อ่านแล้วเล่า

สิ้นแสงฉาน

86-1 สิ้นแสงฉาน

เรื่อง สิ้นแสงฉาน
(Twilight over Burma : My life as a Shan Princess)

ผู้แต่ง Inge Sargent
ผู้แปล มนันยา
สำนักพิมพ์ มติชน
ราคา 240 บาท

เรื่องราวเริ่มต้นคล้ายเทพนิยาย
เมื่อเจ้าชายต่างแดนจากอุษาคเนย์ผู้ปิดบังฐานะตนเองได้เข้าศึกษาในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ในอเมริกา
เจ้าชายพระองค์นั้นได้พบรักกับนักศึกษาชาวออสเตรียนผู้มีนามว่าอิเง่ ซาเจ้น
เธอรื่นเริง เป็นมิตร แต่ก็สุขุม เยือกเย็น และนั่นทำให้เขาตกหลุมรักเธอ
ความรักของหนุ่มสาวค่อยๆ บังเกิด และเติบโต จนกระทั่งในวันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจขอเธอแต่งงาน
การตกลงปลงใจแต่งงานในครั้งนี้ หมายความว่าเธอจะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปแสนไกล
ไปยังดินแดนฝั่งตะวันออกไกลที่เธอไม่เคยรู้จัก .. แม้จะน่าหวาดหวั่น แต่เธอก็มั่นใจ และตกลงใจในที่สุด

ใครจะรู้ว่า มันยังมีสิ่งที่เกินความคาดเดาของเธอไปมากกว่านั้นอีก

เพียงเรือเดินสมุทรที่เธอโดยสารมาเข้าเทียบท่าที่ย่างกุ้ง เธอก็ได้รับรู้ความจริงอีกอย่างว่า
แท้จริงแล้วสามีของเธอคือเจ้าฟ้าไทยใหญ่จากเมืองสีป่อ แห่งรัฐฉาน!

เทพนิยายเรื่องนี้คือเรื่องจริง .. และมันเพิ่งเริ่มต้น!!

เราหยิบเล่มนี้มาอ่านต่อจากทวิภพในคราแรกเพราะเข้าใจว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน
คือยุคสมัยในรัชกาลที่ ๕ ในยุคสมัยที่พวกที่เรียกตัวเองว่าอารยประเทศได้เข้ารุกรานชาวอุษาคเนย์
ต่างแย่งชิงเมืองนั้นเมืองนี้เป็นเมืองขึ้นของตน ราวกับเด็กแย่งของกันในร้านของเล่นก็ไม่ปาน
แต่เมื่อมาลองไล่ดูดีๆ แล้ว
เหตุการณ์ในหนังสือเล่มนี้น่าจะเกิดหลังจากสมัย ร.ศ.112 (พ.ศ.2436 = ค.ศ.1893) หลายปีอยู่

ตามประวัติศาสตร์พม่านั้น พม่าเสียเมืองให้แก่ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1885
ก่อนเกิดเหตุการณ์เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในทวิภพอยู่ 8 ปี
ในขณะนั้น เจ้าฟ้าจาแสงน่าจะยังทรงศึกษาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

86-2 สิ้นแสงฉาน

รัฐฉาน เป็นเมืองของชาวไทยใหญ่ เป็นรัฐหนึ่งในประเทศพม่า
มีพื้นที่กว้างใหญ่ติดกับจีน ลาวและไทย มีประชากรมากถึงสามล้านคน
โดยคนเหล่านั้นแบ่งกันออกเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ หลายสิบเผ่า
คล้ายคนไทยมากกว่าพม่า ด้วยว่าเป็นคนไทยอพยพลงมาจากตอนใต้ของจีน
ในตอนที่อาณาจักรน่านเจ้าถูกพวกตาดหรือตาต้าร์บุกเข้าทำลาย
คนไทยเหล่านี้อพยพลงใต้ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยกับพม่า
ชาวไทยใหญ่ในส่วนที่อยู่ในประเทศพม่าไม่สามารถยึดพม่าได้ ก็ถูกขับไล่กลับขึ้นไปอีก
จนต้องไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบสูงซึ่งเป็นป่าเขาของรัฐฉานในปัจจุบัน
(ส่วนนี้ยกมาจากหนังสือค่ะ
อ่านแล้วเอะใจว่านี่คืออีกทฤษฎีที่พูดถึงที่มาของคนไทย และยังเถียงกันไม่จบ?)

ชาวรัฐฉานอยู่กันเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย
มีเจ้าเมืองหรือเจ้าผู้ครองนครปกครองตามฐานะและขนาดของเมือง
และถ้ามีเจ้าผู้ครองนคร ก็จะสืบทอดกันตามสายโลหิต
เจ้าผู้ครองนครเหล่านี้จะต้องส่งบรรณาการแก่พม่า
ต่อมาเมื่ออังกฤษได้พม่าเป็นเมืองขึ้น (ค.ศ. 1885) รัฐฉานก็ตกเป็นของอังกฤษด้วย
โดยที่ยังคงมีเจ้าฟ้าปกครองตนเองกันเช่นเดิม (แต่สำหรับพม่า .. ระบบกษัตริย์ในพม่าล่มสลาย)

เมื่อสงครามโลกเกิดขึ้นและสิ้นสุดลง พม่าและรัฐน้อยใหญ่ต่างๆ ที่เคยขึ้นตรงต่ออังกฤษ
จึงได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเอกราชจากประเทศอังกฤษ
โดยเหล่าสมาพันธรัฐมีข้อตกลงกันร่วมกันว่า เมื่ออังกฤษคืนประเทศให้แก่พม่าแล้ว
พม่าจะต้องให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองของแต่ละรัฐคืนด้วย
เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายในระยะเวลา 10 ปี
หากต่อมา เมื่ออังกฤษยอมคืนเมืองให้แก่พม่า เหล่าทหารพม่ากลับตระบัดสัตย์
นายพลเนวิน ผู้นำทหารพม่าได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งในขณะนั้น
ลอบฆ่าผู้นำ จับกุมเจ้าฟ้าเมืองน้อยใหญ่ต่างๆ มาขัง
ฉีกทั้งรัฐธรรมนูญและหนังสือสัญญาที่เคยลงนามร่วมกัน

ภาพของนายพลเนวิน ผู้นำรัฐบาลพม่าในสมองของเรา
ถูกโยงเป็นภาพของจิ้งจอกเฒ่าเจ้าเล่ห์ นายพลบินยาตัวร้ายฝ่ายปฏิปักษ์กับปาลีนาคิมจากเสราดารัล ค่ะ
(เรียนประวัติศาสตร์จากนิยายล้วนๆ อ่ะ 555)

ช่วงเวลานับจากที่เจ้าฟ้าจาแสงกับอิเง่ หรือมหาเทวีสุจันทรี (ในแบบที่ชาวรัฐฉานเรียก)
ได้ปกครองและพัฒนาบ้านเมืองไทยใหญ่ทีละน้อยตามความรู้ที่ได้ทรงเรียนมา
กินเวลาได้ราว 10 ปี ช่วงเวลาเหล่านั้นคือเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในเล่ม

นอกจากความขมขื่น เคร่งเครียดในตอนต้นและตอนท้ายเรื่องแล้ว
ช่วงกลางๆ พระนางสุจันทรีได้ทรงเล่าถึงวิถีชีวิตของคู่ครองเจ้าฟ้าแห่งสีป่อเอาไว้อย่างน่าสนใจ
ทำให้เราพอจะเห็นภาพวิถีชีวิตชาวไทยใหญ่ ซึ่งนอกจากสายเลือดจะใกล้เคียงกันแล้ว
การใช้ชีวิตและขนบประเพณีต่างๆ ก็ไม่ต่างกันนักด้วย
จะมีก็แต่ความเจริญที่ห่างไกลกันอย่างเห็นได้ชัด
น่าเสียดายว่า ถ้าทหารพม่ารักษาสัญญา ภูมิปัญญาแห่งรัฐน้อยใหญ่เหล่านี้คงจะยังคงอยู่
และความหลากหลายทางวัฒนธรรมคงจะนำพาให้ประเทศแถบเอเชียเป็นศูนย์รวมศิลปแห่งการใช้ชีวิตที่น่าทึ่ง

ในท้ายที่สุด มหาเทวีสุจันทรี และเจ้านางน้อยทั้งสอง มายรี เกนรี
ก็สามารถลี้ภัยกลับไปยังบ้านเกิดที่ออสเตรียได้โดยปลอดภัย
เป็นการลี้ภัยโดยความช่วยเหลือของใครหลายคน เป็นไปโดยความไม่เต็มใจของทหารพม่า
และนับตั้งแต่วันนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน พม่าก็ไม่เคยให้คำอธิบายถึงการหายตัวไปของเจ้าฟ้าจาแสงเลย

ความพลัดพรากเกิดขึ้นจริง มีการสูญเสียจริง ความโลภอันเป็นจริง และคำโกหกก็จริง
ประวัติศาสตร์ นิยายและเรื่องจริง สิ่งสลับซับซ้อนอันเกี่ยวพัน .. แต่ก็เกิดขึ้นจริง

ปล. ข้อความบางตอนแจ้งด้วยว่า นายพลเนวินเองก็มีปัญหาทางจิต ถึงกับต้องมีจิตแพทย์ส่วนตัวด้วย
ซึ่งในส่วนนี้ โสภาค สุวรรณ ได้นำมาเล่าเปิดเรื่องนวนิยายเรื่องเกนรี มายรี
ซึ่งคุณโสภาคมีโอกาสได้รู้จักกับมหาเทวีสุจันทรี ขณะที่เธอพำนักอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาหนึ่งด้วย
เกนรี มายรี .. คือเล่มที่เราจะหยิบมาอ่านต่อค่ะ

Comments are closed.