อ่านแล้วเล่า

โสกไผ่ใบข้าว

10-1 โสกไผ่ใบข้าว

เรื่อง โสกไผ่ใบข้าว
ผู้แต่ง จตุพร แพงทองดี
สำนักพิมพ์ มติชน
ราคา 200 บาท

เลือกหยิบ โสกไผ่ใบข้าว มาอ่านต่อจาก บึงหญ้าป่าใหญ่
เพราะรู้สึกว่าสองเล่มนี้มีกลิ่นอายเดียวกัน .. กลิ่นอายของชนบท และกลิ่นอายของอดีต
โสกไผ่ใบข้าว เป็นหนังสือที่ถือกำเนิดขึ้นจากความโหยหาอดีตของผู้เขียน
ความงดงามของท้องทุ่งข้าว ความสมบูรณ์ของป่าไผ่ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต
ภาษาในเล่มนี้อ่านง่าย และดูคุ้นเคยมากกว่าบึงหญ้าป่าใหญ่  (ที่ต้องอ่านวาง อ่านวางเป็นระยะ)
แต่ความขลังก็ลดลงตามกัน

โสกไผ่ใบข้าว บอกเล่าความอุดมสมบูรณ์ของอาหารจากป่า
เล่าผ่านสายตาของเด็กหญิงคำดั้ว ที่ซุกซนดั้นด้นไปยังที่ต่างๆ
และบอกเล่าสู่เรา ด้วยภาษากลางกึ่งภาษาถิ่น (ภาคอีสาน)
มีศัพท์เฉพาะภาษาถิ่น พร้อมด้วยชื่อในภาษากลางตามมาในวงเล็บครบถ้วน

เหตุการณ์โดยตลอดเรื่องเกิดขึ้นในฤดูทำนา คือต้นฤดูฝนชุ่มฉ่ำ
บอกเล่าประเพณีและความเชื่อต่างๆ ที่กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตประจำของชาวนา
วิถีการกิน การอยู่ การเก็บผักหญ้า การจับแมลง หนูนา กบเขียด ฯลฯ
วิถีการทำนา การทำบุญ วิถีแห่งความสุขอันง่ายงาม
รวมทั้งขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการทำนาเอาไว้เป็นลำดับ
แทรกแซมด้วยการเล่นซนของเด็กๆ สนุกบ้าง ไม่สนุกบ้าง
โดยเฉพาะตอนที่เล่าถึงความเอาแต่ใจ และไม่ยอมใครของอี่วร เพื่อนของคำดั้ว
อ่านแล้วหงุดหงิดติดหมัดขึ้นมาเลย

อาหารท้องถิ่นถูกบรรยายตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงวิธีทำชวนน้ำลายสอ (เป็นบางเมนู)
แต่หลายเมนูก็ชวนตื่นตาปนความรู้สึกหยึยๆ
ที่เห็นได้ชัดเจนในเล่มนี้คือ มนุษย์และธรรมชาติ มีวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
เป็นวิถีดั้งเดิมที่ทำให้ระบบนิเวศน์สมดุล คนอิ่ม และธรรมชาติก็ยังคงอยู่รอด

จำนวนตัวละครในเรื่องเยอะมาก
ชาวบ้านในหมู่บ้านหนึ่งๆ ก็ล้วนแต่เป็นญาติเกี่ยวดองกัน
ล้วนแล้วแต่เป็นไทเฮือน หรือไทพี่น้องกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งนั้น
พ่อใหญ่เกิ่ง (เจ้าโคตร) แม่ใหญ่ทองพา ป้าบัวพัน (แม่บัวระบัด) ป้านางทอง
ป้าจันตา ป้านางนัน ลุงปาน ลุงทิดคาน แม่ น้าชาย(อ้ายบุญ)
เอื้อยวาด เอื้อยพั้ว เอื้อยพวง  อี่วร อี่นวล อี่บิ้ง อ้ายเคนดี บักเคนกล้วย อ้ายหวัน ฯลฯ
อ่านทีแรกก็สุดที่จะจำตัวละครอยู่เหมือนกัน

ข้อด้อยนิดหน่อยที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ขาดเสน่ห์ลงไปคือ
จังหวะการเล่าเรื่องเรื่อยๆ เนิบนาบ ไม่มีจุดพีค
และจบห้วนๆ ไปหน่อย จบเหมือนไม่จบ อาจเป็นเพราะว่ามีเล่มต่อ ตามมาอีกสองเล่ม
คือลมแล้งเริงระบำ และอีเกิ้งดวงกลม
แต่มันก็น่าจะมีสัญลักษณ์บางอย่างที่ให้ความรู้สึกว่าจบตอนสักนิด

แม้ว่า โสกไผ่ใบข้าว จะไม่จับจิตจับใจเราเท่าไร
แต่เชื่อว่าถ้าเป็นคนอีสานมาอ่าน น่าจะอินมากกว่าเราแน่ๆ ค่ะ

Comments are closed.