อ่านแล้วเล่า

ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด

126 ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด

เรื่อง ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด
ผู้แต่ง ไนเจล วอร์เบอร์ตัน
ผู้แปล ปราบดา หยุ่น และรติพร ชัยปิยะพร
สำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่น
ราคา 320 บาท

เชื่อว่า ในช่วงที่เราเริ่มเป็นวัยรุ่น หลายคนคงเคยครุ่นคิดถึงความเป็นตัวเอง
คิดถึงความเป็นมนุษย์ คิดหาคำตอบเกี่ยวกับการเกิด การมีชีวิต การตาย และชีวิตหลังความตาย
ไม่รู้คนอื่นเป็นหรือเปล่า แต่สำหรับเรา .. เมื่อเติบใหญ่ขึ้น ช่วงเวลาแบบน้อยค่อยๆ ลดลงและหายไป
หนังสือเล่มนี้ ดึงเรากลับมาถกปัญหานั้นอีกครั้ง .. เราได้คุยกับตัวเอง ..
นั่งอ่านไป ก็ทะเลาะกับตัวหนังสือไป ถก เถียง คัดค้าน หรือไม่ก็นั่งพยักหน้าหงึกๆ เห็นด้วย

นานมาแล้วที่เราไม่ได้มานั่งวิเคราะห์ ทบทวนตัวเอง
เราโตขึ้น และข้างในของเราก็เปลี่ยนแปรไปตลอดเวลา
เป็นการดีไหม .. ถ้ามีสักช่วง ที่เราจะกลับมาตรวจสอบสภาพจิตใจ
ตรวจวัดความนึกคิด ความคิดเห็นที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ
ตรวจสอบตัวตนของเราบ้างเป็นครั้งคราว

ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด ชวนเรามาตรวจสภาพความคิด
ชวนมาถกกับตัวเอง .. และหาคำตอบว่า จากวัยเด็ก วัยรุ่น จวบจนกระทั่งวันนี้ ..
ตัวเราเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหนแล้ว

ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด เป็นปรัชญาที่ย่อยง่าย
บอกเล่าชีวิตและผลงานของนักปรัชญาแต่ละคนแบบสรุปสั้นๆ
เริ่มต้นจากโสเครติส เพลโต และอริสโตเติล  .. วอลแตร์, ฌอง ฌาคส์ รุสโซ, ชาร์ลส์ ดาร์วิน,
คาล มาร์กซ์, ซิกมุนด์ ฟรอยด์, อัลแบร์ กามู และนักปรัชญาชื่อไม่คุ้นอีกมากมาย

ผู้เขียนยกตัวอย่างจากเรื่องใกล้ตัว รอบๆ ตัว ทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจน
ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาง่ายๆ แม้จะมีศัพท์ประหลาดของนักปรัชญาโผล่มาเป็นระยะ
แต่มันก็คือคำจำกัดความที่เราเคยผ่านๆ หูมาบ้าง
อาจจะมากจากสารคดี หรือสมัยเรียน หรือหนังสือเล่มอื่นๆ
คำไหนที่ชวนงงจัดๆ ก็มีคำอธิบายแถมมาด้วย หรือไม่ก็มีตัวอย่างเปรียบเทียบนั่นแหละ

นักปรัชญาบางคนก็มีความคิดอันบรรเจิด
บางเรื่อง มันคงจะฟังดูสุดโต่งมากๆ ในยุคของเขา
แต่พอมาถึงยุคเรา มันกลายเป็นพล็อตนิยายวิทยาศาสตร์ หรือภาพยนตร์ไซไฟสุดเจ๋ง
หรือในอนาคต มันอาจจะกลายเป็นความจริง

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าปรัชญา ข้อคิด และชีวิตของนักปรัชญาทั่วโลก (ก็เน้นแต่ยุโรปน่ะแหละ)
สรุป ตัดตอน และคัดเฉพาะส่วนสำคัญๆ ของแต่ละคน เล่าเชื่อมโยงกันไปบนไทม์ไลน์แห่งปรัชญา
มีการส่งผ่านจากทฤษฎีหนึ่งไปยังอีกทฤษฎีหนึ่งอย่างมีจุดเชื่อมโยง
เราได้รู้ความคิดประหลาดๆ หรือพฤติกรรมประหลาดๆ ของนักปรัชญาบางคน

การวิวัฒนาของความคิดแบบปรัชญา เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ความสงสัยในสิ่งรอบๆ ตัว
พัฒนาทีละขั้น เริ่มต้นจากความต้องการอธิบายที่มาของชีวิต ตัวตน
พระเจ้า สังคม การจัดการสังคม

ถึงแม้ว่ามนุษย์ได้ฝ่าดงความรู้มาจนถึงศตวรรตที่ 21 แล้ว
ผ่านยุคแรกเริ่มของปรัชญามามากกว่า 2000 ปีแล้ว
หลายๆ สิ่งที่นักปรัชญาในอดีตเคยพูดไว้ (อาจจะ) กลายเป็นสิ่งที่เชย ล้าสมัยไปแล้ว
แต่ปรัชญาคือรากฐานของชีวิต
ปรัชญาคือความสงสัย ครุ่นคิด และอธิบาย
มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์ และต่อมาก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองการปกครอง
และเมื่อมองให้ลึก นึกให้ดี มันอยู่รอบๆ ตัวเรา

ดูๆ ไป ปรัชญาก็เหมือนเป็นรากฐานของ how to หนังสือวัฒนธรรมตะวันตกจ๋า
ปรัชญาส่วนมาก เปรียบเทียบได้กับหนังสือฮาวทูหัวข้อ
“ควรทำตัวอย่างไรจึงจะมีความสุข” นั่นแหละ

อ่านแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า นิยามนักปรัชญาคืออะไร
แล้วในยุคปัจจุบัน ยังมีนักปรัชญารุ่นใหม่ถือกำเนิดขึ้นบ้างหรือเปล่า
แล้วนักปรัชญาในบ้านเราเล่า .. ตั้งแต่ยุคอดีตถึงปัจจุบัน .. มีไหม .. ใคร?

127-2 ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด

หลายๆ บทของเล่มนี้ ทำให้เรามองเห็นว่า บางทีนักปรัชญาก็ (ดูจะ) ไร้สาระนะ
นิยาม ถกเถียง ครุ่นคิด ถึงบางสิ่งบางอย่างที่ดูไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าน้ำหนักของฝ่ายใดจะชนะก็ตาม
(หรืออาจเป็นเพราะเรามองไม่เห็นความหมายของมัน .. นั่นล่ะ เราถึงไม่ได้เป็นนักปรัชญา!!)

จุดเล็กๆ ในความคิดนี้ วอลแตร์ได้นำเอามันไปขยายเป็น “ก็องดิด”
นิยายเสียดสีสังคมในยุคของเขา .. ทำให้เราได้เก็ตว่า .. เออ ., ไม่ใช่เราคิดไปคนเดียว
นักปรัชญาบางคนก็ไร้สาระเกิ๊น .. นะ
(แต่ถ้ามองในอีกแง่ว่า ความคิดของเขา ..
เป็นรากฐานของความคิดอื่นๆ อันมีประโยชน์ ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ อันนั้นก็พอเข้าใจอยู่)

นักปรัชญาในยุคแรก ดูจะเป็นยุคแห่งการแสวงหาคำตอบ
ยุคแห่งการสงสัย ตั้งคำถาม และหาคำตอบอธิบายมัน
พออ่านไปหลายๆ บท เล่าถึงนักปรัชญาหลายๆ คนเข้า เราเริ่มสังเกตได้ว่า ..
ข้อสงสัยที่วนเวียนอยู่ในห้วงคิดของเหล่านักปรัชญาแต่ละยุค
ล้วนอธิบายด้วยหลักพุทธศาสนาได้เกือบหมดนะ
อาจเป็นเพราะเราเป็นชาวพุทธ เติบโตมากับหลักธรมคำสั่งสอนแบบพุทธมาโดยตลอด
พอมาอ่านเล่มนี้ ก็เลยใช้กรอบของพุทธศาสนาในการตัดสินก็เป็นได้

127-3 ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด

ณ ปัจจุบัน ในยุคสมัยที่อะไรๆ เปลี่ยนเร็วปรู๊ดปร๊าด นักปรัชญาเต็มโลกออนไลน์
มนุษย์เปลี่ยนความคิด ความเชื่อ หรือแม้แต่ความศรัทธากันไวปานฟ้าแลบ ..
เราเลยมองว่า เศษเสี้ยวของนักปรัชญาเหล่านี้แอบซ่อนอยู่ในตัวตนของเราทุกคน
อาจเป็นเพราะโลกกว้าง แต่ข่าวสารแคบ
ข้อมูลกลุ่มหนึ่งถูกถ่ายโยง เชื่อมต่อ ดัดแปลง ฯลฯ ไปโดยธรรมชาติ
และท้ายสุดก็ถูกปั้นเป็นก้อนแจกให้แก่พวกเราทุกคนเสพสมกันตามสบายจากในโลกออนไลน์
มนุษย์ไม่เคยหยุดแสวงหาตัวตน ตั้งคำถาม และพยายามที่จะตอบ
ผู้ที่ให้คำตอบที่ฟังขึ้น จะกลายเป็นเจ้าลัทธิใหม่ให้เคารพบูชากันในระยะหนึ่ง
ซึ่งระยะเวลาที่ว่านี้ก็หดสั้นลงทุกทีตามอัตราจังหวะการหมุนของโลกที่เร็วมากขึ้นทุกทีด้วย
ในความเห็นของเราหลังจากอ่านเล่มนี้ เราว่าปรัชญาหลายสำนักมีความสอดคล้องกับพุทธศาสนา

อีกประเด็นที่เด่นชัดมากในเล่มนี้ . .หรือถ้าพูดให้ถูกคือสิ่งที่นักปรัชญามักจะคิดถึงเสมอๆ .. นั่นคือศาสนา
ชาวคริสต์เองก็สับสนและถกเถียงเรื่องพระเจ้ากันมานานปี นับตั้งแต่ที่ศาสนาคริสต์ถือกำเนิดขึ้นใหม่ๆ
เถียงกันข้ามผ่านเวลานับพันปี .. และศาสนาคริสต์ของใครก็ของมัน พระเจ้าของใครก็ของคนนั้น
หลากหลาย ไม่ซ้ำกันจนน่าแปลกใจ
นี่คือหนึ่งตัวอย่างของนักปรัชญาที่มีความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าแบบแปลกๆ
แปลกจนกระทั่งคนในศาสนาเดียวกันบางคนแทบจะกันให้เขาเป็นพวกอเทวนิยม .. คนนอกศาสนา

127-4 ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด

แม้ว่าปรัชญาในหนังสือเล่มนี้จะเป็นแบบเด็กๆ ง่ายๆ แล้ว
เราเองยังเสพปรัชญาในเล่มแบบชิมๆ เล็มๆ ไม่ได้แตกฉานอันใด
อ่าน คิดตาม แต่จำไม่ได้ว่าแนวคิดของใครเป็นของใคร
ยิ่งถ้าผู้คิดเปรียบเทียบโยงไปมา อันนี้ก็ทำเอามึนเหมือนกัน
แต่ถึงอย่างนั้น ก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ นอกเหนือจากที่เราคุ้นชิน
มีโอกาสได้มองโลกในมุมแปลกๆ ดูบ้าง
และ (คาดว่า) เมื่ออ่านซ้ำในวันหลัง เราคงจะเข้าใจได้มากขึ้น มากขึ้น ..

เป็นหนังสือที่เหมาะจะวางไว้บนหัวนอน
เพื่อที่เราจะได้หยิบมาอ่านวันละตอน และขบคิดเกี่ยวกับเนื้อหาของมันจนหลับไป
(อ่านมากกว่านั้นก็อาจจะหลับก่อนได้ขบคิดเหมือนกันนะ ;P)

Comments are closed.