อ่านแล้วเล่า

รุกสยามในนามของพระเจ้า

เรื่อง รุกสยามในนามของพระเจ้า
ผู้แต่ง มอร์กาน สปอร์แตซ
ผู้แปล กรรณิกา จรรย์แสง
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9743237119

เราเคยเปิดเล่มนี้อ่านมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อหลายปีก่อน
แต่ด้วยทั้งสำนวนภาษาโบราณ และชื่อตัวละครจำยาก
ทำให้เราเปิดอ่านไปได้ไม่กี่หน้า แล้วก็ยอมแพ้ ปิดมันไป
มาครั้งนี้ เรามีภูมิต้านทานแล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับอะไร
ทั้งยังมีพื้นฐานมาจากการอ่าน ข้ามสมุทร ที่เพิ่งจบไปแล้วนั้น
การอ่านมันใหม่ในครั้งนี้จึงเกิดได้ง่ายขึ้น และลื่นไหลกว่าที่คิด

รุกสยามในนามของพระเจ้า เริ่มต้นเรื่องด้วยคำบรรยายดุจสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง
เป็นบันทึกที่เล่นใหญ่มาก ออกตัวแรงมากว่าเป็นบันทึกที่เที่ยงตรงที่สุด
มันคือบันทึกของชายชาวฝรั่งเศสผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่ง
ที่ร่วมลงเรือเดินทางมากับขบวนเรือที่มายังสยาม (กับคณะทูตชุดที่สอง)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะยึดแผ่นดินสยามให้จงได้ ด้วยกุศโลบายที่แสนจะแยบยล

ในตอนที่เราอ่านคำนำ ..
คำว่า “ชวนหัว” และ “อารมณ์ขัน” ถูกพูดถึงบ่อยมาก ในคำนำทั้งสาม
(คำนำสำนักพิมพ์ คำนำผู้เขียน และคำนำผู้แปล) ก่อนเริ่มต้นเล่าเรื่อง
เรานึกไม่ออกเลยว่า เหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสเดินเรือสำเภาขนาดใหญ่ ติดอาวุธ
มุ่งตรงสู่สยาม เพื่อเผยแผ่ศาสนา เพื่อค้าขาย หรือเพื่อยึดเป็นอาณานิคม
เป็นเรื่องตลกตรงไหน?
อ่านคำนำทั้งสามจบ ก็เกิดทั้งความรู้สึกอคติ ไปพร้อมๆ กับความรู้สึกอยากอ่าน
อยากรู้ว่าผู้เขียนจะเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์เรื่องนี้ออกมาทางไหน

รุกสยามในนามของพระเจ้า เป็นหนังสือที่เขียนถึงกองทัพเรือฝรั่งเศส
ที่ยกขบวนกันมาสยามเป็นครั้งที่สอง ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์
คณะราชทูตของออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ได้เดินทางกลับจากฝรั่งเศส
ร่วมทางมากับเรือลำหนึ่งในจำนวนเรือทั้งห้าลำ
(อันได้แก่เรือลัวโซ, เรือเลอ กัยยารด์, เรือโดรมาแดร์, เรือลาลัวร์, และเรือนอรมองด์)
ของคณะทูตของฝรั่งเศสอันนำโดยลาลูแบร์ (และเซเบเรต์)
นอกจากนั้นแล้ว ขบวนเรือที่ว่านี้ยังได้นำพากองทัพทหารฝรั่งเศสมาด้วย
และมันได้มาจอดถึงปากอ่าวแล้วในตอนเริ่มเรื่อง

การเดินทางมาสยามในครั้งนี้ มีตัวละครสำคัญคือ เมอร์ซิเยอร์ เดอ ลาลูแบร์
ซึ่งในประวัติศาสตร์เราบอกว่าเป็นราชทูต แต่ในเล่มนี้ให้ค่าเป็นเพียงหุ่นเชิด
และให้ยศเป็นเพียงทูตพิเศษ ควบคู่มากับ เซเบเรต์ (โกล๊ด เซเบเรต์ ดูว์ บุยเย)
มีกองทัพเรืออันนำโดย นายพลเดซ์ฟาร์จ และทหารอีก 700 คน
(ที่เจ็บป่วยล้มตายมาในระหว่างการเดินทางไปแล้วร้อยกว่าคน)
บาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด ผู้ที่เคยมาสยามแล้วครั้งหนึ่ง
เป็นตัวละครสำคัญที่นำสาส์นลับจากฟอลคอนไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
และถือคำสั่งลับกลับมาในครั้งนี้ด้วย

รุกสยามในนามของพระเจ้า เปรียบประดุจมหกรรมการแฉ
และตีแผ่ความในใจคณะทูต บาทหลวง และทหารฝรั่งเศส
ที่เดินทางเข้ามายังสยามมาในครั้งนี้
ตีแผ่เล่ห์กลของฟอลคอน (จริงๆ ก็อ้างไปถึงพระเพทราชาด้วย!)
ผู้เขียนได้เปิดเปลือยกิเลสของคน
เสียดสีมนุษย์ด้วยพฤติกรรมและตรรกะเกินจริง
ผู้เขียนเล่าถึงความขัดแย้งภายในของฝรั่งเศสเอง
โดยมีฟอลคอนเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งทั้งหมด

ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้เขียนเล่าถึงการเมืองภายในของสยามเองน้อยมาก
คือเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวพันมาถึงชาวฝรั่งเศสเท่านั้น
เป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์ ในมุมมองของชนชาติฝรั่งเศส

การที่เราหยิบเล่มนี้มาอ่านต่อจากข้ามสมุทรนั้น ทำให้เห็นได้ชัดเลยว่า
รุกสยามในนามของพระเจ้า ตีความกลับตาลปัตรกับเรื่องข้ามสมุทรเลย
แม้จะเล่าถึงเหตุการณ์เดียวกัน
ประวัติศาสตร์ช่วงที่ลาลูแบร์อยู่ที่สยาม ดุจหนังคนละม้วนกับที่เราเคยรู้กันมา
ฝรั่งเศสเกือบทั้งปวงล้วนตกอยู่ใต้อำนาจฟอลคอน
ชนิดชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ ไม่มีใครกล้าขัดใจฟอลคอน ไม่รู้ว่าทำไม
ตรรกะที่ยกมาอ้างในเรื่อง ล้วนฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย

นอกจากนี้บุคลิกของตัวละครผู้มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์ก็ต่างไปจากที่เราเคยรู้กันมา
ตัวตนของฟอลคอน พระเพทราชา บาทหลวงต่างๆ รวมไปถึงนายพลเดซ์ฟาร์จ ..
ต่างไปจากทุกเล่มที่เคยอ่าน .. และก็คงต่างไปได้อีกมากมาย ถ้ายิ่งอ่านมากเล่ม
ด้วยว่าเป็นทั้งการตีความจากหลักฐานอันน้อยนิด
และมุมมองจากผู้ที่ได้ผลประโยชน์และเสียผลประโยชน์
ทั้งที่เป็นผู้บันทึกไว้เอง และฟังต่อๆ กันมาอีกไม่รู้กี่ทอด
เหลืออะไรจริงบ้าง .. กับคำว่าประวัติศาสตร์!

และความต่างกันเช่นนี้เอง ที่ทำให้คำอธิบายของการกระทำ, ของเหตุการณ์ ..
และของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องคนละเรื่อง
ในฐานนะที่เป็นเพียงผู้อ่านที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ใดเลย (ก็แน่ล่ะสิ)
ก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง
และอีกหลายๆ อย่างตามแต่เราจะจินตนาการกันไป
สิ่งที่เรารู้คือผลลัพธ์เท่านั้น
และนวนิยายเหล่านี้ก็ช่วยให้เราพอจะเข้าใจเหตุการณ์ครั้งนั้นได้บ้าง .. คร่าวๆ

รุกสยามในนามของพระเจ้า เล่มนี้ เป็นเรื่องแปล ที่แปลมาจากภาษาฝรั่งเศสเอง
แต่น่าตกใจที่ผู้เขียนชาวฝรั่งเศสวิพากษ์พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ของเขา
แรงกว่าผู้เขียนคนไทยเคยวิพากษ์พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเอาไว้ในข้ามสมุทรเสียอีก
ทั้งยังเสียดสีการเมืองและศาสนาของฝรั่งเศสเอง
วิพากษ์ความแตกแยกของแต่ละฝ่ายเอาไว้ราวกับไม่ใช่คนฝรั่งเศสเขียน
เป็นความเสรีที่เราไม่ชินและออกจะตะหงิดๆ ใจเวลาอ่าน

เมื่อพูดถึงตัวละคร ตัวละครก็ไม่ฉลาด ไม่มีชั้นเชิงอะไรเลย
แต่ละคนไม่ทำหน้าที่ตนเอง
ทูตก็ไม่สมเป็นทูต ทหารก็ไม่สมกับเป็นทหาร
มีแต่บทสนทนาและการกระทำที่แปลกประหลาด
หมดวันไปกับเรื่องราวไร้สาระ
หรืออย่างน้อยผู้เขียนก็ไม่ทำให้เราเห็นว่ามันมีสาระ
ไม่ประเทืองอารมณ์ และไม่ประเทืองปัญญา

เนื้อหาเต็มไปด้วยน้ำโหรงเหรง
เน้นหนักไปที่บทสนทนาอันไม่ลงรอยกันสักฝ่าย
ตัวละครแต่ละคนต่างจับกลุ่มแบ่งพวกกันเกทับบลัฟแหลก
เข้าข้าง ย้ายข้าง ถือหางกันวุ่นวาย
ทั้งเรื่องเต็มไปด้วยบทสนทนา
เต็มไปด้วยความดูหมิ่นดูแคลน เสียดสี ในตัวละครทุกตัว
(ซึ่งล้วนแล้วแต่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์)
ไม่ว่าจะเป็นทหาร นักการทูต หรือแม้แต่บาทหลวง
ก็ล้วนแต่สับปลับ มือถือสากปากถือศีล โลภมาก
หักหลัง ชิงดีชิงเด่น เอาดีใส่ตัว เอาความชั่วโบ้ยใส่คนอื่น เชื่อถือไม่ได้สักคน
(บางที สิ่งเหล่านี้อาจจะเรียกว่า “ชวนหัว”?)

เอาจริงๆ เราแทบไม่ได้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากเล่มนี้เลยนะ
คือไม่รู้ว่าอะไรเชื่อได้แค่ไหน นอกจากอ่านเสียดสีเอามันส์ (ซึ่งไม่มันส์) เท่านั้น
มีบางข้อมูล (เกี่ยวกับประเทศสยาม) ที่เห็นๆ เลยว่าไม่จริง
เลยยิ่งไม่รู้ว่าข้อมูลอื่นๆ (ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน) นั้นเชื่อได้แค่ไหนกัน
ถ้าอยากได้ข้อมูล แนะนำว่าไปอ่านจากบันทึกฉบับต่างๆ โดยตรงเลย
แล้ววิเคราะห์ขบคิดเอาเอง น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า
แต่ถ้าอยากได้ความสนุก เราก็คิดว่าข้ามสมุทรสนุกกว่าหลายเท่า
ด้วยข้อมูลเดียวกันนี่แหละ

แล้วสุดท้าย มันก็จบลงแบบฝรั่งเศสเป็นผู้ถูกกระทำเสียเหลือเกิน
และคนสยามก็แสนจะเจ้าเล่ห์เพทุบาย
ถ้าจะขำ ก็คงจะเป็นเสียงขำขื่นๆ ให้กับสิ่งที่ได้อ่านไป
ถึงจะไม่ชอบ แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่าหนังสือที่อยากอ่านมานานนั้นเป็นอย่างไร
ไม่เสียดายที่ได้อ่านนะ แต่ถ้าให้อ่านอีกรอบ ก็คงไม่เอาแล้ว รอบเดียวพอ

ปล. 1 ตัวละครเดียวกัน แต่ตัวสะกดต่างกันในแต่ละเรื่องที่อ่าน
ทำให้การบันทึกและการค้นคว้าข้อมูลเป็นภาษาไทยกระจัดกระจายไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

ปล.2 สิ่งหนึ่งที่เราสงสัยและค้างคาใจก็คือ
บ้านเรามีวิธีการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการโยนลงในกรงเสือด้วยหรือ?
ในเรื่องนี้อ้างถึงบ่อยมาก ทั้งที่เราไม่เคยอ่านเจอจากที่ไหนมาก่อนเลย?

Comments are closed.