อ่านแล้วเล่า

คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ

เรื่อง คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ
ผู้แต่ง ฮารูกิ มูราคามิ
ผู้แปล นพดล เวชสวัสดิ์
สำนักพิมพ์ แม่ไก่ขยัน
หนุนหลังโดย สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9743236333

คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ตัดสลับเรื่องราวระหว่างสองฝั่ง
ฝั่งหนึ่งคือเด็กชายวัย 15 ที่หนีออกจากบ้าน
เขาดำเนินชีวิตเรียบเรื่อย ไม่หวือหวา แต่เราได้รับความรู้สึกของการผจญภัย
คาฟกา ทามูระ เป็นชื่อใหม่ที่เขาตั้งให้ตนเอง
ชีวิตใหม่ไร้ผู้ปกครอง เขาสิงอยู่ในห้องสมุด ไม่อีกทีก็ใช้ชีวิตกลางป่าเขา
ขับเคลื่อนชีวิตไปด้วยความรู้สึกภายใน .. เพื่อตามหาบางสิ่งบางอย่างรางเลือน

ส่วนอีกฝั่ง เปิดเรื่องย้อนกลับไปในอดีต ในปี ค.ศ. 1944 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เด็กประถม 16 คน ออกทัศนศึกษาขึ้นไปเก็บเห็ดในป่าโปร่งบนภูเขา

ระหว่างทาง เด็กทั้งหมดหมดสติลงเกือบพร้อมกัน
ไม่ช้าไม่นาน พวกเขาค่อยฟื้นคืนสติ เป็นปกติ
ยกเว้นเด็กชายเพียงคนเดียว .. ซาโทรุ นาคาตะ .. เด็กชายปราดเปรื่อง
เขาฟื้นตื่นขึ้นในอีกหลายวันต่อมา หลงลืมตัวตน
กลายเป็นคนไม่เต็มคน .. เช่นนั้นเรื่อยมา
วันเวลาผ่านเลยจวบจนปัจจุบัน เขากลายเป็นชายแก่
และเราจะอ่านเรื่องของเขา .. นับแต่นั้น

สองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันถูกเล่าสลับบทต่อบท
แม้จะไม่ต่อเนื่อง แต่ก็อ่านได้ลื่นไหล ไม่สะดุด
มีเพียง
บางครั้งที่กำลังอ่านบางตอนติดพัน
เราก็กระโดดข้ามบท ไปอ่านเรื่องฝั่งหนึ่งต่อเนื่องไปอีกสักหน่อย
ก่อนย้อนกลับมาอ่านที่เหลือ

ประสบการณ์การอ่านมูราคามิ
รวมทั้งรีวิวใดๆ ที่เคยอ่าน
ทำให้เราบอกบางสิ่งบางอย่างกับตัวเองก่อนอ่านเล่มนี้
เราปรับโหมดตั้งค่าตัวเองเอาไว้ว่า
วางตรรกะลงให้หมด จงใช้ความรู้สึกในการอ่าน

โอเค .. มูราคามิเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์มหัศจรรย์ตามคาด
และเราจะไม่ติดกับค้างเติ่งอยู่ตรงนี้ .. เปิดหน้าถัดไป และถัดไป ..
ผู้เขียนเล่าเรื่องฝ่าเข้าไปในความดำมืด
ไม่มีข้างหน้า ไม่มีข้างหลัง
มีแต่เรื่องที่เล่าผ่านไปในแต่ละบทแต่ละตอน
ไม่อาจคาดเดาสิ่งที่อยู่ในหน้าถัดไป หรือในบทถัดไปได้เลย

คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ เป็นหนังสือที่อ่านไม่ยาก ไม่น่ากลัว
ต่างไปจากภาพลักษณ์ที่เรานึกไว้
อ่านไปแค่ 1 – 2 บทสั้นๆ ก็พร้อมจะเครื่องติด
แม้จะไม่ค่อยเข้าใจ
แต่วิธีเล่าเรื่องด้วยบรรยากาศระทึก พิศวง งุนงง ก็ชวนติดตาม

เราเคยได้ยินผู้อ่านคนหนึ่ง (หรือหลายคน?)
บอกว่าอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่รู้เรื่อง แต่สนุก
ตอนนั้น เรานึกภาพไม่ออก แต่ตอนนี้ เราพอเข้าใจแล้ว

เรื่องแปลกๆ ทั้งหลาย ผสมปรุงกันใน คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ
ทำให้มันมีรสชาติสนุก เป็นความสนุกไม่ต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจก็ได้
โลกคู่ขนาน อีกหนึ่งมิติพิลึกพิลั่น
เรื่องประหลาดอันเป็นปกติ
คนคุยกับแมว ปลาและปลิงจากฟากฟ้า
มนุษย์ธรรมดาที่แปลกพิสดาร
แมว ห้องสมุด เพลงคลาสสิก เนื้อเพลงปริศนา ฯลฯ

ทั้งหมดอัดแน่นไปด้วยมวลอารมณ์
เป็นครั้งแรกที่เราสัมผัสได้จากงานของมูราคามิ
รัก เศร้า เหงา โรแมนติก

ในการอ่านมูราคามิครั้งนี้ แม้เนื้อหาจะแปลกพิสดารตามเคย
แต่เราไม่พยายามแปล ตีความ ถอดสัญลักษณ์ ฯลฯ
ถ้ากรรมวิธีเหล่านั้นมันจะเกิดขึ้น ก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
เราจะไม่บังคับ ไม่คาดหวังอะไรกับมูราคามิอีกแล้ว

และแล้วเมื่ออ่านถึงหน้าหนึ่ง
ชิ้นส่วนระหว่างเรื่องทั้งสองก็เริ่มมีจุดเชื่อมโยงกันให้เห็น ..

และแล้วเมื่ออ่านถึงหน้าหนึ่ง
การตีความก็เกิดขึ้นด้วย .. อย่างเป็นธรรมชาติ ..
ไม่ต้องบีบเค้น ไม่ต้องบังคับ ..

(การตีความของเรา ซึ่ง .. สปอยล์เล็กน้อยนะคะ)
หรือคาฟกากับนาคาตะ คืออีกครึ่งหนึ่งของกันและกัน?
การเดินทางที่ดึงดูดคนสองคนมาอยู่บนเส้นทางเดียวกัน
หากไม่เคยได้พบกัน .. ตลอดกาล
คนหนึ่งอ่าน อ่าน และอ่าน
อีกคนหนึ่ง สูญเสียความสามารถในการอ่าน
คนหนึ่งฆ่า แต่ไม่มีเลือด
อีกหนึ่งเต็มไปด้วยเลือด แต่ไม่ได้ฆ่า
คนหนึ่งเปิดประตูมิติ
เพื่อให้อีกคนหนึ่งได้ค้นหา ค้นพบ และจากมา
ผู้เปิดประตู เสร็จสิ้นภารกิจ หมดหน้าที่ และจากไป
ผู้ที่หลงเหลือ กอปรรวมอีกครึ่ง แล้วเติบโต เต็มคน?

ยังมีอีกสองคน ที่เรารู้สึกถึงความเชื่อมโยง
จอห์นนี วอล์กเกอร์ กับผู้การแซนเดอร์ส (ผู้พันแซนเดอร์ส)
สองคนนี้มีบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวข้องกัน
ในตอนที่อ่านช่วงท้าย เราคิดว่าจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ กลายเป็นผู้การฯ เลยด้วยซ้ำ
เป็นการเปลี่ยนผ่านหลังความตาย และย้อนกลับมาเพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองก่อ
จอห์นนี วอล์กเกอร์ ฝังปมลงหัวใจของลูกชายตัวเอง
เขาจึงกลับมาอีกครั้ง ในอีกร่างของผู้การแซนเดอร์ส ..
ร่างที่ไม่มีบุคลิกเฉพาะตัว ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ..
ไม่ใช่พระเจ้าหรือพุทธะ
ร่างที่เป็นตัวตนไร้จิต และมีหัวใจที่แตกต่างไปจากมนุษย์
เขากลับมาเพื่อช่วยโฮชิโนะและนาคาตะเปิดประตูมิติ
และปลดปล่อยลูกชายของเขาจากปมที่ฝังแน่นนั้น?

คำถามยอดฮิตในกลุ่มคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้คือ
เราชอบเส้นเรื่องฝั่งไหนมากกว่ากัน?
โดยมวลรวม เราชอบตัวตนของชายชรานาคาตะ
ที่มีชีวิตเรียบง่าย เนิบช้า
ไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต มีชีวิตเพียง ณ ปัจจุบัน
แต่ถ้าถามความอยาก
เราอยากลองมีชีวิตในแบบของคาฟกา เด็กชายผู้หนีออกจากบ้าน
ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นเพียงในบางแง่มุมชีวิตของเขา
เราอยากลองใช้ชีวิตในห้องสมุด อ่านได้มากเท่าที่อยากอ่าน
ไม่ต้องคิดไปไกลถึงสิ่งใด
เมื่ออยู่ที่ห้องสมุดไม่ได้ ก็มีกระท่อมกลางป่าโดดเดี่ยว
อยู่กับความเงียบที่สุด มืดที่สุด ลำพังที่สุด
น้ำ อาหารพร้อมมูล หนังสือล้มหลามอีกครั้ง
อ่าน และคุยกับตัวเอง มอง เห็น และรู้จักตนเอง
ตลอดช่วงชีวิต การได้เป็นเช่นนั้นในห้วงเวลาหนึ่งคือความใฝ่ฝัน

เรายังคงชอบหนังสือที่เล่าถึงหนังสือ ..
ในเล่มนี้ หลายครั้งที่ผู้เขียนจับตัวละครมาคุยกันเรื่องหนังสือ
วิเคราะห์วิจารย์หลายเล่ม บางเล่มก็เล่าเรื่องย่อ
ซึ่งเป็นการพูดถึงหนังสือเล่มต่างๆ อย่างน่าสนใจมาก
นอกจากนี้ หนังสือที่อ้างถึง ยังมีส่วนในการขยายความ
หรืออธิบานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเล่ม
เชื่อมโยงกันพอเหมาะ ลงตัว

สำหรับเรา คนที่อ่านมูราคามิไม่รอดมาหลายเล่ม ..
คนที่รู้สึกเกร็งก่อนอ่านมูราคามิทุกเล่ม
คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับคนที่แก่ตรรกะแบบเรา
หนังสือเล่มนี้ไม่ตลบหลังเรามากนัก
มันมีส่วนที่อ่านแล้วทำให้เราเชื่อได้ว่าโลกในเรื่องมันเป็นเช่นนั้น
และเราก็พร้อมจะสนุกไปกับเรื่องราวของมัน
ไม่เหงาเวิ่นเว้อ ไม่หน่วง ไม่อึน ไม่หว่อง ล้นเล่มเกินเลยจนเอียน
เป็นหนังสือที่น่าจะแนะนำให้กับคนที่เคยไม่ชอบมูราคามิได้ลองอ่าน
หรือแนะนำให้อ่านเป็นเล่มแรกสำหรับใครสักคน

Comments are closed.