น้ำเงินแท้

เรื่อง น้ำเงินแท้
ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ
สำนักพิมพ์ 113
ราคา 375 บาท
แค่คำนำก็จี๊ดหัวใจ จิตว่างๆ อาจถึงกับน้ำตาคลอได้
โดยเฉพาะ เมื่อถูกบิ้วท์มาแล้วจากประชาธิปไตยบนเส้นขนาน และปีกแดง
น้ำเงินแท้คือบันทึกชีวิตนักโทษการเมืองตั้งแต่ยุคกบฏบวรเดช
เรื่องเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2476 นับเนื่องต่อกันไปในแต่ละปี
ถ่ายทอดเส้นทางชีวิตของนักโทษการเมืองแต่ละท่าน
จวบจนปี พ.ศ. 2487 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ทั้งหมดได้รับการปลดปล่อย
เรื่องราวไม่ได้เล่าเหตุการณ์การวางแผนก่อนการกบฏเอาไว้มากนัก
แต่เน้นหนักไปที่ภาพชีวิตนักโทษการเมืองภายหลังการถูกจับอย่างละเอียดโดยตลอด
หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคุก ทั้งที่บางขวาง ตะรุเตา และเกาะเต่าเป็นความจริงที่กินใจ
สถานการณ์บ้านเมืองในยุคนั้นถูกถ่ายทอดสู่เราในรูปของ –
ข่าวคราวจากภายนอกคุก เล็ดลอดเข้ามาในเรือนจำ เป็นมุมมองจากในคุก
บุคคลเหล่านี้ผ่านปีใหม่ในคุก ผ่านวันเกิดในคุก ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ในคุก
ผ่านกบฏอีกหลายต่อหลายครั้ง
มีนักโทษการเมืองอีกหลายชีวิตเดินเข้าและเดินออกเรือนจำแห่งนี้
น้ำเงินแท้ เป็นเล่มที่อ่านง่ายที่สุดในสามเล่ม
(เทียบกับประชาธิปไตยบนเส้นขนาน และปีกแดง)
ข้อมูลรายละเอียดทางการเมืองถูกตัดทอนออกไป
(เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนเดียวที่เกิดซ้อนทับกันกับสองเล่มแรก)
ผู้เขียนนำส่วนของอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์มาขยายส่วน
เรื่องราวชีวิตของนักโทษการเมืองดำเนินควบคู่ไปกับเรื่องราวชีวิตของต้นแสง
ปมเหตุที่ทำให้เขาถูกจับกุม ทั้งที่แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เงื่อนงำบางอย่างที่มาจากคนใกล้ชิด
ถ้านับในส่วนของพล็อต ความซับซ้อนและปมของเรื่องอ่อนสุดในสามเล่ม
แต่ถ้านับเรียงลำดับความชอบแล้ว เราชอบเล่มนี้ไม่น้อยไปกว่าสองเล่มแรกเลยค่ะ
คำศัพท์ภาษาอังกฤษในตอนต้นของแต่ละบท
เป็นเสมือนสาส์นสำคัญบางอย่างที่ผู้เขียนตั้งใจบอกไว้ในแต่ละตอน
หลายตอนกระแทกใจ เสมือนใช้คำศัพท์เหล่านี้ช่วยขยี้ความรู้สึกให้เน้นหนักมากขึ้นไปอีก
เราเข้าใจว่าการใช้คำศัพท์พร้อมคำแปลและตัวอย่างการใช้ในประโยค
เป็นการเลียนแบบปทานุกรม (พจนานุกรม) ของสอ เศรษฐบุตร (สอ เสถบุตร)
หรือไม่อีกทีอาจะเป็นคำศัพท์จากปทานุกรมของสอเองเลย
(คาดเดาที่สุดนะคะ เพราะเราไม่มีปทานุกรมฉบับนั้นอยู่กับตัว)
หลายคนรู้กันอยู่แล้วว่า สอ เสถบุตร ทำพจนานุกรมในคุก (ในขณะนั้นเรียกว่าปทานุกรม)
แต่ น้ำเงินแท้ ทำให้เราได้เห็นรายละเอียด เห็นความยากลำบากในการทำนั้น
ไม่ใช่คุกเดียว แต่เริ่มต้นจากบางขวาง ไปทำต่อที่ตะรุเตา และเกาะเต่าในตอนสุดท้าย
ไม่ใช่สอคนเดียว แต่เป็นการช่วยเหลือ ร่วมแรงร่วมใจของนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ด้วย
เรื่องราวในส่วนของนิยาย เป็นเรื่องชีวิตของต้นแสง
เด็กชายชนบทคนหนึ่งที่มีความฝัน และมีผู้ชี้นำชีวิตที่ดี
ทำให้เขาเดินทางมาไกลจากจุดเริ่มต้นของชีวิตมาก
เขาได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ มีโอกาสได้อ่านหนังสือดีๆ มากมาย
และรักที่จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ในที่สุด และนั่นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตอีกแบบของเขา
ในวันที่ต้นแสงกำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคู่รัก
เขาได้รับรู้ความจริงว่า “แผนล้อมกวาง” ที่เขาคิดว่าล้มเลิกไปแล้ว กำลังเป็นรูปเป็นร่าง
เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏบวรเดชครั้งนี้โดยบังเอิญ
ทำให้ผลสุดท้าย เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
หลังคำตัดสิน นักโทษทั้งหมดรวมทั้งต้นแสง ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำบางขวาง
และนั่นทำให้เราได้เห็นภาพบรรยากาศ
และภาพเหตุการณ์ประจำวันของชีวิตนักโทษการเมืองในยุคนั้น
ที่นั่นเป็นแหล่งรวมนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น
เรือนจำบางขวางจึงเป็นแหล่งกำเนิดงานเขียนสำคัญอีกหลายงานในเวลาต่อมา
ตัวอย่างหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นเหล่านั้นได้แก่
ฝันร้ายของข้าพเจ้า – พระยาศรัยภัยพิพัฒ
พินัยกรรมคนเป็น – ขจร สหัสรจินดา
ตะรางการเมือง – ขุนสินาดเสนีย์
ความพินาศ – ผิว บุศย์อยู่พรหม
จำลายสารภาพ – สอ เศรษฐบุตร
ฯลฯ
ชีวิตของตัวละครที่ชื่อต้นแสง พาผู้อ่านไปคลุกคลีทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญหลายคน
บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์
มีเกร็ดชีวิตอันเป็นของจริง อ่านสนุก น่าติดตาม และน่าทึ่ง
บุคคลสำคัญที่ปรากฎตัวในเรื่องได้แก่ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดาวงศ์,
ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน, นาวาอากาศเอกพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช),
พระยาสุรพันธเสนี (อิ๋น บุนนาค), อรุณ บุนนาค, หลุย คีรีวัต,
พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา),
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ กรมขุนชัยนาท, ฯลฯ
เรื่องหนึ่งที่เราเพิ่งรู้รายละเอียดจากเล่มนี้คือ
เรื่องของการที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเปลี่ยนแปลงวิธีสะกดของตัวอักษรภาษาไทย
เบื้องหลังแท้ที่จริงมีสาเหตุมาจากการที่ กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทย
บีบให้รัฐบาลสั่งให้เด็กนักเรียนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่น
ให้เหตุผลว่า ภาษาไทยซับซ้อนเรียนยาก (จริงๆ ญี่ปุ่นยากกว่าอีกนะนั่น -*-)
สมควรใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการแทน (บรึ๋ยส์)
รัฐบาลจึงหาทางออกเพื่อมิให้ไทยกลายเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย
นายกรัฐมนตรีเชิญนักปราชญ์หลายท่านมาปรึกษา ในที่สุดก็ได้แผนถ่วงเวลา
เปลี่ยนการเขียนหนังสือไทยเสียใหม่
แล้วแจ้งฝ่ายญี่ปุ่นว่าหลังจากเราเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ประเทศไทย
และขยายดินแดนเพิ่ม จำเป็นต้องปรับปรุงภาษาไทยให้เรียบง่ายขึ้น
เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สังคม และการเมือง
ไม่ว่าฝ่ายญี่ปุ่นเชื่อหรือไม่ แต่ท้ายที่สุด
เด็กไทยก็ไม่ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นในโรงเรียน
(คัดลอกจากภายในเล่ม)
อดขอโทษท่านในใจไม่ได้ที่เคยนึกตำหนิท่านมาตลอด ^^”
อีกเรื่องที่สำคัญมาก แต่เราเพิ่งรู้โดยละเอียดก็คือ ..
เมื่อในหลวงเสด็จไปสหรัฐฯ ไม่นาน ทรงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า
ทรงตั้งพระทัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย
หนังสือพิมพ์ในอเมริกาลงข่าว และเขียนการ์ตูนการเมือง
รูปรัชกาลที่ ๗ ทรงยื่นม้วนรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน
ในหลวงทรงรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลก และทรงรู้ดีว่า
ช้าหรือเร็วระบอบประชาธิปไตยจะมาแทนที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์แน่นอน
ในหลวงทรงปรึกษาเรื่องนี้กับ ฟรานซิส บี. แชร์มาก่อน
รับสั่งให้พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ
กับนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ที่ปรีกษากระทรงการต่างประเทศร่างรัฐธรรมนูญถวาย
ตั้งพระทัยว่าจะพระราชทานในวันจักรีที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ ที่ผ่านมา
แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา
(คัดลอกจากภายในเล่ม)
สำหรับมือใหม่ที่อยากอ่านนวนิยายที่มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์การเมือง
แนะนำให้เริ่มต้นที่น้ำเงินแท้ค่ะ เพราะเรื่องราวไม่หนักจนชวนท้อ
มีเกร็ดสนุกๆ และมีเนื้อหากินใจ เป็นอีกเล่มที่ดีไม่แพ้เล่มอื่นๆ เลยค่ะ
Comments are closed.