ทุกวันเป็นวันที่ดี
เรื่อง ทุกวันเป็นวันที่ดี
ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน
ผู้แต่ง โมริชิตะ โนริโกะ
ผู้แปล สิริพร คดชาคร
สำนักพิมพ์ บิบลิ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786168293324
เรื่องเริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่าย ของชีวิตนักศึกษาวัยเพิ่งจะ 20 คนหนึ่ง
โมริชิตะ โนริโกะ ถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนชงชาของตนเอง
ที่เริ่มต้นในวัยที่ยังเป็นนักศึกษา
เธอเป็นนักศึกษาปีท้ายๆ ในมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจนนัก
แล้วในวันหนึ่ง การเรียนชงชาก็เข้ามาในชีวิตของเธอ
ทุกวันเป็นวันที่ดี : ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน
แม้ชื่อของหนังสือเล่มนี้ จะดูเป็นหนังสือแนวพัฒนาตนเอง
และเนื้อแท้ของเรื่อง ถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน
แต่เรื่องราวถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของเรื่องแต่ง
การเล่าเรื่องลื่นไหลเหมือนอ่านนิยายธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง
เราไม่รู้สึกถึงการถูกบอกถูกสอนตรงไหนเลย
เรื่องเล่าต่างๆ ผ่านเข้ามาสู่ตัวเราอย่างเป็นธรรมชาติ
เมื่อหนังสือเริ่มต้นเรื่องด้วยการเริ่มต้นเรียนชงชาของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง
ทัศนคติของเด็กคนนั้นจึงไม่แตกต่างจากทัศนคติของผู้อ่าน
ที่มีความรู้เรื่องการชงชาเพียงน้อยนิด ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของมัน
ภาพที่เห็น ก็เป็นเพียงภาพรวมภายนอก เช่นเดียวกันกับที่คนทั่วไปเห็น
อาจตัดสิน จัดระดับ หรือใส่กรอบให้กับมันไปแล้ว
จวบจนเมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เราจึงได้เห็นความคิดของผู้เขียนที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป
และเราเองก็เริ่มทำความเข้าใจเรื่องราวของการชงชาไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ กินเวลาร่วม 20 ปีกว่า
จวบจนวันที่ผู้เขียนกำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ เธอก็ยังเรียนชงชา
เป็นการเรียนที่ไม่สิ้นสุด และได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ระหว่างการเรียนเสมอๆ
ผู้เขียนเปรียบเทียบการเรียนรู้เช่นนี้ว่า
เปรียบเสมือนน้ำที่หยดลงถ้วยทีละหยด
ในแต่ละหยดไม่ทำให้น้ำในถ้วยเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ต่อเมื่อน้ำเต็มถ้วย น้ำหยดต่อไปจึงทำให้สมดุลบนผิวน้ำเปลี่ยนแปลง
น้ำที่เอ่อล้นจากปากถ้วยตอนนั้นเอง คือสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่าการตื่นรู้
มันเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที และสอนกันไม่ได้ บอกเล่ากันไม่ได้
ผู้คนจะต้องตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเอง
การตื่นรู้เช่นนี้ เกิดขึ้นกับผู้เขียนเป็นครั้งคราว
ตลอดการเรียนชงชาหลายสิบปีที่ผ่านมา
แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เขียน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกเล่าต่อกันได้
และเราทุกคนต้องทำความเข้าใจมันกันด้วยตนเอง
แต่วิธีเล่าเรื่องของผู้เขียนก็ช่วยน้อมนำเราให้พอจะเห็นภาพในสิ่งที่เกิดขึ้น
วิธีบรรยายถึงความละเอียดอ่อน มีมองมองที่นุ่มละมุนต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
อาทิเช่น ป้ายภาพตัวอักษร ดอกไม้ ที่ประดับในแต่ละครั้งที่มาเรียน
ขนมที่กินคู่กับชา ซึ่งหมุนเวียนผันเปลี่ยนไปตามการผลิบานของไม้ดอกไม้ใบ
ผิวสัมผัสของถ้วยชา สีสัน รูปทรง ซึ่งสอดคล้องไปกับฤดูกาล ผลิ ร้อน ร่วง หนาว
ผู้เขียนค่อยๆ นำพาตัวละครเข้าไปสู่โลกแห่งความละเอียดอ่อน
ต่อธรรมชาติ กลิ่น เสียง ผัสสะ ฤดูกาล ข้าวของ ฯลฯ
ในระหว่างที่เรียนชงชานั้นเอง
ชีวิตของผู้เขียนเองก็หมุนเวียน เติบโต
และเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลแห่งชีวิตด้วย
หลายครั้งที่เกิดความทุกข์ ผิดหวัง สับสน
หลายครั้งที่เกิดความรู้สึกไม่อยากจะมาเรียนชงชา
หรือแม้แต่อยากที่จะเลิกเรียนไปเลย
คงมีบางความรู้สึกติดค้างในอดีต
ที่ต่อให้เราพยายามตัดใจ
แต่ผ่านไปไม่นาน ตะกอนเหล่าก็ถูกกวนขึ้นมาให้เรารู้สึกกับมันได้อีก
ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เป็นคำถามที่เวียนวนอยู่ในหัว
ว่าทางที่เราเลือกเดิน ดีที่สุดแล้วจริงหรือ
ถูกต้องแล้วจริงหรือ
บทเรียนหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้บอกกับเราก็คือ
เมื่อมีความทุกข์ .. จงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติ ..
เมื่อเวลาผ่านไป ตัวละครก็ยิ่งได้ทบทวนตัวเองผ่านการชงชา
เธอได้ผ่านความสับสน การดิ้นรนภายใน
ระหว่างนั้น คนอ่านก็จะได้ทบทวนตัวเองไปด้วยเช่นกัน
มันเป็นหนังสือที่พาเราจมลึกลงไปภายในตัวเรา
ในช่วงท้าย
จากที่รู้สึกชอบบทที่อ่านมากแล้ว
เมื่ออ่านบทถัดไปและถัดไป
กลับรู้สึกชอบมากกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆ
เป็นหนังสือที่จัดลำดับการเล่าเรื่องได้สวยงาม
แม้ว่าในหลายบท ผู้เขียนจะเล่าถึงเรื่องเดียวกัน
แต่ระดับความลึกและเข้มข้นของสิ่งที่ต้องการจะบอก
กลับเพิ่มมากขึ้นทีละน้อย เหมือนถูกชุบชูจิตใจ
และผลักดันความรู้สึกที่เกิดขึ้น ให้สูงขึ้น พีคขึ้นไปเรื่อยๆ
หนังสือเล่มนี้เหมาะที่จะอ่าน
เพื่อสัมผัสความรู้สึกเช่นที่เราบรรยายออกมาไม่หมด
เพื่อที่จะได้สำรวจ และทบทวนตัวเองไปพร้อมกับผู้เขียน
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับซื้อเป็นของขวัญ มอบแด่คนที่รัก
โปรดอ่าน เพื่อมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน
และได้พบว่า .. ทุกวันเป็นวันที่ดี
ปล.1 โปรดอ่านด้วยความไม่คาดหวัง
เราอ่านด้วยความคาดหวังทีไร หนังสือไม่สนุกทุกทีเลย ^^”
ปล.2 ฝากถึงสำนักพิมพ์
ขอบคุณที่เลือกหนังสือดีๆ เช่นนี้ มาแปลให้คนไทยได้อ่านค่ะ
เราตั้งตารออ่านเล่มต่อไปของคุณนักเขียนคนนี้อยู่นะคะ
ปวารณาตัวเป็นแฟนคลับคุณโมริชิตะแล้วล่ะค่ะ ^^
Comments are closed.