อ่านแล้วเล่า

อสรพิษ และเรื่องอื่นๆ

06-1 อสรพิษ

เรื่อง อสรพิษ และเรื่องอื่นๆ
ผู้แต่ง แดนอรัญ แสงทอง
สำนักพิมพ์ สามัญชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789749748848

อสรพิษฯ ต่อคิวรออ่านแบบจวนเจียนจะได้อ่านมานานแสนนาน
ดองมาตั้งแต่ประกาศผลรางวัลซีไรต์ปีนั้น (พ.ศ. 2557)
แต่พอจะหยิบมาอ่านทีไร ก็มีเหตุให้ถูกเล่มอื่นตัดหน้าทุกทีไป
มาถึงคราวนี้ที่ไม่รู้จะอ่านอะไรขึ้นมา
ไปเมียงมองรายชั้นแล้ว ถึงได้หยิบอสรพิษฯ มาแบบไม่มีคิว
ได้อ่านกันสักที

พ้นจากความรู้สึกอยากอ่าน คือความรู้สึกกลัว ..
คำนำนั้นน่ากลัว ด้วยทั้งภาพลักษณ์ของนักเขียน
(ซึ่งเราขอเรียกว่า ‘ความดุ’)
และคำร่ำลืออันว่าด้วยอีโก้ของนักเขียน

06-2 อสรพิษ

(ไม่รู้ทำไม เพียงแค่อ่านคำนำ
เรารู้สึกว่าคุณแดนอรัญ มีอะไรบางอย่างคล้ายๆ คุณทมยันตี ..)

ส่วนคำนิยม แม้จะเป็นคำนิยมที่ชวนฮึกเหิมมาก
แต่หนังสือแนวแบบนี้ ก็เป็นแบบที่เราหวาดๆ อยู่ร่ำไป .. อยู่แล้ว
อสรพิษฯ เป็นหนังสือแบบที่ใครๆ ก็ว่าดี
นักอ่านชื่อดังต่างออกมาชื่นชม มีแต่รีวิวในทางบวก
กลัวเหลือเกินว่าจะตัวเองจะทวนกระแส (อีกครั้ง)

เรื่องแรก .. อสรพิษ
ในฐานะที่เกิดปีงู และแอบหลงรักงูอยู่หน่อยๆ (จะรักมากก็ไม่ได้ กลัวมันอยู่เหมือนกัน)
แอบเคืองนิดๆ ที่ผู้เขียนยัดเยียดให้งูรับบทผู้ร้ายเกินกว่าธรรมชาติของมัน
(มโนเอาเอาว่างูจริงๆ ไม่น่าจะโจมตีทำร้ายใครก่อน
ฟังมาว่าอย่างนั้น ไม่เคยมีประสบการณ์ตรง)
แต่ถึงจะขัดใจตะหงิดๆ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าฉากจงอางออกโรงนี่ช่างระทึกใจจริงๆ

ผู้เขียนเล่าฉากต่อสู้ของจิตใจงูและคน ว่าใครจะยอมแพ้ก่อนกัน
เป็นฉากการต่อสู้ที่อยู่นอกเหนือสามัญสำนึกมนุษย์มนา
เพราะตัวละครทำในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาๆ เค้าไม่ทำกัน
ลุ้นเหนื่อยมาก
ในตอนจบ จะเรียกว่าหักมุมก็ได้
แต่เรียกว่า ‘เหนือความคาดเดา’ จะตรงกว่า
สมศักดิ์ศรีรางวัลซีไรต์ค่ะ

เรื่องต่อมา .. ดวงตาที่สาม
หญิงสาวตาบอดที่ได้รับการช่วยเหลือจากแฟนหนุ่มผู้มีอันจะกิน
ให้ได้ผ่าตัดดวงตาจนสามารถมองเห็นได้
ดวงตาที่สาม มีคุณสมบัติที่ล้อเลียนนิยายน้ำเน่าได้สมกับที่ผู้เขียนตั้งใจ
ยืดยาดน่าเบื่อสมกับที่ผู้เขียนตั้งใจ
แต่คำตามท้ายบทเต็มไปด้วยเกร็ดวรรณกรรมลึกซึ้งยิ่งนัก

เรื่องที่สาม .. ฝันค้าง
เป็นเรื่องสั้นที่สั้นกว่าเรื่องอื่นๆ
อ่านจบแล้วอุทานออกมาได้คำเดียว .. “ห๊ะ!?”
มันดูคล้ายๆ ‘ดวงตาที่สาม’ จริงๆ น่ะแหละ
เพียงแต่ตอนจบมันชวน ‘ห๊ะ!’ เท่านั้นเอง

ทุ่งร้าง
โทนเรื่องหม่นเศร้าด้วยอารมณ์โหยหาอดีต
โหยหาความอุมดมสมบูรณ์ในเชิงทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า
ที่น้อยคนยุคนี้จะเห็นค่า ..

การดำเนินเรื่องแบบบุคลาธิษฐาน
ที่มีเจ้าวัวตัวหนึ่ง และหญิงชายชราชาวนาอีกคู่หนึ่ง
เปิดโหมดการดำเนินเรื่องไปแบบเศร้าๆ
เหมือนละครฉากสุดท้ายก่อนลาโรง
เป็นอวสานของชีวิตตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในทุ่งนาแห่งนี้
บั้นปลายชีวิตของวัวแก่ ตายาย และอาชีพชาวนาด้วย ..

เสาไห้
ย่อประวัติศาสตร์ไทยมาไว้ในหนึ่งเรื่องสั้น
ผ่านสายตานางตะเคียนที่สิงอาศัยอยู่ภายในต้นตะเคียนทอง
เติบโตตระหง่านผ่านวันคืนมาร่วมพันปี
เทียบเท่าช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

ผู้เขียนเล่าตำนานตำบลเสาไห้จากความทรงจำผนวกจินตนาการ
เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เขาภาคภูมิใจที่สุด
ในฐานะคนอ่านเราชอบนะ
เรื่องนี้มีอารมณ์หม่นเศร้าจางๆ
แต่เรากลับไม่ค่อยรู้สึกเศร้าเท่าไรแฮะ

แมวผี
อ่านเหนื่อย เพราะเหน่อสุพรรณมันทั้งเรื่องเลย
เนื้อเรื่องเท้าความประวัติศาสตร์หนังไทย
ถูกใจเป็นพิเศษสำหรับแฟนพันธุ์แท้ มิตร เพชรา
อ่านจนเหนื่อยกว่าจะรู้ว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวกับแมวตรงไหน
อยากรู้เหมือนกันหรือคะ .. อ่านให้จบซี ;P

รำพันพิลาปเหนือหลุมฝังศพ
ตำนานกรีกแห่งแอคตีออน เอลูธีเรีย และเทพอาเทมิส
เป็นตำนานจริงหรือเปล่า มีส่วนจริงดั้งเดิมแค่ไหน ไม่ทราบได้เลย
ความรู้ด้านนี้เป็นศุนย์เลยค่ะ ^^”
เรื่องนี้เลยเฉยๆ (สำหรับเรา) ไปด้วยเลย

อะ โพเอ็ม ชูล์ด น็อท มีน บัท บี
เราชอบเรื่องนี้นะ ชอบภาษา
ชอบกลิ่นอาย ชอบบรรยากาศ
มันมีแรงบันดาลใจ มีพลังขับเคลื่อนมอบให้คนอ่าน
(ความเห็นส่วนตัวนะอาจเกิดขึ้นเฉพาะเราก็ได้)

เรื่องสั้นนี้ ว่าด้วยเรื่องของบุคคลอันล้มเหลวต่อความฝันของตน
ว่าด้วยเรื่องของนานาบทกวี
มันดีมาตลอด ตั้งแต่ต้นจนถึงตอน (เกือบ) จบ
ใช่! ตอนจบเรื่องนี้ทำเรา ‘ห๊ะ!?’ อีกแล้วสินะ

06-3 อสรพิษ

นฤมิตมายา
ชอบไอเดียเรื่องที่บอกเล่าประวัติศาสตร์
(มีเกร็ดประวัติศาสตร์แปลกๆ สนุกๆ หลายเรื่อง ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องนี้)
ผ่านตัวละครชายคนหนึ่งที่ขึ้นไปฝากตัว ณ วัดโบราณ
เพื่อสำรวจข้อมูลทางประวัติศาสตร์
ระหว่างนั้น เขาได้พูดคุยกับตนเอง
และพูดคุยกับนางหนึ่งที่สถิตย์อยู่เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งนั้น
ประวัติศาสตร์ไทยและล้านนา ถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนาของสองตัวละครนี้เอง

นฤมิตมายา จบลงแบบโรแมนติก และหลอน ในคราเดียวกัน
ชอบเรื่องนี้ค่ะ

เมถุนสังโยค
หนทางการละกิเลสของชีปะขาวเคร่งศีลคนหนึ่ง
ผ่านการท่องป่า และต่อสู้กับความกลัว และความรู้สึกอื่นๆ ในใจตน
อ่านสนุก ตื่นตาตื่นใจ

06-4 อสรพิษ

วันเพ็ญเดือนสิบสอง
เรื่องของ ‘เครา’ ชายชราใจดี
และ ‘ตัวเล็ก’ เด็กชายวัยไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมผู้เป็นเพื่อนซี้
เรื่องสั้นแสบซึ้ง กรุ่นกลิ่นชนบท
อันมีที่มาจากเศษเสี้ยวชีวิตจริงที่หนักหนากว่าหลายเท่า
ความหนักหนาที่เป็นธรรมดาเสียแล้วในสังคมไทย?

06-5 อสรพิษ

แสงแห่งเดือนอันฉายฉาน
เรื่องเหนือจริงอันแสนสามัญ แต่เล่าได้ระทึกใจยิ่งนัก!

อ่านครบทุกเรื่อง เราจึงได้รู้สึกว่า
ความจริงแล้ว แดนอรัญ แสงทอง
ไม่น่าจะเป็นคนอีโก้จัดอย่างภาพลักษณ์ที่เราเห็นหรอก
เขาน่าจะเป็นคนน่ารักพอดู คนหนึ่งทีเดียว
สำนวนภาษาของเขาวาดจินตนาการได้ดีเหลือเกิน
มีบางช่วงที่สัมผัสได้ว่าผู้เขียนเสียดสีสังคมมนุษย์แทรกอยู่ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง

ในทุกเรื่อง ผู้เขียนจะมีคำตามปิดท้าย ซึ่งอ่านสนุกดี
มันเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่มาที่ไปของเรื่องสั้น
เราว่ามันช่วยเต็มเต็มให้เรื่องสั้นเหล่านั้นบริบูรณ์

ทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักแดนอรัญ แสงทองมาก่อน
ไม่เคยแม้แต่จะอ่านงานของเขา
แต่ขณะอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้
เรากลับจินตนาการถึงตัวเขาสวมบทลงไปเป็นตัวละคนต่างๆ
ในแต่ละเรื่องสั้นของเขา โลดเต้น นึกคิด ไปตามบทบาทที่เขาเองเป็นผู้ชักเชิด
ทุกตัวละครคือเขา

เนื้อหาในเล่มดีบ้าง เฉยๆ บ้าง
แปลกดี ที่หนังสือรางวัลเล่มนี้
ไม่ได้ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นที่ ‘เวิร์ก’ ทุกเรื่อง (สำหรับเรา)
แต่เรื่องที่ดี มันก็ดีมากจริงๆ กลบความรู้สึกแย่ๆ จากเรื่องที่ไม่ชอบไปสนิทเลย
สุดท้าย ก็อ่านหนังสือรางวัลซีไรต์จบลงไปด้วยความคิดด้านบวกค่ะ
เป็นซีไรต์ที่อ่านได้ เข้าถึงได้ไม่ยากเท่าที่คิด .. ลองดูนะคะ ^^

Comments are closed.