อ่านแล้วเล่า

ฟอลคอนแห่งอยุธยา

เรื่อง ฟอลคอนแห่งอยุธยา
ผู้แต่ง แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์
ผู้แปล กล้วยไม้ แก้วสนธิ
สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9744725931

ว่าด้วยเหตุการณ์การเจริญสัมพันธไมตรีอันเป็นที่โจษจัน
ระหว่างสมเด็จพระนารายณ์ กับพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 นั้น
ข้ามสมุทร เล่าถึงเหตุการณ์นี้ผ่านมุมมองของคนไทย
รุกสยามในนามของพระเจ้า เล่าถึงเหตุการณ์เดียวกันผ่านมุมมองของฝรั่งเศส
ส่วน ฟอลคอนแห่งอยุธยา เล่าถึงมันผ่านมุมมองของคอนสแตนติน ฟอลคอน

ฟอลคอนแห่งอยุธยา เป็นนวนิยายบอกเล่าชีวประวัติของคอนสแตนติน ฟอลคอน
เป็นชีวประวัติอย่างละเอียดตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กของเขา
คือเราได้ยินชื่อฟอลคอนมาบ่อยมาก
ในฐานะตัวร้ายในประวัติศาสตร์ชาติไทย ยุคพระนารายณ์
แต่นอกจากนั้นแล้ว เราไม่เคยรู้อะไรมากไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาในช่วงบั้นปลายชีวิตเลย
หนังสือเล่มนี้ ทำให้เราได้รู้จักเขาในแง่มุมอื่น
ได้รู้ที่มา ก่อนที่เขาจะมี จะเป็น อย่างที่เรารับรู้กันในประวัติศาสตร์

ฟอลคอนมีชีวิตที่ยากลำบากมาตั้งแต่เล็ก
อาศัยอยู่ในหมู่บ้านลาคุสโตด อันเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ
บนเกาะเซฟาโลเนีย ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเวนิส
ในวันหนึ่ง ขณะที่เรือบลูเบิร์ดเพิ่งจะฝ่าคลื่นลมมรสุมมาได้อย่างสะบักสะบอม
กัปตันโฮเวิร์ดก็ตัดสินใจแวะพัก และซ่อมเรือที่มีสภาพย่ำแย่ ณ เกาะเล็กๆ แห่งนี้

ฟอลคอน หรือชื่อในเวลานั้นคือเฮียราคิส (ซึ่งแปลว่าเหยี่ยวเหมือนกัน)
ได้ตัดสินใจเลือกชีวิตของตัวเองทันที
เขาเลือกที่จะหนีจากชีวิตที่เงียบเหงา ไร้อนาคตบนเกาะเล็กๆ
เลือกที่จะจากบ้านที่เป็นโรงเตี๊ยมซอมซ่อ มีพ่อเป็นคนโมโหร้าย
มีแม่ที่เป็นหญิงสาวชาวคริสต์ นิกายคาทอลิก
ซึ่งต่างไปจากผู้คนบนเกาะที่นับถือนิกายออร์โธดอกซ์
ฟอลคอนถูกล้อว่าเป็นลูกของนังแม่มดบ้า
เป็นเด็กที่ถูกล้อ ถูกแกล้งจากเพื่อน
และถูกทำร้ายจากพ่อบังเกิดเกล้าเป็นประจำ
และทั้งหมดที่รวมเป็นวัยเด็กอันเลวร้ายของเขา
มันทำให้เขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง

ฟอลคอนแสดงตัวเป็นเด็กดี อ่อนน้อมถ่อมตน
และฝากตัวเป็นลูกเรือของกัปตันโฮเวิร์ดตั้งแต่วัย 12 ขวบ
เขาจากครอบครัว จากบ้านเกิดมาด้วยความยินยอมของพ่อและแม่
ในวันเดียวกันกับที่เรือบลูเบิร์ดแล่นออกจากท่านั่นเอง

นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
การเป็นคอนสแตนติน ฟอลคอน นั้นมันไม่ง่าย
เป็นครั้งแรกที่เอาใจช่วยฟอลคอน นับตั้งแต่เคยอ่านเรื่องราวของเขามา
(จากหนังสือหลายต่อหลายเล่ม)

ฟอลคอนระหกระเหินอีกหลายครั้ง
กว่าโชคชะตาจะนำพาเขามายังเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง สุดแดนฝั่งตะวันออก

เขาได้เรียนรู้จากความยากลำบาก
มีมิตรที่ดีหลายคน ที่สอนวิธีการใช้ชีวิตให้เขา
ความทะเยอทะยายภายใน ผลักดันเขา
และเมื่อทุกๆ อย่างประจวบเหมาะ
ประสบการณ์ทั้งหมดก็หลอมรวมฟอลคอน
ให้กลายเป็นคนแบบที่เขาเป็น แบบที่เราได้รู้จัก
และแบบที่เราประนาม

สำหรับสำนวนต่างๆ ที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียน (และผู้แปล) บรรยายภาพได้ดี
ทำให้เราเห็นภาพบ้านเรือนและวถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเมื่อสามร้อยปีก่อนได้

ในหลายตอน ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านจดหมายทั้งเขียนขึ้นใหม่
และจดหมายดั้งเดิมที่่ถูกเก็บรักษาไว้
ซึ่งเราชอบนะที่มีจดหมายและบันทึกฉบับจริงปะปนแทรกอยู่ในเรื่องด้วย
ทำให้เราได้อ่านความคิดจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง
ซึ่งก็เป็นอีกมุมมองให้เก็บเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์

ผู้เขียนให้น้ำหนักกับเรื่องราวในช่วงเริ่มต้นชีวิตของฟอลคอนเยอะมาก
แต่กลับมารวบรัดในช่วงใกล้จบ
ไม่ได้เล่าเรื่องที่ฟอลคอนมีบทบาทในการส่งโกษาปานไปฝรั่งเศส
เล่าเรื่องที่ฝรั่งเศสส่งทูตชุดที่สอง (ลาลูแบร์) มาอย่างสั้นๆ
เหตุการณ์ช่วงหลังๆ ผ่านไปไวมาก
แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับเรานะ เพราะเรื่องราวเหล่านั้นหาอ่านได้ไม่ยาก
จากหนังสืออีกหลายต่อหลายเล่มที่อ่านมาแล้ว

การอ่านทั้งสามเล่ม (ข้ามสมุทร, รุกสยามฯ และฟอลคอนฯ เล่มนี้)
ทำให้เราเห็นภาพได้กลมขึ้น ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น
หนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ยังมีให้อ่านอีกมาก
ทั้งที่คนไทยเขียนเอง และหนังสือแปล
แต่ตอนนี้ ที่บ้านเราเองมีอยู่เท่านี้ และคงยังไม่หามาเพิ่มในเร็วๆ นี้
(เพราะขี้เกียจอ่านแล้ว 555)
ด้วยว่าเราเป็นสายนิยายอิงประวัติศาสตร์มากกว่าประวัติศาสตร์เพียวๆ
พอกล้อมแกล้มเนอะ จุดประกายความสนใจไปก่อน
แล้วค่อยไปลงลึกส่วนที่สนใจกันเป็นเรื่องๆ ไป ^^

โดยรวมๆ เราว่าเล่มนี้โอเคเลยนะ
ภาษาอ่านง่าย เนื้อหาไม่มากไม่น้อยเกินไป
เพียงแต่ไม่เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราเท่าไร
อ่านได้เพลินๆ สนุกๆ ถ้ายังไม่อิ่มก็ไปหาเล่มอื่นอ่านเพิ่มได้
แนะนำให้ลองอ่านดูค่ะ 🙂

Comments are closed.