อ่านแล้วเล่า

จดหมายรักยาขอบ

เรื่อง จดหมายรักยาขอบ
ผู้แต่ง ยาขอบ
สำนักพิมพ์ ฟรีฟอร์ม
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789741641376

สารภาพว่าก่อนอ่านเล่มนี้ เรามีกำแพงอคติตั้งตระหง่านไว้ก่อนเลย
เพราะตอนที่อ่านเล่ม love letters : จดหมายรัก
แล้วมีจดหมายรักของยาขอบแทรกเอาไว้หน่อยนึงนั้น .. เราอ่านแล้วไม่อิน
เรารู้สึกว่า คนที่เตรียมตัวจะบวช .. มานอนสงบใจอยู่ที่วัดแล้วนั้น
ไม่ควรฟุ้งซ่าน นั่งเขียนจดหมายรักถึงหญิงสาวที่ไม่ได้เป็นคนรัก
ในขณะที่ตัวเองมีเมียอยู่แล้วถึง 4 คนด้วย!!

ความรักมันก็เหมือนความรู้สึกอย่างอื่น
ยิ่งฟูมฟายมันก็ยิ่งทบทวี ล้นพ้น
ควรหรือที่คนเตรียมบวชจะมานั่งทุรนทุรายถึงผู้หญิงสาวๆ คนหนึ่ง!?

จริงอยู่ที่เราไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางในเหตุการณ์นี้
ว่าเมียที่ว่านี้ยังคบอยู่ทั้ง 4 คนหรือเปล่า
การบวชเพื่อล้างตัวล้างใจในครั้งนี้ เพื่อไปคบกับพนิดา .. ซึ่งจะเป็นคนที่ 5?
แล้วยังไง .. ไม่เข้าใจ ไม่อิน ..
นั่นล่ะค่ะ ความหวานในจดหมายรักที่ว่า เลยชวนให้เราถึงเคสต่างๆ ในคลับฟรายเดย์อยู่ร่ำไป
ทั้งหมดนั่นล่ะ อคติของเราค่ะ!

เมื่อได้มาอ่านในฉบับเต็ม ไม่ใช่เฉพาะที่คุณปรายยกไปเล่าในเล่มจดหมายรัก
เราก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม คือเรามองไม่เห็นความรักระหว่างเจ้าของจดหมายทั้งสองคนนี้
ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่ารักกันมาก แต่ไม่มีความมั่นคงต่อกันเลย
ต่างฝ่ายต่างนึกระแวงกันอยู่ตลอดเวลา แทบจะฉบับเว้นฉบับ
โดยเฉพาะยาขอบ ขี้ระแวงมาก และก็ขยันหาทางจับผิดจนน่าเหนื่อย
อ่านจดหมายรัก แต่ก็ไม่ยักชุ่มชื่นเท่าที่คิดเลย

ที่บอกว่าเรามองไม่เห็นความรักของทั้งสองคน
เป็นแต่เพียงความลุ่มหลงอย่างมัวเมาเท่านั้น ก็เพราะ ..
ความรักระหว่างยาขอบและพนิดานั้นเป็นรักต้องห้าม
อะไรที่ได้มายาก ก็ย่อมจะยิ่งทำให้อยากจะเอาชนะมากขึ้นเท่านั้น
ความตื่นตาตื่นใจที่ต้องปิดบังเป็นตัวชูรสของความหลงให้สูงค่า
ลักลอบที่จะรักกันมันตื่นเต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองคนยังสรรหาอุปมาคมคายมาเกทับกันไปมา
จนเหมือนจะให้ค่าที่คารมกันมากกว่าความรู้สึกจริงๆ
พูดภาษาบ้านๆ คือโอเวอร์มาก
เหมือนจะแค่วัดกันว่าคารมใครดีกว่าใคร
มากกว่าเจตนาแสดงความรักความคิดถึงกันจริงๆ
ถ้ามีการเปิดเผยในตอนท้ายว่า
จดหมายทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่ยาขอบตั้งให้พนิดาฝึกฝีมือในการเขียนหนังสือ
เราก็คงจะยอมเชื่อได้มากกว่า

เหตุที่จดหมายของยาขอบหวานถึงเพียงนี้
ก็เพียงเพราะว่าพนิดายังไม่ได้ตกลงปลงใจ
มิเช่นนั้นแล้ว ยาขอบไม่มีทางหมอบราบคาบแก้วถึงเพียงนี้แน่
อ่านในจดหมาย ก็โล่งอกอยู่บ้าง
ที่ดูแล้วพนิดาจะต้องเป็นผู้หญิงที่ฉลาดมาก ทั้งๆ ที่อายุเพิ่งจะเพียง 20 ปี
คำพูดคำจาที่โต้ตอบกันนั้นก็ล้วนแต่ทันกัน และไว้ตัวอยู่บ้าง
(แต่อ่านไปอ่านไปก็ชักจะตะหงิดๆ ใจในความรู้สึกที่แท้จริงของพนิดาอยู่เหมือนกัน)

จากคราแรกที่กลัวว่าชายเจ้าชู้จะหลอกสาวน้อยแรกรุ่นในตอนต้นเล่ม
กลายเป็นคล้ายๆ จะกลับตาลปัตรในตอนท้าย?
เป็นเพราะจดหมายตอบจากพนิดาในฉบับท้ายๆ ไม่ถูกนำมาพิมพ์รวมเอาไว้ด้วย
และจดหมายจากยาขอบเพียงฝ่ายเดียวก็ชวนให้ตีความได้ว่าอย่างนั้น?
ซึ่งก็น่าแปลกใจ เพราะจดหมายทั้งหมดนี้ –
ผู้ที่ต้องการจะให้มีการพิมพ์รวมเล่มออกมา ก็คือตัวพนิดาเอง
ก็เลยเดาเจตนาไม่ได้ว่าเธอต้องการให้คนที่อ่านเข้าใจว่าอย่างไรกัน

มีหลายจุดที่เราอ่านแล้วไม่เข้าใจเลย
คงเป็นเพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา
คาดว่าจดหมายมีหายไปบางฉบับ เพราะข้อความไม่ต่อเนื่อง (บ้าง)
และบางครั้งก็ได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ระหว่างวันที่ทั้งสองคนได้พบกัน
รวมไปถึงสถานการณ์อื่นๆ ในเกิดขึ้นในยุคนั้นสมัยนั้น แต่เราไม่รู้
ทำให้ขาดอารมณ์ร่วมไปบ้าง
เอาจริงๆ ข้อดีข้อเดียวของจดหมายรักยาขอบเล่มนี้ ไม่ใช่เนื้อความในจดหมายเท่าไรนัก
แต่อยู่ที่สำนวน และความสละสลวยในการเขียนหนังสือล้วนๆ เลย

อ่ะ .. ถ้าละจากอคติทั้งปวง เรายังพอจะเห็นความดีงามด้านอื่นๆ บ้าง
ตัวอย่างเช่น เมื่อยาขอบหลงรักพนิดาอย่างจริงจังแล้ว ก็มิได้ชิงสุกก่อนห่าม
แต่อดใจเฝ้ารอชำระล้างตนเองให้สะอาดด้วยการ (เตรียม) บวช
แม้จะมีวอกแวกบ้าง หาเหตุเข้าข้างตัวเองบ้าง แต่ก็ยังข่มใจไม่เลิกล้ม

ถ้าละจากเรื่องราวส่วนตัวของเจ้าของจดหมายทั้งสองคน
จริงอยู่ที่ภาษาอันสละสลวยนั้นสำคัญกับหนังสือเล่มหนึ่งๆ
แต่หนังสือที่มีภาษาสำนวนดี ในขณะที่เรื่องราวหยุดนิ่งอยู่กับที่
ไม่ดำเนินไปทางไหนเลย ก็ออกจะน่าเบื่ออยู่ไม่น้อย
เราอ่านเล่มนี้นานมาก นานกว่าที่ตั้งใจเอาไว้เยอะเลย
อ่านแล้วยังมานั่งหงุดหงิดอีก ที่มันไม่จบซักที
คนอะไร พาลเอากับหนังสือก็ได้ด้วย 555

แต่ถึงจะอ่านช้าอ่านนานขนาดไหน .. สุดท้ายมันก็จบ
จบแล้วเราได้ข้อสรุปอย่างเดียวเลย จากหนังสือเล่มนี้ ..
มันเป็นตัวอย่างที่ดีของประโยคที่ว่า 
“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” โดยแท้ ..

Comments are closed.