อ่านแล้วเล่า

ชีวิตไม่ไร้ความหมาย

เรื่อง ชีวิตไม่ไร้ความหมาย
ผู้แต่ง วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล
ผู้แปล นพมาส แววหงส์
สำนักพิมพ์ โซเฟีย
สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161848286

ชีวิตไม่ไร้ความหมาย ถูกเขียนขึ้นโดย ..
วิกเตอร์ อี. ฟรังเคิล จิตแพทย์ชาวออสเตรีย
เขาถูกจับไปอยู่ในค่ายกักกันของนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เขาถูกย้ายไปเรื่อยๆ ถึง 4 แห่ง ก่อนที่สงครามจะสิ้งสุดลง

หนังสือเล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1946
ผู้เขียน เขียนส่วนแรกรวดเดียวจบ โดยใช้เวลาเพียง 9 วัน

เราไม่แปลกใจเลย ที่เขาจะใช้เวลาเขียนน้อย
เรื่องที่เล่ามันพรั่งพรู
เขาเขียนออกมาจากความทรงจำรวดเดียว
มันค่อนข้างวกวน ไม่รู้ว่าเป็นที่ผู้เขียนเองหรือผู้แปล
แต่ถ้อยคำที่ใช้วกไปวนมาอยู่สักหน่อย

หนังสือเล่มนี้ ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน
ส่วนแรก คือส่วนที่เขาเล่าประสบการณ์ในค่ายกักกันของนาซี
ส่วนที่สอง คือรายละเอียดของโลโกเทอราปี
ทฤษฎีทางจิตเวช ที่เกิดขึ้นจากการตกผลึกความคิดทั้งหมด
ทั้งจากการสังเกตเหล่าผู้คนในค่ายกักกัน
และรักษาผู้ป่วยภายหลังสงคราม ในเวลาต่อมา
บทนี้เป็นบทที่อ่านได้ยาก
ความไม่สนุก และไม่เข้าใจเต็มไปหมด
มันดูเหมือนเป็นงานวิชาการ ที่ไม่ได้เขียนให้คนทั่วไปอ่าน

ผู้เขียนบอกเราว่า เราเลือกชีวิตของเราเองได้
เลือกสิ่งที่เป็นคุณค่าของเรา เลือกทางที่เราเดิน
เลือกเป้าหมายของเรา อนาคตของเรา
หาให้เจอ และสิ่งเหล่านี้จะเป็นความหมายของเรา
ที่เราจะต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ .. มีชีวิตอยู่ต่อเพื่อสิ่งนี้
จงหาคุณค่าในตัวเอง และจงมีชีวิตเพื่อมัน
มันคล้ายๆ กับเป็นการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยว ให้กับผู้ที่หมดหวังในชีวิต

ส่วนบทส่งท้าย ถูกเขียนโดยเพื่อนของผู้เขียน
มันทำให้เราได้เห็นภาพรวม และช่วยสรุปจบหนังสือได้ดี
มันทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ผู้เขียนเป็น และสิ่งที่ผู้เขียนทำได้ชัดเจนขึ้น

เราว่าตัวตนที่แท้จริงของเขา น่าจะดีกว่าตัวหนังสือของเขา
ตัวหนังสือของเขามีความแข็งทื่อ
ในขณะที่ตัวเขา น่าจะมีความอบอุ่น เอื้ออาทร
เข้าอกเข้าใจ มากกว่านั้น

เอาจริงๆ หนังสือเล่มนี้เข้ามาไม่ค่อยถูกเวลาเท่าไร
ในตอนที่อ่าน เราจับต้องอะไรไม่ค่อยได้
มันเป็นยารักษาโรคที่เราไม่ได้ป่วย
เป็นคำตอบของคำถามที่เราไม่ได้ถาม
มันไม่ตอบโจทย์เรา

เราว่า ที่เราอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่สนุก
ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก เราไม่ได้เข้าใจมันทั้งหมดก็เป็นได้
หนังสือบางเล่ม มันคงมีเวลาของมัน มีความเหมาะสมของมัน
ตอนนี้อาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับเรา

Comments are closed.