อ่านแล้วเล่า

เวียงกุมกาม

02 เวียงกุมกาม

เรื่อง เวียงกุมกาม
ผู้แต่ง ทมยันตี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา 300 บาท (1 เล่มจบ)
(แนะนำให้ไปซื้อในงาน ณ บ้านวรรณกรรมรักคุณ ที่สยามสมาคม (อโศก)
ที่จัดช่วงกลางปี กับปลายปี จะได้ลดถึง 35 % เลยทีเดียว)

เวียงกุมกาม เป็นหนังสือที่พกติดตัวไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด 1 – 2 ปีที่ผ่านมา
ไม่ได้เป็นหนังสือที่รักมาขนาดต้องอ่านหลายๆ รอบ
แต่เป็นหนังสือที่ (เริ่มต้น) อ่านได้ยากมาก
(ซึ่งก็เป็นสไตล์ของทมยันตีในหลายๆ เล่มน่ะแหละ)
เพราะมันมีภาษาเฉพาะ (สำหรับเรื่องนี้เป็นภาษาล้านนา)
ต้องอ่านไปสัก 6 – 7 ตอน ถึงจะเริ่มชิน
พอชิน ทีนี้ก็สนุกละ .. เรื่องนี้ก็เช่นกัน

แต่ไอ่เราดันไปช้าตอนต้นๆ เรื่องไง เลยใช้เวลาอ่านมันเป็นปี
หยิบ เก็บ หยิบ เก็บ ตลอด ไม่เคยพ้นบทที่ 3 เลย
จนกระทั่งวันหนึ่ง เกิดรำคาญตัวเองที่หนังสือเล่มเดียว อ่านไม่รู้จบอยู่นั่นแหละ
ก็เลยกลั้นอกกลั้นใจอ่านยาวให้พ้นช่วงแรกๆ ไปก่อน
ทีนี้ก็ไม่ต้องบังคับตัวเองแล้ว
ความสนุกของหนังสือจะพาเราเดินทางไปจนจบเล่มได้เอง

ช่วงแรกของเวียงกุมกาม ดำเนินเรื่องกระโดดเร็วมาก
(แต่ต้องผ่าน 2 – 3 บทแรกไปก่อนนะ)
พระเอก (พระยามังราย) เจอนางเอกแป๊บเดียว
นึกว่าจะมีการไปแอบดูตัวกันอีกหลายครั้งเหมือนเรื่องอื่นๆ แต่ก็ไม่
เปิดไปอีกหน้า เป็นงานอภิเษกเสียแล้ว เล่นเอาต่อมจิ้นแทบไม่ได้ทำงาน

เวียงกุมกามเป็นนิยายสลับประวัติศาสตร์ ไม่ใช่อิงประวัติศาสตร์ธรรมดาๆ
แต่ผู้เขียนเล่านิยายไป สักพักก็จะเปลี่ยนเป็นเล่าประวัติศาสตร์เชื่อมต่อเหตุการณ์ไปด้วย
ซึ่งก็นับว่าแปลกดี คิดเล่นๆ เอาเองว่าเหมือนป้าอี๊ดแกจะรีบเขียน คิดได้แล้วก็เขียนเลย
ไม่ได้เรียบเรียงให้เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ต่อเนื่องไปทั้งเรื่องแบบเรื่องอื่นๆ

ถ้าใครมาถามตอนกำลังอ่านช่วงแรกๆ ว่า “เรื่องนี้สนุกมั๊ย”
ก็ตอบไปก่อนเลยว่า “ไม่สนุก”
เพราะความตั้งใจแรกเริ่ม คิดว่าจะได้อ่านนิยายสักเรื่อง
ที่ผูกเป็นเรื่องราว เล่าชีวิตของตัวละคร
(แม้ว่าจะเป็นตัวละครที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ก็เหอะ)
แต่ถ้าเราตั้งใจจะอ่านหนังสือประวัติศาสตร์
ที่เล่าพระราชประวัติของมหาราชองค์หนึ่งของไทยเอาไว้แต่แรกแล้วล่ะก็
หนังสือเล่าประวัติฯ เล่มนี้อาจจะสนุกกว่านี้

เราไม่รู้ที่มาที่ไปของพระยามังรายเท่าไร
ไม่รู้ว่าในบันทึกจริงๆ เขาเขียนเอาไว้ว่ายังไง
แต่เราชอบการตีความของทมยันตี
ที่แม้จะให้เกิดรักหลายเส้า แต่ก็ผิดเพียงหัวใจรักเท่านั้น
ไม่มีใครหลงผิด ประพฤติผิด ให้เสื่อมเสียพระเกียรติเลยสักคน

แม้เรื่องราวจะหม่นเศร้า ซึมๆ ตื้อๆ
แต่ก็ไม่ผิดหวังในตัวละครใดสักตัว
ถ้าคนรุ่นใหม่ได้หัดที่รักแบบนี้บ้าง โลกยุคนี้คงไม่วุ่นวายขนาดนี้

ถูกใจที่สุดเห็นจะเป็นช่วงท้ายเรื่อง
ที่แม้ตัวนิยายจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปไม่ได้มาก
แต่ทมยันตีก็ยังเป็นทมยันตี
ป้าอี๊ดเพิ่มบทภาคปัจจุบัน เป็นภาค “กลับชาติมาเกิด” สมใจคนอ่านที่สุด
แถมตอนจบ ยังจบได้คลาสสิค ไม่จบแหววเป็นนิยายโรแมนติคทั่วไปอีกด้วย
อ่านจบแล้วคิดถึงสาปพระเพ็งเลยทีเดียว 555

รีวิวหนังสือเล่มนี้มาเสียยาว
คงเป็นเพราะอ่านนาน (โดยเฉพาะช่วงต้นอ่านหลายรอบมาก 555)
ระหว่างอ่านแต่ละช่วงแต่ละตอน ก็มีความคิดต่างๆ วิ่งเข้ามาในหัวเต็มไปหมด
แถมยังเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เนื้อเรื่องดำเนินไป
ทำให้รีวิวยาวอย่างที่อ่านมาแล้ว
คิดเสียว่า ไม่ได้มาเล่าเรื่องย่อ
แต่เป็นการเม้าท์ความรู้สึกที่มีต่อหนังสือที่อ่านแล้ว
คิดเสียว่ามาเล่าสู่กันฟังละกันนะคะ ^^

Comments are closed.