เรื่อง สิทธารถะ
ผู้แต่ง แฮร์มัน เฮสเซ
ผู้แปล สีมน
สำนักพิมพ์ ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุคส์)
เลขมาตรฐานหนังสือ 9747047594
นี่คือการหยิบ สิทธารถะ มาอ่านเป็นครั้งที่สองของเรา
หากจะนับครั้งแรกที่อ่านไม่จบด้วยน่ะนะ
เมื่อแรกอ่าน เราหยิบ สิทธารถะ มาอ่านด้วยความไม่รู้อะไรเลย
รู้เพียงแต่ว่า นี่เป็นวรรณกรรมที่ควรค่าแก่การอ่านเล่มหนึ่ง
ความรู้สึกแรกจากชื่อเรื่องก็คือ นี่คือหนังสือกึ่งพุทธประวัติ
แต่พอได้อ่าน สิทธารถะกลับไม่ใช่สิทธัตถะ
หากแต่เป็นบุคคลที่เกิดร่วมยุคสมัยกัน
ระหว่างอ่าน เราพบว่า สิทธารถะ มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายกับพระพุทธเจ้า
คล้ายจนรู้สึกว่าผู้เขียนจงใจ โดยไม่ทราบเจตนา
ยิ่งอ่านก็ยิ่งอึดอัดขัดข้องใจด้วยความรู้สึกภายใน ..
สุดท้าย เราก็เลิกอ่านหนังสือเล่มนี้ไป .. จบแค่นั้น
แล้ววาระอันควรอ่าน สิทธารถะ ก็กลับมาอีกครั้ง
เมื่อกิจกรรมในบุ๊คคลับวันศุกร์ ชวนกันมาอ่านเล่มนี้ ..
ก่อนวันที่จะได้อ่านกับเพื่อนๆ ในบุ๊คคลับ
เราหยิบเล่มนี้มาอ่านคนเดียวก่อน
เพราะอยากมีประสบการณ์ส่วนตัวกับ สิทธารถะ
เป็นการอ่านที่แทบจะรวดเดียวจบ
โดยที่ความรู้สึกต่อต้านที่มีในตอนแรกถูกวางทิ้งไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มอ่าน
การเริ่มอ่าน สิทธารถะ ในครั้งนี้
เราเพียงแต่ปรับจูนภาษา และบางคำศัพท์ในช่วงเริ่มต้น
มีต้องอ่านทวนกลับไปกลับมาบ้าง จิตหลุดบ้าง
แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่หน้า ก็อ่านได้ลื่นไหลดี
เมื่ออ่านอย่างเปิดใจ ไม่ตั้งธง หนังสือเล่มนี้ก็สนุกดี
อย่างที่บอก สิทธารถะได้พบเจอเหตุการณ์ที่คล้องจองกันกับพุทธประวัติเลย
เขาเป็นบุตรพราหมณ์ผู้ฉลาดปราดเปรื่อง
เป็นเด็กหน้าตาดี สง่างาม ฉลาดเฉลียว
มีความรู้แจ้งจบในศาสตร์แห่งพราหมณ์
เป็นที่ภาคภูมิใจของพ่อและแม่
สิทธารถะมีเพื่อนรักที่เติบโตมาด้วยกัน นามว่าโควินทะ
สองหนุ่มน้อยเติบโตติดตามกันไปทุกแห่งหน
โควินทะรักและชื่นชมสิทธารถะมาก
แต่ท่ามกลางเสียงชื่นชมยินดีนี้เอง
สิทธารถะไม่ได้ปลื้มปีติในสิ่งเหล่านี้เลย
เขาเกิดความสงสัยขึ้นในวิชาพราหมณ์ที่ได้เรียนรู้
พิธีกรรมแห่งพราหมณ์ต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ การพร่ำมนต์ หรือการบวงสรวงบูชา
ไม่ได้ทำให้หัวใจของเขารู้สึกอิ่มเอมเลย
เขาไม่เห็นหนทางที่พาให้เขาไปถึงอาตมัน ด้วยวิถีปฏิบัติเช่นนั้น
(ถ้าแปลง่ายๆ เราเข้าใจว่าอาตมันก็คือนิพพาน)
สิทธารถะเริ่มทดลองแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ในรูปแบบอื่นๆ
ได้ลองเข้าร่วมกับเหล่าสมณะ และบำเพ็ญทุกรกิริยาจนแจ้งจบ
หากก็ยังไม่ได้คำตอบของคำถามในใจ
ในตอนนั้นเอง ที่ข่าวลือสะพัดเรื่องที่มีบุรุษหนึ่ง นามโคตมะ
ท่านได้ตรัสรู้พบวิธีพ้นทุกข์ ดับการเวียนว่ายตายเกิด
และได้ออกสั่งสอนเหล่าสาวกถึงวิถีแห่งการพ้นทุกข์นั้น
ทั้งสิทธารถะและโควินทะ จึงตัดสินใจออกเดินทางไปยังเมืองสาวัตถี
เพื่อไปเฝ้าพบ และฟังธรรมจากพระพุทธองค์
และแล้ว .. ท่ามกลางหมู่สงฆ์ที่สวนเชตวัน
ทั้งสิทธารถะและโควินทะก็ได้สดับธรรมจากพระพุทธองค์
พระธรรมนั้นว่าด้วย ทุกข์ และหนทางดับทุกข์
ว่าด้วย อริยสัจ 4 และมรรค 8
เมื่อได้ฟังธรรม โควินทะผู้ที่ลังเลและเดินตามหลังสิทธารถะมาโดยตลอด
ก็ตัดสินใจขอปวรณาตัวเป็นสาวกของพระพุทธองค์ทันที
ส่วนสิทธารถะนั้นเอง กลับกลายเป็นฝ่ายที่ลังเล รีรอ
สิทธารถะยอมรับว่าธรรมะของพระพุทธองค์นั้นประเสริฐที่สุด จริงแท้ที่สุด
หากแต่เขาไม่เชื่อในกลวิธีของการกล่าวสอน
เขาเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
ไม่ได้ตรัสรู้จากคำสอนของผู้ใด และสิ่งนี้ไม่อาจบอกกล่าวกันด้วยคำสอนได้
เขาจะออกเดินทางต่อไป ไม่ใช่เพื่อหาครูคนใหม่ที่ดีกว่า
หากจะเป็นการออกเดินทาง เพื่อหาทางหลุดพ้นด้วยวิถีปฏิบัติแห่งตน
สิทธารถะออกเดินทางต่อเพียงลำพัง ตามเส้นทางชีวิตที่เขาเลือก
เส้นทางของสิทธารถะในเวลานี้ ไม่ต่างจากเราทุกคนในยุคสมัยนี้
หลงเล่นอยู่ในสนามเด็กเล่นแห่งสังสารวัฏ
ทุกข์สุขไปตามกระแสโลก แล้วแตกดับ
เพื่อตื่นขึ้นมาทุกข์สุขอยู่เช่นเดิม เวียนวนไม่รู้จบ
บางครั้งก็ดื่มกินจนมากเกินพอ
ปรนเปรอตนเองด้วยความสุขจนเกินสุข
เมื่อทุกข์ก็ทุกข์มากอย่างล้นเหลือ
เมื่อผิดหวังก็คิดจะทำลายตนเอง ฯลฯ ..
มีหลายเรื่องที่หนังสือเล่มนี้หยิบขึ้นมาพูดบ่อยๆ ในหลายช่วงชีวิตของสิทธารถะ
เรื่องหนึ่งคือเรื่องที่ชีวิตของเราทุกคนคือสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด
แม้บางครั้ง ผู้เขียนจะไม่ได้พูดตรงๆ
แต่เราตีความเอาเองจากสัญลักษณ์ต่างๆ ภายในเล่ม
มีอีกหลายครั้งที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงอัตตา
ตัวละครสิทธารถะ เป็นตัวละครที่เกิดมาพร้อมกับสติปัญญาที่ฉลาดเฉลียว
เขาควรจะบรรลุธรรมได้หลายต่อหลายครั้ง
หากสิ่งเดียวที่เหนี่ยวรั้งเขาไว้ ก็คือสติปัญญาที่ฉลาดเฉลียวนี่เอง
สติปัญญากลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอัตตา และความยึดมั่นถือมั่น
ยิ่งอัตตาใหญ่โต มันก็ยิ่งกลายเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และปฏิบัติ
ตอนที่เราคุยกันเรื่องนี้ในบุ๊คคลับ
มีเพื่อนในห้องคนหนึ่งเล่าถึงเรื่องเล่าในแบบของเซน
เขาเล่าเรื่องศิษย์โง่ไปเรียนเซน
เพื่อนอีกคนเล่าถึงสังฆราชองค์ที่ 6 ในนิกายเซน
ท่านฮุ่ยเหนิง หรือเว่ยหลาง ก็เคยเป็นเพียงคนขายฟืนที่ไม่รู้หนังสือ
บางที คนที่ไม่ได้ฉลาด ก็อาจละอัตตาตัวตนได้มากกว่าคนฉลาด
พวกเขาเปรียบเสมือนแก้วว่างเปล่า ที่พร้อมจะเปิดรับธรรมะทั้งหมด
ขณะที่แก้วของคนฉลาดอย่างสิทธารถะนั้นเต็มปรี่อยู่ก่อนแล้ว
การเปิดรับธรรมะเพื่อบรรลุธรรมจึงเป็นไปได้ยากกว่า
หนังสือเล่มนี้สร้างความสับสนไม่เข้าใจแก่เรามากมาย
เราไม่อาจหาคำตอบในหลายคำถาม
เต็มไปด้วยความงุนงงสงสัย เป็นความสงสัยที่ชวนให้สนุกคิด
และสนุกที่มีเพื่อนมาช่วยกันตอบข้อสงสัยของกันและกัน
เราคุยกันไปถึงขนาดว่า หากข่าวการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในสมัยนี้
เราทุกคนจะยังดั้นด้นเดินทางไกลไปเพื่อฟังธรรมจากพระองค์หรือไม่
ในเมื่อในยุคนี้ มีผู้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษมากมาย
แต่เรากลับไม่กล้าที่จะเชื่อถือศรัทธาใครๆ เลย
ในยุคสมัยนี้ เรายังหาทางดับทุกข์กันอยู่หรือเปล่า?
ฉากหนึ่งที่ชอบสำหรับเราและหลายๆ คน
คือฉากสนทนากันระหว่างพระพุทธเจ้ากับสิทธารถะ
ฉากนี้ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันมากมายหลากหลายแง่มุม
นับได้ว่าเป็นฉากสำคัญของเรื่องเลยทีเดียว
หลังจากอ่าน สิทธารถะ จบลง
เราเกิดข้อสงสัยเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
เราสงสัยว่า เฮสเสเข้าใจศาสนาพุทธลึกซึ้งแค่ไหน
สิ่งที่ผู้เขียนเข้าใจนั้น ใช่พุทธศาสนาทั้งหมดหรือไม่
สิ่งที่เขาต้องการจะสื่อ ตรงกับสิ่งที่เราเข้าใจหรือไม่
คำตอบของคำถามนี้ จากเพื่อนคนหนึ่งในบุ๊คคลับคือ
ทัศนคติที่ชาวตะวันตกมีต่อพุทธศาสนานั้น
เขามองว่านี่เป็นปรัชญาแขนงหนึ่ง ไม่ใช่ศาสนา
ดังนั้น การตีความต่อหลักธรรมคำสอน หรือแม้แต่องค์พระศาสดาเอง
จึงสามารถแตกแขนงออกไปไกลกว่ากรอบที่เราชาวพุทธมอง
แม้ว่าอีกหลายต่อหลายคำถามในใจของเราจะยังไม่ได้รับคำตอบ
หรือคำตอบที่ได้รับอาจยังไม่ชัดแจ้งในใจนัก
แต่สิทธารถะก็ทำให้เราได้ถกเถียงกับตนเอง
ได้แบ่งปันมุมมองความคิดเห็นต่อเพื่อนๆ
และแม้ว่าบุ๊คคลับในวันนั้นจะจบลงไปแล้ว
แต่คำถามในใจของเราที่มีต่อสิทธารถะ ก็ยังทำงานต่อไปเรื่อยๆ
บางที .. นี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของหนังสือที่ดี
คือมันทำให้เราได้ครุ่นคิด แตกฉาน และเติบโต
เราเชื่อว่า ถ้าเราหยิบสิทธารถะมาอ่านอีกในครั้งต่อไป และต่อไป
คำถามและคำตอบ ก็ยังคงเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
ลองอ่านสิทธารถะ ตั้งคำถาม และหาคำตอบของตัวคุณเอง
ขอให้สนุกที่ได้อ่าน และมีความสุขที่ได้คิด ได้ทะเลาะกับตัวเองนะคะ 🙂