อ่านแล้วเล่า

เครื่องปรุงจักรวาล

65-2 เครื่องปรุงจักรวาล

เรื่อง เครื่องปรุงจักรวาล
ผู้แต่ง Mister Tompkin
ภาพประกอบ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
สำนักพิมพ์ แซลมอน
ราคา 220 บาท

หลังจากหลงทางในสองสามเล่มที่ผ่านมา เราจึงค้นพบว่า ..
นี่ต่างหาก หนังสือที่ว่าด้วยฟิสิกส์สำหรับคนเกลียดฟิสิกส์! .. คำนำเขาว่าไว้อย่างนั้นนะ
และเราก็เริ่มจะเชื่อแล้วด้วย เพราะเขากล่าวไว้ได้น่าจับใจมาก
ไม่เชื่อ แนะนำให้ไปลองเปิดคำนำของผู้เขียน (นะ ไม่ใช่ของสนพ. นะ)
แอบอ่านดูก่อนก็ได้ .. จากร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปค่ะ

จะให้เชื่อมากกว่าเดิม ขอลองเปิดอ่านหน้าถัดไปอีกหน่อย

65-1 เครื่องปรุงจักรวาล

ครอบครองหนังสือเล่มนี้มาเนิ่นนานกว่าจะหยิบมาอ่านค่ะ
และหน้าแรกที่อ่านก็คือปกใน .. และนั่นทำให้เรา (เพิ่ง) รู้ว่า ..
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ก็คือคุณป๋องแป๋ง อาจวรงค์
ผู้เขียนหนังสือสุดดังชื่อ จริงตนาการ (และเล่มอื่นๆ ต่อมาอีก) ให้กับ abook
และก็เป็นคนเดียวกันกับบุคคลที่เป็นแฟนพันธุ์แท้นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกที่เราเคยดู
ใกล้เกลือกินด่างแท้ๆ

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยทฤษฎีสุดๆ
แต่เป็นทฤษฎีแบบขนมๆ แบบที่เต็มไปด้วยภาพประกอบ
เล่าเป็นภาษาพูดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มีคำยาก (จนเกินจำเป็น)
ผู้เขียนคุยกับเราตลอดเวลา ว่าด้วยเรื่องตั้งแต่ของเล็กๆ
อย่างการก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของทฤษฎีอะตอม ไล่มาที่ควอนตัม
กลศาสตร์ควอนตัม (ที่ได้ยินชื่อครั้งใดก็ชวนสยองเสมอ สมัยเรียน)
ปรากฏการณ์ต่างๆ ของอิเล็กตรอน ทฤษฎีบิ๊กแบง หลุมดำ รูหนอน
ทฤษฎีสัมพันธภาพ ฟิวชัน ฟิชชัน คุณสมบัติประหลาดๆ ของแสง
แรงโน้มถ่วง เทอร์โมไดนามิกส์ ฯลฯ

ยิ่งอ่านยิ่งค้นพบว่า นักฟิสิกส์ส่วนมาก
เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจินตนาการบรรเจิดหลุดโลกกันเสียจริงๆ
วิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์ที่ถูกเขียนขึ้นในเล่มนี้ ยังไม่เป็นความรู้จริงแท้แน่นอน
ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปตายตัว แต่ถูกค้นคว้าและค้นพบใหม่ได้เรื่อยๆ
และทฤษฎีเก่าก็พร้อมจะถูกล้มล้างหากมีทฤษฎีใหม่ที่ถูกต้องกว่า
และนั่นคือเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์
การอ่านเล่มนี้ ไม่ได้ทำให้เรารู้แจ้งเห็นจริง
แต่ทำให้เราเข้าใจ เห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์
หรือแม้แต่นิยายวิทยาศาสตร์ชอบพูดถึง
ทำให้เราดูภาพยนตร์ หรืออ่านนิยายวิทยาศาสตร์ได้สนุกขึ้น มีอารมณ์ร่วมมากขึ้น

โดยสรุป เครื่องปรุงจักรวาล เป็นฟิสิกส์ภาคทฤษฎี
ที่นอกจากคนธรรมดาจะควรอ่านแล้ว
เด็กๆ (มัธยมและมหาวิทยาลัย) ก็ยิ่งควรอ่านเข้าไปใหญ่
เพราะเข้าใจง่ายกว่าหนังสือเรียนเยอะ
และเมื่ออ่านจนเข้าใจคอนเซ็ปต์ เข้าใจหลักการกันแล้ว
เราก็ค่อยไปหูตูบกับภาคคำนวนกันอีกที .. 
ประมาณนั้นค่ะ

Comments are closed.