อ่านแล้วเล่า

เมฆาสัญจร

เรื่อง เมฆาสัญจร
ผู้แต่ง เดวิด มิตเชลล์
ผู้แปล จุฑามาศ แอนเนียน
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740210566

คำเตือน .. รีวิวนี้ เล่าไปสปอยล์ไปนะคะ ถึงจะนิดหน่อย แต่ก็มีบางเนื้อหาหลุดรั่วไปบ้าง
ถ้าอยากได้อรรถรสและความเซอร์ไพร้ส์ แนะนำว่าอย่าเพิ่งอ่าน และอย่าเพิ่งดูภาพยนตร์ด้วย
ถ้าเคยดูแล้ว เราว่าน่าจะลืมๆ ไปบ้างแล้วแหละ
อย่าเพิ่งไปรื้อมาดูซ้ำ อ่านหนังสือให้จบก่อน มันจะเซอร์ไพร้ส์กว่าจริงๆ
(จริงๆ เรื่องก็ไม่ได้หักมุมอะไรมากนะ แต่มันจะมีจุดเล็กจุดน้อยที่ถ้าเราไม่รู้มาก่อน มันจะประทับใจมาก)
แต่ว่านะ ถ้าไม่รู้อะไรมาก่อนเลย มันก็จะเริ่มต้นยากหน่อย .. สู้ๆ นะคะ เพื่อความสนุก ^^

เราหยิบเล่มนี้มาอ่านเพราะเชื่อคนง่ายค่ะ
เคยไปอ่าน บทความ ที่บอกว่า ถ้าเราชอบเล่มนี้ น่าจะชอบอีกเล่มนั้นด้วย
ซึ่งหนึ่งในหลายๆ คู่ที่ผู้เขียนบทความเขาอ้างถึงก็คือ
โมบี้ดิ๊ค กับ เมฆาสัญจร นี่แหละ
ซึ่ง .. เมื่อเราอ่านจบแล้วก็พบว่า .. ไม่เห็นจริงเลย
เราเฉยๆ กับโมบี้ดิ๊คมาก แต่กับ เมฆาสัญจร นั้น .. มันต่างออกไป ..

เมื่ออ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เราเห็นความคล้ายระหว่างสองเล่มนี้เพียงน้อยนิด
มันแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย
เมฆาสัญจรพูดถึงยุคสมัยหลากหลายยุค จากอดีตจนถึงอนาคต
ตั้งแต่ยุคมนุษย์หัดเดินเรือ ไปจนถึงยุคหุ่นยนต์ ยุคมนุษย์สังเคราะห์ ยุคโลกแตก ฯลฯ
ซึ่งแปลว่ามันคาบเกี่ยวกับยุคของโมบี้ดิ๊ค แค่เสี้ยวเดียว (คือยุคออกเรือค้นหาแผ่นดินใหม่)
และเป็นเสี้ยวที่คนละพล็อต คนละเรื่องกันเลยด้วย จับมาโยงกันได้ไงไม่รู้ -*-

เมฆาสัญจร เริ่มต้นที่เรื่อง บันทึกท่องแปซิฟิกของอดัม อีวิง
ค.ศ. 1849 – 1850 ในยุคล่าอาณานิคม
เมื่อเรือที่ อดัม อีวิง โดยสารมาต้องมาจอดซ่อมที่เกาะชาธัม (บางทีก็เรียกเรโคฮู) แถบอินเดีย
ระหว่างนั้น เขาพักอยู่ที่โรงแรมมัสเกต โรงแรมแห่งเดียวที่เกาะนี้
ได้พบผู้คน ฟังเรื่องราวการรุกรานชาวเกาะมากว่า 50 ปี
โดยเริ่มต้นจากชาวเมารี และเชื้อชาติผิวขาวอื่นๆ ที่ทยอยกันเข้ามาเต็มไปหมด
ตอนนี้เกาะเต็มไปด้วยสายพันธุ์ผสม มีการแบ่งชนชั้น แบ่งพรรคแบ่งกลุ่ม

อดัม อีวิง ดูจะเป็นคนหัวสมัยใหม่
ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นตั้งแต่แรกเริ่ม
แต่เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา ได้หล่อหลอมให้เขากลายเป็นแบบนั้น
บันทึกของเขาแสดงให้เห็นความย้อนแย้งระหว่างกฏที่ชาวผิวขาวตั้งขึ้น กับสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติจริง
พวกเขาสอนชาวพื้นเมืองเรื่องความสันติ ในขณะที่พวกเขาคือผู้รุกราน
นำพาสงครามให้เกิดขึ้นระหว่าชนเผ่าด้วยกัน
พวกเขาเผยแผ่คำสอนของศาสนา ขณะเดียวกันก็ร่างกฎของศาสนา
เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด
เจ้าของแผ่นดินกลายเป็นทาส ด้วยคำว่าศาสนาเพียงคำเดียว ..

เรื่องของอดัม อีวิง ดำเนินมาได้ประมาณกลางเรื่อง
ผู้เขียนก็เปลี่ยนเรื่องหน้าตาเฉย .. อย่างไม่บอกกล่าว ..
พาเราเข้าสู่ยุคถัดมา .. จดหมายจากเซเดลเกม
ค.ศ. 1931 ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงไปแล้ว และสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่ได้เริ่ม
สำหรับเรื่องในช่วงนี้ ผู้เขียนเล่าเรื่องด้วยจดหมาย
ตัวละครหลักผู้เล่าเรื่อง ซึ่งก็คือผู้เขียนจดหมายนี้คือ โรเบิร์ต โฟรบิเชอร์
เป็นลูกผู้มีตระกูล แต่นอกคอก ..
ถ้าอยู่ในยุคนี้ก็คงจะเรียกกันว่าเป็นเด็กแนว .. เป็นกบฏของครอบครัว
เขาเรียนไม่จบ ใช้ชีวิตอย่างอิสระ เสเพล .. สิ่งเดียวที่อยู่ในหัวของเขาคือดนตรีคลาสสิก
เขาคิดเป็นเพลง เห็นภาพในชีวิตจริงประกอบไปด้วยเสียงเพลงในหัว
เขาอุทิศชีวิตทั้งหมด เพื่อที่จะได้ทำตามใจชอบ ..
เขาอุทิศทั้งชีวิตเพื่ออะไรบางอย่างที่เขาก็ยังไม่รู้ ..
มันคือเพลงเพลงหนึ่ง .. เพลงหกบทเมฆาสัญจร ..

และเช่นเดียวกัน เมื่อเรื่องของโฟรบิเชอร์ยังไม่ทันจบ
ผู้เขียนก็เปิดเรื่องของหลุยซา เรย์ ต่อเลย ..
ครึ่งชีวิต – เรื่องลึกลับครั้งแรกของหลุยซา เรย์
หลุยซา เรย์ เป็นลูกสาวของนักข่าวชื่อดังนามเลสเตอร์ เรย์
ในขณะที่ตัวเธอเป็นคอลัมนิสต์กิ๊กก๊อกของหนังสือหัวบันเทิงเล่มหนึ่ง
เรื่องเกิดขึ้นในยุคที่สงครามโลกครั้งที่สองได้ผ่านพ้นไปแล้ว
สถานที่เกิดเหตุในเรื่องนี้อยู่ที่บิวนาส เยอร์บาส ในแคลิฟอร์เนียร์

ในตอนนี้ รูฟัส ซิกซ์สมิธ ผู้ที่เขียนจดหมายโต้ตอบกับโฟรบิเชอร์ในตอนก่อน
ได้แก่หง่อมเป็นชายวัย 60 ปีแล้ว
เขาเป็นวิศวกรปรมาณูชื่อดังชาวอังกฤษ
ที่มาเป็นที่ปรึกษาให้โครงการใหญ่ยักษ์ .. โรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่เกาะสวอนเนกก์
และเขามีข่าวสำคัญที่จะมอบให้กับนักข่าวที่เขาไว้วางใจได้สักคน ..

เรื่องราวในตอนนี้สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อนทรยศ
แต่มันก็ซ่อนความโรแมนติกเอาไว้ด้วย .. เราชอบนะ
ชอบการอ่านจดหมายของตัวเองในอดีตชาติ ถึงคู่รักที่เป็นเกย์
(ในภาพยนตร์บอกชัดมาก แต่ในหนังสือเรายังไม่แน่ใจ)
เธอได้พบเขาตัวเป็นๆ ด้วย แม้จะถูกชะตากันดี .. แต่กลับไม่มีซีนระลึกชาติ 555
เธอจำเพลงหกบทเมฆาสัญจร ที่โรเบิร์ต โฟรบิเชอร์แต่งได้ .. เหมือนเคยฟังมาก่อน
ฯลฯ
ชอบเรื่องแบบนี้อ่ะ มันโรแมนติกดี >,<

ในตอนถัดมา น่าจะใกล้เคียงกับยุคปัจจุบันที่สุดนะ
เป็นเรื่องของคาเวนดิช .. วิบากกรรมสยองของทิโมธี คาเวนดิช
ตั้งชื่อเรื่องได้สยองมาก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของความติงต๊อง บ้าบอ ..
ตอนนี้เป็นตอนที่เราชอบน้อยสุด รำคาญสุด ..
เป็นเรื่องของ บรรณาธิการสำนักพิมพ์กระจอกแห่งหนึ่ง
ตัวละครสูงวัย มีความเฉิ่ม เชย ทำอะไรไม่คิดหน้าคิดหลัง ..
จนสุดท้ายเขาต้องไปติดแหงกอยู่ในบ้านพักคนชรา
แต่ถึงอย่างนั้นก็ในเรื่องก็ยังสอดแทรกสาส์นบางอย่างจากผู้เขียนด้วยเช่นกัน
เราเห็นสัญญาณการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในวิญญาณของคาเวนดิช
เห็นการต่อสู้ การเรียกร้อง เพื่อความยุติธรรม เพื่อความถูกต้อง ..

ในตอนต่อมา เป็นตอนของโลกยุคอนาคต ..
คำให้การของซอนมี~451
ซอนมี~451 เป็นมนุษย์สังเคราะห์ .. ในยุคที่เกาหลีเป็นมหาอำนาจครองโลก
เธอเป็นบริกรเสิร์ฟอาหารแห่งร้านปาปา
เช่นเดียวกับพี่น้องมนุษย์สังเคราะห์อีกมากมายหลายชีวิต
หากแต่ซอนมี~451 กลายเป็นเพียงหนึ่งเดียวของมนุษย์สังเคราะห์ที่สามารถวิวัฒน์ได้
เธอมีความคิด มีความอยากเรียนรู้ มีความฉลาด และโหยหาอิสรภาพ ความเท่าเทียม ฯลฯ
ความวิวัฒน์ของเธอ ก่อนให้เกิดผลกระทบต่อๆ กันไปเป็นลูกคลื่น
เกิดความโกลาหล การถกเถียง .. ความไม่ไว้วางใจต่อมนุษย์สังเคราะห์มากมาย
(เรื่องในหนังสือซับซ้อนและมีรายละเอียดมากกว่าในภาพยนตร์เยอะมาก)

และแล้วก็มาถึงตอนสุดท้ายที่ต่อจากยุคมนุษย์สังเคราะห์ในเรื่อง
ช่องสลูชาและเรื่องต่อมาหลังจากนั้น
มันคือยุคที่โลกล่มสลาย .. มนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์เหลือกันเพียงกลุ่มก้อนเล็กๆ
กระจัดกระจายกันอยู่ตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ในโลก
เรื่องกลับมาที่โฮโนลูลูอีกครั้ง (ในตอนต้น อดัม อีวิงก็ล่องเรือผ่านที่นี่ด้วย)
ที่เกาะแห่งหนึ่งของฮาวาย มีมนุษย์ชาวผิวขาวรวมกลุ่มอยู่กันเป็นเผ่าต่างๆ หลายเผ่า
เผ่าละหนึ่งหมู่บ้านเล็กๆ ปกครองกันเอง ดูแลกันเอง
มีการค้าขายระหว่างกัน มีเผ่าตัวร้ายอันเป็นผู้ล่าจับเผ่าอื่นมาเป็นทาส
มีเผ่าผู้เจริญที่มีเรือทันสมัยไฮเทคฯ มารับซื้อของเป็นประจำ

ตัวละครผู้เล่าเรื่องในตอนนี้คือ แซครี่ ..
ชายผู้มีความขลาดกลัว มีความไม่รู้ ดังเช่นกับมนุษย์ยุคโบราณ
ความรู้และวิทยาการส่วนมากสูญหายไปหมด
พวกเขาดำรงชีพโดยวิธีใกล้เคียงกันกับมนุษย์ยุคประวัติศาสตร์

การเล่าเรื่องของแซครี่ จบลงในตอนจบ .. หากแต่ไม่จบเล่ม
ผู้เขียนพาเราย้อนกลับไปเล่าอย่างละครึ่งเรื่องที่ค้างเอาไว้
โดยกลับไปที่ซอนมี คาเวนดิช หลุยซา โฟรบิเชอร์ และอดัม อีวิงเป็นคนสุดท้าย
เป็นวิธีเล่าเรื่องที่แปลกแต่เท่ .. เป็นไปได้อย่างที่ไม่มีใครจะนึกออก
(ว่าจะเล่าให้จบยังไง ว่าจะไม่ให้งงยังไง .. แต่ เดวิด มิตเชลล์ ทำได้)

เราชอบที่แต่ละตอนมีสิ่งที่เชื่อมต่อ ส่งถ่ายเรื่องราวจากกันสู่กัน
บันทึกของอีวิงถูกส่งต่อมายังโฟรบิเชอร์
เพลงหกบทฯ และจดหมายของโฟรบิเชอร์ ถูกส่งต่อมายังหลุยส์ซา เรย์
เรื่องราวของหลุยซา กลายเป็นนิยายเรื่องหนึ่งที่ถูกส่งมาให้ บก.คาเวนดิช
และเรื่องราวของคาเวนดิชเอง กลายเป็นภาพยนตร์ส่งต่อถึงซอนมี~451
และที่เหนือที่สุด .. ซอนมีก็ยังคงมีตำนานเล่าขานมาจนถึงยุคโลกล่มสลาย
ปานรูปดาวหาง ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เชื่อมต่อตัวละครแต่ละตัวให้ร้อยเรียงเป็นเส้นชีวิตเดียวกัน

การอ่านเรื่องนี้ .. ในช่วงเริ่มต้น เราผ่านแต่ละหน้าไปอย่างช้าๆ
ช้ามากที่สุดเท่าที่อ่านหนังสือมาในปีนี้ .. แต่พอเครื่องติด มันกลับไปได้เร็วกว่าที่คาดคิด
คราแรกอ่าน .. แต่ละเรื่องดูเหมือนจะเป็นเอกเทศแยกจากกัน
แต่เมื่อเราค้นพบว่าแต่ละตอนมีส่วนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวพัน เชื่อมต่อถึงกันอย่างละเล็กละน้อย
มันสร้างความประทับใจมาก ..
ภาพเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด
เชื่อมโยงกันเป็นภาพใหญ่ภาพเดียวที่เสร็จสมบูรณ์
มันเป็นภาพที่อลังการและสวยงามมาก

การดูหนังมาก่อน ช่วยให้เราอ่านมันได้ง่ายขึ้นเยอะเลย
ในภาพยนตร์นั้น ผู้กำกับเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นไปจนจบ

ในขณะที่ในหนังสือ ผู้เขียนได้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
และจากตอนจบย้อนกลับมาสู่ตอนต้นอีกครั้ง ..
เป็นการยืนยันย้ำสิ่งที่ผู้เขียนคิด และบอกกับเรามาตลอดทั้งเล่ม
ในเรื่องของความเชื่ออันเป็นพื้นฐานของคนตะวันออก
เรื่องวัฏสังสารา .. การกลับชาติมาเกิด
ผู้เขียนเปรียบการเดินทางของเมฆ นับจากหยดน้ำ ระเหยเป็นไอ กลายเป็นเมฆ
ก่อนจะกลั่นตัวกลับมาเป็นหยดน้ำ ในลำธาร ลำคลอง ท้องทะเล และมหาสมุทร
เวียนว่าย .. วนเวียนไปดังเช่นการเดินทางของชีวิต (และนอกเหนือไปจากชีวิต) ของมนุษย์

นอกจากนี้ ยังมีอีกข้อความหนึ่งที่ผู้เขียนส่งถึงเรา ..
ตัวละครในทุกยุคสมัย มีการแบ่งเชื้อชาติ แบ่งชนชั้นแทรกอยู่ในสังคม
ไม่ว่าจะเป็นในโลกจริง (ยุคประวัติศาสตร์) และยุคแห่งจินตนาการ (ถึงโลกอนาคต)

ว่าด้วยเรื่องของสำนวนแปลนั้นดีมาก
กลมกลืนไปกับทุกยุคสมัย ไม่ทำให้เราขัดหูเลยแม้แต่น้อย
ทั้งๆ ที่มันน่าจะแปลยากมาก โดยเฉพาะในยุคแห่งโลกอนาคตของ ซอนมี~451

เมฆาสัญจร มีความเป็นพุทธสูงมาก
เราเชื่อว่า ผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจแก่นของพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ยังรับเอาความเชื่อแบบชาวพุทธ นำมาย่อย ขบคิด และกลั่นกรอง
กลายออกมาเป็นนิยายสัญชาติฝรั่ง แต่มีความกลมกลืนกับชาวตะวันออกอย่างที่สุด
(จริงๆ ผู้เขียนกล่าวถึงสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยเอาไว้หลายครั้งด้วย .. ทั้งในทางบวกและลบนะ)

อย่าไปเทียบ เมฆาสัญจร กับโมบี้ดิ๊คเลย
ถ้าจะให้เทียบ เราอยากจะแนะนำว่า .. “ถ้าคุณชอบ ทวิภพ .. คุณน่าจะชอบเล่มนี้” ซะมากกว่า!!

Comments are closed.