อ่านแล้วเล่า

ครอบครัวที่ลัก

เรื่อง ครอบครัวที่ลัก
ผู้แต่ง ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ
ผู้แปล ฐิติพงศ์ ศิริรัตน์อัสดร, สกล โสภิตอาชาศักดิ์
สำนักพิมพ์ Maxx Publishing
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786163711366

ตอนที่เราได้รู้เรื่องย่อของหนังสือเล่มนี้
เราหวนคิดถึงความรู้สึกตอนที่ดูภาพยนตร์เรื่อง nobody knows
และแปลกใจทั้งที่ไม่น่าแปลกใจ .. เมื่อได้รู้จากคำนำว่า
ผู้ที่เขียนหนังสือเรื่องนี้ ก็คือผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนั้นนั่นเอง

ครอบครัวที่ลัก เล่าเรื่องของครอบครัวชิบาตะ
(บางทีก็เรียกว่าบ้านอาระคาวะ?)

ครอบครัวนี้มีสมาชิกอันประกอบไปด้วย ..
โอซามุ ชายวัย 40 กลางๆ แต่ดูแก่กว่าอายุจริง
พ่อผู้ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่รู้จักโต
โนบุโยะ ภรรยาของโอซามุ และรับบทเป็นแม่ของครอบครัว
ฮัตสึเอะ หญิงสูงวัยผู้รับบทเป็นย่า เรียกได้ว่าเป็นเสาหลัก
เพราะเป็นทั้งเจ้าของบ้าน และเป็นเจ้าของเงินส่วนมากที่ใช้จ่ายในบ้าน
อากิ หญิงสาวที่น่าจะนับได้ว่าเป็นน้องสาวของโนบุโยะ เป็นน้าสาวของบ้านนี้
และโชตะ เด็กชายคนสุดท้ายของบ้าน มีอายุราว 10 ขวบ

ในตอนเริ่มเรื่อง ครอบครัวนี้ได้มีสมาชิกคนสุดท้องเพิ่มมาอีกหนึ่งคน
เป็นเด็กหญิงตัวกระจิ๋ว ชื่อว่ายูริ .. หรือริน
เด็กหญิงคนสุดท้ายที่ได้กลายมาเป็นสมาชิกของครอบครัว

ครอบครัวปลอมๆ ครอบครัวนี้ เป็นครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน
เป็นชนชั้นล่างของสังคม บางคนประกอบอาชีพใช้แรงงาน
และบางคนก็เรียกได้ว่าเป็นมิจฉาชีพชั้นกระจอก ลักเล็กขโมยน้อย
เป็นการรวมตัวกันของตัวกระจอก
แต่ถึงอย่างนั้นก็เรียกได้เต็มปากว่าเป็นครอบครัว

ผู้เขียนค่อยๆ เปิดเผยบทบาทของแต่ละตัวละคร
รวมถึงเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคน
ผ่านฉากและการกระทำของพวกเขา
เราค่อยๆ เห็นความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดของสมาชิกในบ้าน
เป็นความห่วงหาอาทรคล้ายครอบครัว ..
แต่เป็นครอบครัวที่ทุกคนกำหนดบทบาท สร้าง .. และเลือกมันขึ้นมาเอง

ตรงข้างล่างนี้อาจจะติดสปอยล์นิดนึงนะคะ
ยากที่จะเล่าถึงหนังสือเล่มนี้ โดยไม่เล่าเรื่องเลยจริงๆ
แต่ถึงอย่างนั้น อรรถรสของหนังสือเล่มนี้
ก็ไม่ได้อยู่ที่เรื่องที่เราเล่าพวกนี้หรอก
เราว่ามันอยู่ที่อารมณ์และความรู้สึก
ที่ผู้เขียนพาเราไปในขณะที่อ่านมันต่างหาก

ฉากที่เราชอบมากเป็นพิเศษ คือฉากที่ทุกคนรวมตัวกัน ‘ฟัง’ เสียงดอกไม้ไฟ
มันแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างพวกเขาเองกับสังคมภายนอก
แต่ทั้งๆ ที่แตกต่าง .. พวกเขาเองก็มีความสุขกันดีในแบบของพวกเขา

ในตอนท้ายของเรื่อง (ยังสปอยล์อยู่อีกหน่อย)
ตอนที่มีตำรวจ 2 คน มาเอะโซโนะ กับมิยาเบะ โผล่ออกมาในตอนท้าย
เรารู้สึกเลยว่าผู้เขียนตั้งใจส่งเขาทั้งสองคนมา –
เป็นตัวแทนของผู้คนในสังคมแห่งการชี้นิ้ว
สังคมแห่งการตัดสินคนอื่นผ่านมุมมองแคบๆ ของตัวเอง

สุดท้ายแล้วเราก็ไม่อาจรับรู้เรื่องทั้งหมดหรอก
แต่เราก็ได้ตัดสินพวกเขาลงไปแล้ว .. ให้โทษพวกเขาลงไปแล้ว ..
และคิดว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นตัวแทนของความดีงาม ..
นี่แหละ สังคมมนุษย์แบบที่เราอยู่กัน

เรื่องบางเรื่องเริ่มต้นเศร้า แต่จบสุข
แต่หนังสือบางเรื่องก็เริ่มต้นด้วยความสุข และจบลงด้วยความเศร้า
หนังสือเล่มนี้ .. ดีงามสมคำร่ำลือค่ะ

 

Comments are closed.