อ่านแล้วเล่า

ไปรษณีย์ใต้

95-2 ไปรษณีย์ใต้

เรื่อง ไปรษณีย์ใต้
ผู้แต่ง อังตวน เดอ แซงแต็กซูเปรี
ผู้แปล นารีรัตน์
สำนักพิมพ์ นาคร
ราคา 120 บาท

เรื่องราวใน ไปรษณีย์ใต้ .. คือเรื่องราวของอังตวน แซงแต็กซูเปรี
ซึ่งอวตารลงมาในร่างของจาคส์ แบร์นีส์ ..
บางเศษเสี้ยวของเขา คือแบร์นีส์ และบางเศษเสี้ยวของแบร์นีส์ คือตัวเขา

95-1 ไปรษณีย์ใต้

เรื่องเล่าที่เกิดขึ้น เป็นคล้ายๆ เรื่องเล่าจากบุคคลที่สาม .. เพื่อนของแบร์นีส์
เรื่องย่อสั้นๆ มีเพียงว่า ..
จาคส์ แบร์นีส์ กลับไปยังบ้านเกิดหลังจากที่จากไปนาน
เขาได้พบกับ เจเนเวียฟ คนรักเก่าซึ่งแต่งงานไปแล้ว
ชีวิตสมรสของเธอปราศจากความสุข
และเขาก็รู้สึกชาชินกับเมื่องที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย
ความเหงา จิตตก และการไร้ซึ่งความสุข
ทำให้คนสองคนตัดสินใจที่จะหนีจากทุกอย่างไปเผชิญชีวิตใหม่
ชีวิตแห่งความฝัน ความหวัง และความสุขที่รอคอย
หากชีวิตจริงไม่เป็นเช่นนั้น แม้จะไม่มีใครติดตามมา แต่การหนีไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด
ปัญหาเกิดขึ้นตลอดการเดินทาง
เขาและเธอได้พบว่า แท้ที่จริงแล้ว การหนีไปด้วยกันอาจไม่ใช่หนทางแห่งความสุข
มันล้มเหลวก่อนที่จะพบความสำเร็จดังหวัง
และต่างคน ก็ต่างกลับไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ของตน

เมื่อเวลาผ่านไป เขาย้อนกลับมายังเมืองนี้อีกครั้ง
มาเพื่อค้นพบเรื่องราวบางอย่าง ที่ทำให้เขาตั้งคำถามกับตนเอง
ถึงจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตมนุษย์ ..
คำถาม .. การแสวงหา .. และคำตอบที่เขาค้นพบ? เพียงคนเดียว

95-4 ไปรษณีย์ใต้

แซงแต็กซูเปรีเป็นส่วนผสมของสองสิ่ง .. นักบิน และนักประพันธ์
เป็นไปได้ที่มีนักบินบางคน มีสายตามองสิ่งต่างๆ เช่นเขา
หากแต่ไม่อาจถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียน
และนักประพันธ์ทั้งปวง ก็ไม่อาจเห็นภาพต่างๆ จากมุมมองที่เขาเห็น

งานเขียนของแซงแต็กซูเปรี จึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เป็นงานเขียนที่ก่อกำเนิดขึ้นจากตัวเขา ได้เพียงคนเดียว

95-3 ไปรษณีย์ใต้

ไปรษณีย์ใต้ เป็นหนังสือเล่มบางๆ ที่อ่านไปได้อย่างเชื่องช้ามาก
หน้าหนึ่ง ใช้เวลาอ่านทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่หลายเที่ยว
บางครั้งก็เปิดอ่านไปถึงไหนต่อไป แต่ก็ต้องพลิกย้อนกลับมาดูตอนต้นบทอีกครั้ง
หนังสือเพียงร้อยกว่าหน้า แต่อ่านซ้ำไปซ้ำมาราวกับมันมีอยู่สักสามสี่ร้อยหน้า

ไม่รู้ว่าในช่วงแรกๆ ที่เราอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่อินนี่ ..
การแปลมีส่วนด้วยหรือเปล่า

อาทิเช่น เราไม่สามารถแปลประโยคนี้ออก ..

“ฉันไม่อาจท่องเที่ยวไปในที่ซึ่งความทรงจำถึงเจเนเวียฟ
และแบร์นีส์จะทำให้ฉันทรมาน
โดยไม่รู้สึกมากไปกว่าเสียใจเพียงแค่ขี้เล็บหรือ”

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังมองเห็นความสละสลวยทางภาษาบางอย่าง
ที่ผู้แปลพยายามแปล เดาได้ว่าภาษาที่เป็นต้นฉบับ
น่าจะเป็นภาษาที่งดงามมาก
และน่าเสียดายที่ข้าพเจ้าอ่อนอังกฤษ และความรู้เป็นศูนย์สำหรับภาษาฝรั่งเศส

90-5 ไปรษณีย์ใต้

สิ่งที่ดีที่สุดของหนังสือเล่มนี้ กลับกลายเป็นบทวิเคราะห์ท้ายเล่ม
ที่เขียนโดย แฌร์แมน เบร-มากาเร็ต ไกดัน
และแปลโดย สดชื่น ชัยประสาธน์ ซึ่งกลับสละสลวย ลึกซึ้ง

และทำให้เราเข้าใจ ไปรษณีย์ใต้ ได้มากกว่าที่อ่านมาตั้งแต่หน้าแรก
และช่วยให้เราค้นพบความน่าทึ่งของแซงแต็กซูเปรี
ถ้าจะให้ดี สงสัยต้องพยายามอ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษดูบ้าง
อาจจะประทับใจเล่มนี้มากกว่านี้

Comments are closed.