผสมผสานนานาความรู้เกี่ยวกับดอกไม้เอาไว้ได้สวยงามดี
ร้อยเรื่องเรียงความพอดิบพอดี ไม่ขาดไม่เกิน

59-6 ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ

หยิบ ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ เข้าไปอ่านในสวนดอกไม้ใกล้บ้าน
นั่งมองบางดอกไม้ที่ผู้เขียนเอ่ยถึง แล้วปล่อยให้จินตนาการทำงานของมันไป
นั่นก็นับเป็นวันหยุดพักผ่อนที่ดีไม่น้อยเลยนะคะ ^^

ปล. หนังสือแนวนี้ดูจะเป็นแนวที่เราชอบ (หลังจากสังเกตหนังสือในตู้หนังสือที่บ้านแล้ว)
เจอที่ไหนเป็นต้องหามาอ่าน มาครอบครองทุกทีไป
หนังสือแนวเดียวกันกับเล่มนี้ (ที่เคยรีวิวไปแล้ว) ได้แก่ ..
ฉันหลงรักฤดูกาล – สกุณี ณัฐพูลวัฒน์
ร่มไม้ชายคา – ศิเรมอร อุณหธูป
ฟังเสียงดอกไม้ทักทายกัน – รองแพง อริยมาศ
จักรวาลในสวนดอกไม้ – ฮิมิโตะ ณ เกียวโต
แม่ลูกปลูกต้นไม้ – ชมัยภร แสงกระจ่าง

Comments are closed.