อ่านแล้วเล่า

จดหมายจากสันคะยอม

03-2 จดหมายจากสันคะยอม

เรื่อง จดหมายจากสันคะยอม
ผู้แต่ง ฮิมิโตะ ณ เกียวโต
สำนักพิมพ์ สารคดี
ราคา 190 บาท

สันคะยอมในมุมของฮิมิโตะฯ คือตัวอย่างหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทของไทย

เปล่า .. จดหมายจากสันคะยอมไม่ใช่เรื่องเครียดขนาดนั้น
สำนวนของฮิมิโตะฯ ยังคงผ่าซาก และเปิดมุมมองแปลกๆ ให้เราเสมอ

04-3 จดหมายจากสันคะยอม

เรื่องเล่าในจดหมายจากเกียวโต
เราได้รู้ว่าฮิมิโตะฯ จากบ้านจากเมืองไปอยู่เกียวโตเสียหลายปี
การห่างบ้านไปนานขนาดนั้น เมื่อกลับมาอีกครั้ง ย่อมหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงไม่พ้น
ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาโลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
เพียงแต่ถ้าเราอยู่กับมัน เราอาจจะไม่รู้สึก
แต่สำหรับคนที่จากไปนานๆ บางความเปลี่ยนแปลงก็ทำให้รู้สึกเศร้า
เปล่า .. ฮิมิโตะฯ ไม่ได้บอกว่าเธอเศร้าแม้แต่น้อย
แต่ตัวหนังสือของเธอแอบบอกเราเป็นระยะๆ .. ว่าอย่างนั้น

04-6 จดหมายจากสันคะยอม

04-7 จดหมายจากสันคะยอม

จดหมายจากสันคะยอม เป็นภาคต่อของจดหมายจากเกียวโต
ด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างเชื่อมต่อกัน
แต่ภาพที่เกิดขึ้น เป็นคนละภาพ เปลี่ยนจากเกียวโต ณ ญี่ปุ่น
มาเป็นหมู่บ้านสันคะยอม ณ เชียงใหม่แทน
เมื่อฉากเปลี่ยน เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเปลี่ยนไปตามภาพ
ภาพที่สันคะยอมคือวิถีชีวิตเก่าแก่ของคนเมือง (เชียงใหม่)
ที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเพราะวิถีชีวิตคนเมือง (หลวง) เข้าแทรกแซง

ฮิมิโตะฯ ฉีกขนบสาวเชียงใหม่ในทุกมโนฯ

04-4 จดหมายจากสันคะยอม

หลายหัวข้อที่ฮิมิโตะฯ นำมาเล่าในจดหมายจากสันคะยอมนั้น
น่าสนใจและน่าปวดหัวไปพร้อมๆ กัน
ที่น่าสนใจคือ เป็นมุมมองชนบทจากคนชนบทแบบที่เราไม่ค่อยจะได้คิดได้เห็น
แต่ที่น่าปวดหัวก็คือ มันพลิกโลก กลับตาลปัตรไปจากรากฐานที่เราเคยคุ้น
ความผกผันของสังคมจริงๆ กับสังคมในหนังสือแบบที่คนกรุงอ่าน
มันกลายเป็นความยากที่จะหาจุดบรรจบกันได้

แต่อย่าเพิ่งไปนึกภาพหนังสือวิชาการเครียดๆ นะ
ฮิมิโตะฯ ถ่ายทอดมันออกมาในแบบที่อ่านง่าย เห็นภาพชัดแจ้ง
ด้วยสำนวนมันส์หยด .. มันส์แบบที่เคยบอกไว้ว่า ..
บางตอนก็น่ารัก และบางตอนก็น่าหมั่นไส้นั่นแหละ

04-5 จดหมายจากสันคะยอม

นอกจากเรื่องราวทั่วๆ ไปของสังคมความเป็นอยู่แล้ว
ฮิมิโตะฯ ยังเล่าเรื่องอาหารการกินด้วย
เวลาที่ฮิมิโตะฯ เล่าเรื่องการทำอาหารอย่างลาบ หลู้ หรือส้าแล้ว
คำบรรยายของเธอช่างทำให้เราเห็นภาพ รส กลิ่นแทบในคราเดียวกัน
อ่านแล้วก็พิพักพิพ่วน กึ่งอยากชิม กิ่งแหวะเวียนเหียนมึนอย่างบอกไม่ถูก
เรียกว่าบรรยายดีเกินเหตุน่าจะได้

03-1 จดหมายจากสันคะยอม

ตอนหนึ่งที่ตื่นตาตื่นใจ และคล้ายๆ จะได้เห็นภาพทับซ้อนกับตัวเราในวัยเด็ก
ก็คือตอนที่ฮิมิโตะฯ เล่าถึงกระบวนการเริ่มต้นการอ่านของเธอ
คนบ้าหนังสือคล้ายๆ กันอ่านแล้วเลยอินเป็นพิเศษ ^^
เด็กๆ สมัยเรามักขาดแคลนหนังสือ การอ่านในวัยเด็กจึงเป็นไปแบบหิวกระหาย
อ่านเอาเป็นเอาตาย อ่านเป็นบ้าเป็นหลัง จนติดนิสัยมาถึงตอนโต
ต่างกันหน่อยนึงตรงที่ตอนเด็กๆ หนังสือมีน้อย เลยต้องอ่านซ้ำๆ เล่มเดิมๆ หลายรอบ
เรื่องไหนเป็นยังไงจำได้ขึ้นใจ
ในขณะที่พอโตขึ้น บางเล่มเพิ่งอ่านจบไปไม่ถึงเดือน จำชื่อพระนางไม่ได้เสียแล้ว
แต่ก็เป็นความต่างที่มีความสุขทั้งสองแบบ ^^

จดหมายจากสันคะยอมเล่มนี้ สนุกและพัฒนาขึ้นจากจดหมายจากเกียวโตเยอะมากค่ะ

Comments are closed.