อ่านแล้วเล่า

ภาษาจักรวาล

เรื่อง ภาษาจักรวาล
ประวัติย่อของคณิตศาสตร์
ผู้แต่ง อาจวรงค์ จันทมาศ
สำนักพิมพ์ ดราก้อนวอร์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786169394006

เมื่อช่วงวันวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา เราอ่านเล่มนี้ค่ะ
เป็นการอ่านอย่างยาวนาน จนแทบจะหมดเดือนลงไปแล้ว (ฮา)

บนสมมติฐานที่ว่า หากมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาลที่รู้ภาษา
เราจะสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตอื่นนอกโลก .. ด้วยภาษาอะไร
นี่เป็นคำถามแรกที่ผู้เขียนตั้งคำถามกับเราเมื่อแรกอ่าน
ในปี ค.ศ. 1974 มนุษย์โลกได้ส่งภาษาจากโลกของเราออกไปยังห้วงจักรวาล
มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กระจุกดาวฤกษ์ขนาดมหึมาแห่งหนึ่ง
ด้วยความคาดหวังว่าจะมีใครสักคนที่นั่น .. ได้ยินเรา
ข้อความที่ว่านี้ ถูกส่งผ่านคลื่นวิทยุ
ด้วยกล้องโทรทัศน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น
คำถามก็คือ เราจะส่งข้อความอะไร ออกไปด้วยภาษาอะไร

นี่คือบทเปิดเรื่อง
และเป็นคำอธิบายกลายๆ ด้วยว่า ทำไมเล่มนี้จึงมีชื่อว่า
ภาษาจักรวาล

รายละเอียดอื่นๆ (ที่สนุกๆ) คงต้องไปหาอ่านกันต่อในหนังสือเล่มนี้
แต่นี่เพิ่งเป็นเพียงแค่บทเริ่มต้น

นอกเหนือจากนี้ ผู้เขียนยังบอกเล่าเรื่องราวสนุกๆ
เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ออกมาอีกมากมาย และครอบคลุม
เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายที่สุด อย่างประวัติศาสตร์ของตัวเลข
ประวัติศาสตร์ของการนับเลข และการจดบันทึก
จุดเริ่มต้นของการคำนวณสิ่งต่างๆ
เลขฐานแรกที่มนุษย์เราคิดค้นขึ้นมา ไม่ใช่เลขฐานสิบ
มันคือเลขฐานหกสิบ และนำไปสู่การคำนวณวงกลม
การก่อกำเนิดของค่าพาย
ต่อเนื่องไปยังประวัติศาสตร์สนุกๆ ของมนุษย์ผู้หมกมุ่นกับค่าพาย

อันที่จริง มนุษย์เราสมัยก่อนเป็นคนช่างคิด และมีเวลาคิด
นอกจากค่าพาย พวกเขายังหมกมุ่นต่อมา และต่อมา
กลายเป็นคณิตศาสตร์แขนงต่างๆ แตกขยาย และต่อยอด
ให้เราเรียนกันได้ไม่รู้จบอยู่ทุกวันนี้

ผู้เขียนพาเราย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของคณิตศาสตร์แขนงต่างๆ
บางที การที่เรารู้ที่มา รู้จุดกำเนิดของมัน
ก็ทำให้เราเข้าใจมันมากขึ้น และ (อาจ) เรียนมันได้สนุกมากขึ้น

หนังสือเล่มนี้อ่านง่ายและสนุก .. ในช่วงประมาณครึ่งเล่มแรก
จากนั้น อัตราเร็วในการอ่านก็จะอืดๆ ลงหน่อย .. ในช่วงเวลาต่อมา
อาจจะต้องปรับโหมดเล็กน้อย เป็นการอ่านแบบไม่ต้องเข้าใจทั้งหมด
แค่เข้าใจคอนเซ็ปต์ หรือเข้าใจเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะเล่าแบบคร่าวๆ

หลังจากนั้นก็จะเป็นบทที่เราอ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
สลับๆ กันไป บทไหนเข้าใจมากหน่อย ก็สนุกมากหน่อย
บทไหนงงๆ ก็อ่านผ่านๆ ไป 5555

ถึงอย่างไร หนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นเล่มที่น่าอ่านอยู่ดี
โดยเฉพาะคนที่กำลังเรียนคณิตศาสตร์
หรือกำลังจะได้เรียนคณิตศาสตร์เรื่องใหม่ๆ ก่อนเปิดเทอม
ขอให้รู้จักกับมันมากขึ้น เข้าใจมันมากขึ้น และสนุกกับมันมากขึ้นนะคะ 🙂
ส่วนใครที่ไม่ต้องเรียนคณิตศาสตร์แล้ว .. ดีใจด้วยค่ะ
คุณจะสามารถสนุกกับหนังสือเล่มนี้ได้อย่างเต็มที่
เพราะมันจะไม่มีผลต่อคะแนนสอบของเราอีกต่อไปแล้ว เย่! 

 

Comments are closed.