อ่านแล้วเล่า

กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้

หนังสือชุด ๑๐๐ ปีขุนวิจิตรมาตรา
เรื่อง กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้
ผู้แต่ง กาญจนาคพันธุ์
สำนักพิมพ์ สารคดี
เลขมาตรฐานหนังสือ 9744840064

นับได้ กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ ว่าเป็นภาคต่อของหนังสือ เด็กคลองบางหลวง
คือผู้เขียนกำลังจะเข้าโรงเรียน จึงได้ย้ายมาอยู่กับอาผัน อาแท้ๆ ของผู้เขียน
ผู้ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างทำฟันมีชื่อเสียงบนถนนแพร่งนรา
(ในเล่มจึงมีการเล่าเรื่องร้านหมอฟันและการทำฟันสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนด้วย)
เมื่อผู้เขียนย้ายมาอยู่กับอา ก็ได้เที่ยวเล่นอยู่ในย่านนั้นเป็นเวลาหลายปี
จึงได้รื้อความทรงจำนำเรื่องย่านต่างๆ ในเขตพระนคร
ไม่ว่าจะเป็นย่านสามแพร่ง ถนนตีทอง ถนนเฟื่องนคร ถนนอัษฎางค์ ถนนราชินี
ถนนตะนาว ถนนดินสอ ถนนมหาราช ถนนสนามไชย ถนนมหาไชย
ถนนหน้าพระลาน ถนนท้ายวัง ถนนหน้าพระธาตุ ถนนราชดำเนินนอก
ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินใน ถนนเจริญกรุง ถนนบ้านหม้อ
ถนนราชวงศ์ ถนนบำรุงเมือง ฯลฯ ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
(ราวร้อยปีก่อน) มาเล่าให้เราฟังรวมไว้ในเล่มนี้

ซึ่งที่ผู้เขียนเล่านี้ ยอมรับว่าบางเราเรื่องก็นึกตามได้ยากเหมือนกัน
เนื่องด้วยว่ายุคสมัยต่างกันมาก
และภาพของสถานที่ต่างๆ ที่ผู้เขียนเล่าถึง เราก็ยังไม่แม่นพอ
บางครั้งผู้เขียนบอกเส้นทางวนไปมากลับมาที่เดิมอีกครั้ง
อ่านผ่านๆ ก็ทำให้เบลอได้

บางครั้งเมื่อถึงสี่แยก ผู้เขียนพูดถึงฝั่งตรงข้าม
ก็นึกตามไม่ถูกว่าฝั่งไหน
มัวแต่งงๆ ความสนุกเลยลดลงไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ผู้เขียนก็ได้ย้อนกลับมาเล่าซ้ำถึงบางสถานที่บ้าง เพราะถนนทอดตัดกันไปมา
เมื่อเล่าถึงเส้นถนนที่เคยเล่าแล้วก็มีการเท้าความให้พอจำได้
พออ่านซ้ำๆ เข้าก็เริ่มมีภาพในหัว ช่วยให้พอนึกตามได้บ้าง
และอ่านไปก็ต้องคอยเปิดแผนที่ประกอบไปด้วย

การอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องสมัยก่อน
เราพบว่าหนังสือที่อ่านไปหลายเล่มเล่าเรื่องในยุคเดียวกัน
บางครั้งก็เล่าเรื่องเดียวกัน
อย่างเรื่องสนามน้ำจืด ซึ่งเป็นประปาแห่งแรกของเมืองไทย
หรือเรื่องท่าช้างที่มีการพาช้างหลวงไปอาบน้ำ
เรื่องถนนสายเก่าอย่างเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ฯลฯ
รวมไปถึงย่านเก่าๆ ร้านค้า และผู้คน
ซึ่งแม้ผู้เขียนแต่ละท่านจะเล่าเรื่องเดียวกัน
แต่ประสบการณ์ของผู้เขียนก็ทำให้เรื่องเหล่านั้นมีหลายมุมมองไม่ซ้ำกัน
เราได้เก็บตกรายละเอียดจากเรื่องหนึ่งผสมกับเรื่องหนึ่ง
ต่อเติมภาพในใจที่ไม่ค่อยชัดในคราแรกอ่าน
ให้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อได้อ่านผ่านมุมมองของนักเขียนท่านอื่นๆ อีก
เป็นต่อจิ๊กซอภาพประวัติศาสตร์ในหัวตัวเอง ซึ่งก็สนุกดี
เราว่านี่เป็นเสน่ห์ของการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์นะ

 

 

Comments are closed.