อ่านแล้วเล่า

เวลาในขวดแก้ว

118-1 เวลาในขวดแก้ว

เรื่อง เวลาในขวดแก้ว
ผู้แต่ง ประภัสสร เสวิกุล
สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า
ราคา 60 บาท

เวลาในขวดแก้ว .. สำนวนสวยมาก
ตัวหนังสือสามารถให้อารมณ์ ความรู้สึก
หรือบรรยายบรรยากาศได้ตามแต่ผู้เขียนจะบัญชา
ผู้เขียนเล่าเรื่องด้วยสำนวนที่แฝงความเศร้าสร้อยแทรกเอาไว้จางๆ
ราวกับจะบอกเราเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า นี่คือเรื่องราวแห่งโศกนาฏกรรม

จากเด็กชายวัยสิบสี่ที่ค่อยๆ เติบโต ผ่านวันเวลาเลวร้ายของครอบครัว
ผ่านชีวิตวัยรุ่นโชกโชน
มีมิตรภาพ มีความรัก มีความทรงจำ มีความสุข และมีความเศร้า .. และความตาย

118-4 เวลาในขวดแก้ว

ตัวละครในเรื่องมีไม่มาก
และแต่ละตัวล้วนแต่มีส่วนช่วยขยี้ปมของเรื่องให้สะเทือนใจได้สุดอารมณ์

แม่ของนัต ผู้หญิงผู้กราดเกรี้ยว ทุกข์ตรม
และเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุแห่งครอบครัวอันแตกร้าว
นัต
เด็กชายอายุสิบสี่ จากครอบครัวธรรมดาๆ ที่แม่เป็นหลักของครอบครัว
ในขณะที่พ่อ .. เป็นเพียงภาพเงารางเลือนที่แสนสุขของลูก และแสนทุกข์ของแม่
และสิ่งหนึ่งที่เราหลงลืมไปนานแล้วก็คือ .. จริงๆ แล้วนัตคนนี้เป็นเด็กอ้วน
จ๋อม หญิงสาวอายุสิบเจ็ด จากครอบครัวมหาเศรษฐี
หญิงสาวสวย บอบบาง น่าทนุถนอม ที่เป็นดังเจ้าหญิงในสายตาของใครๆ รวมทั้งนัตด้วย
ความขาดเหงาในใจของทั้งสองคน ดึงดูดเด็กทั้งคู่ให้ใกล้ชิดสนิทใจ
เพราะต่างฝ่าย ต่างเป็นเพื่อนเพียงน้อยคนของกันและกัน
ป้อม เด็กผู้หญิงที่มีความเป็นเด็กผู้หญิงน้อยที่สุด
น้อย .. จนหลายคนในกลุ่มหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้ว เธอมีความเป็นผู้หญิงอยู่เต็มตัว
เอก ลูกชายของครอบครัวคนจีนที่บ้านทำการค้าขาย ตั้งใจเรียน มีเป้าหมายของชีวิต
เป็นคนที่อยู่ในกรอบ ในระบบที่สังคมรังสรรค์ แต่เขาก็เข้ากับเพื่อนๆ ได้ดี
ชัย นักกีฬาฟุตบอลโรงเรียน ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นทหารเหมือนพ่อ
แต่ชีวิตกลับพลิกผัน ผิดพลาด ผิดหวัง
ความผิดหวังอันนั้น ได้กอรปรวมเอาเป็นความผิดหวังต่อชีวิตทั้งชีวิตของเขาไปด้วย

118-6 เวลาในขวดแก้ว

เมื่อในวัยเยาว์ เราอ่านเวลาในขวดแก้วด้วยสายตาของวัยลูก
เมื่อเติบใหญ่จนถึงวันนี้ เวลาในขวดแก้วถูกอ่านอีกครั้ง .. ด้วยสายตาของคนที่เป็นแม่

ใช่เพียงแต่ผู้ใหญ่จะมีปัญหาของผู้ใหญ่ เด็กเองก็มีปัญหาของเด็กเช่นกัน
ปัญหาทำให้คนหมกมุ่นอยู่กับตน จนลืมใส่ใจกันและกัน
และวิถีเช่นนั้นกลับทำให้ปัญหายิ่งขยายใหญ่ขึ้นจนเกินเยียวยา
ผู้ใหญ่มีความทุกข์แบบผู้ใหญ่
และเด็กก็มีความทุกข์เพราะดูดซับแบกรับความทุกข์ขึงตรึงเครียดจากผู้ใหญ่ในครอบครัว
เป็นความทุกข์ที่ไม่ได้ไหลบ่าโหมกระพือ แต่ค่อยๆ แทรกซึมลึกลงในใจ

ในห้วงเวลาแห่งความทุกข์ ผู้ใหญ่มีวิธีแก้ปัญหาของผู้ใหญ่
แต่เด็กๆ .. มีเพื่อน .. กลุ่มเพื่อนที่จะอยู่ด้วยกัน แบ่งปันทั้งทุกข์สุข และทุกๆ สิ่ง
เด็ก ย่อมมีความคิดอย่างเด็ก .. ต่อให้เป็นเพื่อนที่ดี ก็ดีได้อย่างเด็กๆ
ตัดสินแก้ปัญหาไปอย่างสติปัญญาของเด็ก เพียงเท่านั้น
นัตและหนิง รวมทั้งพ่อและแม่
คือตัวอย่างหนึ่งของครอบครัวอันแตกร้าวในสังคมมนุษย์เช่นนี้
ที่ไม่ว่าจะอ่านในยุคใด ก็ยังไม่เคยล้าสมัย

118-3 เวลาในขวดแก้ว

ไม่ว่าครอบครัวจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าพ่อและแม่จะเป็นคนเช่นไร
แต่ความรักของพ่อและแม่คือของจริง
พวกเขาคือมนุษย์ มีรัก โลภ โกรธ หลง และนานากิเลสไม่ต่างจากเรา
สามารถตัดสินใจเลือกทางชีวิตที่ผิด เลือกปฏิบัติและแสดงออกต่อลูกในวิถีที่ผิด
แต่ความรักนั้น .. ยังคงมีอยู่จริง

118-5 เวลาในขวดแก้ว

นับจากวันที่ผู้เขียนได้รังสรรค์เวลาในขวดแก้วขึ้นมา
ชีวิตของนัต จ๋อม ป้อม เอก และชัย คงเป็นอุทาหรณ์ให้กับหลายต่อหลายครอบครัว
ที่ได้อ่าน ได้ดู ได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขา
และเวลาในขวดแก้ว ยังคงเป็นบทเรียนสอนใจที่ดีเสมอ .. จวบกระทั่งทุกวันนี้

118-2 เวลาในขวดแก้ว

นอกจากเรื่องราวของครอบครัว
เวลาในขวดแก้วยังสอดแทรกความคิดปรัชญาที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในยุคหนึ่งด้วย
ยุคแห่งการต่อต้านการแบ่งชนชั้น ยุคที่นักศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการเมืองของประเทศ
ยุคแห่งการเรียกร้องสิทธิแห่งความเสมอภาคอันเรียกว่าประชาธิปไตย
ยุคของ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519
(ในเรื่อง กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นสำคัญ)

ในเวลาในขวดแก้ว มีชื่อหนังสือดีๆ ซ่อนอยู่เต็มไปหมด
ตัวละครหลายตัวอ่านหนังสือ
อย่างเช่น เด็กผู้ชายในเรื่อง อ่านนิยายบู๊ล้างผลาญ
ป้อมอ่านหนังสือของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์, คาลิล ยิบราน, รพินทรนาถ ฐากูร ฯลฯ
หนิงอ่านเรื่อง ‘แม่’ ของแมกซิม กอร์กี้ และอ่านอะไรหลายๆ อย่างคล้ายกับป้อม
จ๋อมเองก็อ่านหนังสือ และชอบอ่านนิทานมากเป็นพิเศษ
หนังสือต่างๆ ที่ตัวละครเหล่านี้อ่าน ก็ได้บ่งบอกถึงอุปนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิด
ของตัวละครเหล่านั้นอย่างชัดเจนด้วย

นอกจากหนังสือ ผู้เขียนยังกล่าวถึงเพลงสากลอีกมากมาย ในชื่อที่แปลงเป็นไทย
ทั้งชื่อเพลง และเนื้อเพลง แปลได้ไพเราะ ไม่ขัดหูเลยแม้แต่น้อย
(รวมทั้งเพลงเวลาในขวดแก้วอันโด่งดังด้วย)

118-7 เวลาในขวดแก้ว

Comments are closed.