ชีวิตที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากทาส

เรื่อง ชีวิตที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากทาส
ผู้แต่ง Booker T. Washington
ผู้แปล ศาสตราจารย์หลวงสมานวนกิจ
สำนักพิมพ์ บรรณกิจ
เลขมาตรฐานหนังสือ ไม่ได้ลงไว้
ชีวิตที่รุ่งเรืองขึ้นมาจากทาส เป็นหนังสือในเชิงอัตชีวประวัติ
มียุคสมัยที่เชื่อมต่อกันกับยุคสมัยในเรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม
หลังจากที่ กระท่อมน้อยของลุงทอม ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
นับล่วงต่อมาอีกราว 10 ปี อเมริกาก็เกิดสงครามกลางเมือง
และเลิกทาสได้ในเวลาต่อมา
ในขณะที่มีประกาศเลิกทาสนี้ ผู้เขียนยังอยู่ในวัยเด็ก แต่พอจำความได้บ้าง
เมื่อเล่าในรูปแบบของอัตชีวประวัติ
ความรู้สึกลึกซึ้งกินใจจึงไม่มากเท่ากับรูปแบบนิยายใน กระท่อมน้อยของลุงทอม
แต่คำประกาศเลิกทาสก็พอจะทำให้เราจินตนาการได้
ถึงความรู้สึกที่พรั่งพรูของตัวละครต่างๆ ในเรื่องลุงทอมฯ
การนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ ถูกแบ่งออกเป็นตอน ทั้งหมด 17 ตอน
หลังจบแต่ละตอน ผู้จัดทำได้แทรกบทวิจารณ์เอาไว้ด้วยอีก 17 บท
ซึ่งเป็นบทวิจารณ์ของพันเอก พระสงครามภักดี
เราสารภาพว่าอ่านเก็บแต่เนื้อเรื่องมากกว่า
สำหรับบทวิจารณ์ท้ายบทนั้น เราได้แต่เพียงอ่านผ่านๆ ไปเท่านั้น
เพราะเป็นการเล่าความซ้ำเนื้อเรื่องเดิม
ต่างไปแต่เพียงผู้วิจารณ์ได้เพิ่มเติมข้อคุณธรรมตามหลักพุทธศาสนาให้แก่ ดร.วอชิงตัน ผู้เขียน
เหตุการณ์ในช่วงต้นของเล่มนี้ ได้ทำให้เราเห็นบรรยากาศอย่าง-
ที่เราอยากเห็นในเรื่องลุงทอมฯ
เราอยากรู้ว่าหลังจากเลิกทาสแแล้ว ชาวนิโกรมีชีวิตอยู่กันมาอย่างไร
พวกเขาเริ่มต้นใช้วิตอย่างไร คิดเห็นและรู้สึกอย่างไร
หลังเลิกทาสไม่นาน ผู้เขียนได้อพยพย้ายจากเมืองของนายมายังเวอร์จิเนียตะวันตก
เพื่ออยู่รวมกันเป็นครอบครัว มีพ่อเลี้ยง แม่ พี่ชาย (จอห์น) และตัวผู้เขียนเอง
เริ่มต้นชีวิตกันด้วยการรับจ้างทำเกลือในโรงต้มเกลือสินเธาว์
สิ่งแรกที่ผู้เขียนอยากทำหลังจากได้รับอิสระคือ เขาอยากอ่านหนังสือออก
แม่ของเขาหาหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือจำพวกหนังสือหัดอ่าน
ในหมู่ชนผิวดำในละแวกนั้น ไม่มีใครอ่านหนังสือออกเลย
ผู้เขียนได้แต่นั่งเปิดดูและจดจำตัวอักษรแทนการอ่านเขียน
จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง จึงมีการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับคนผิวดำขึ้น
โดยการรวมกลุ่มของคนผิวดำด้วยกัน
จัดหาสถานที่ จัดหาหนังสือ จ้างครูจากคนที่อ่านหนังสือออก
ครูจะต้องเวียนไปอาศัยอยู่ตามบ้านของนักเรียนแต่ละคนจนครบปี
(เหมือนลอร่าในหนังสือชุดบ้านเล็กเลย ..
หนังสือทั้งสองเล่มเล่าเรื่องราวในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน)
โรงเรียนที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เปิดสอนเฉพาะเด็กๆ เท่านั้น
แม้แต่ผู้ใหญ่ก็อยากอ่านหนังสือออก
มีการเรียนหนังสือภาคค่ำ หลังจากเสร็จงานในแต่ละวันแล้ว
แม้แต่วันอาทิตย์โรงเรียนก็ไม่หยุด
ยังมีชาวผิวดำที่ไม่สามารถมาเรียนในวันธรรมดา แต่ว่างมาเรียนได้ในวันหยุดนี้
หลังจากนั้น ผู้เขียนได้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยแฮมพ์ตั้น
ไปขอเรียนอย่างคนยากจน ไม่มีเงิน และต้องพิสูจน์ตัวเอง
และใช้ความพยายามอย่างมากกว่าจะเรียนจบ
เมื่อเรียนจบมาระยะหนึ่ง
เขาถูกส่งตัวมาเป็นครู พร้อมทั้งบุกเบิกเริ่มต้นวางระบบการสอนโรงเรียนทัสคีกี
การสอนของผู้เขียน ถ้าเปรียบกับสมัยนี้ก็นับว่าทันสมัยพอใช้
เพราะเขาไม่ได้สอนแต่ความรู้เพียงอย่างเดียว
แต่สอนวิธีนำไปปฏิบัติใช้งานจริง
สอนสุขอนามัย การใช้ชีวิต
สอนคุณธรรม และแนวคิดต่อการงานและความรับผิดชอบด้วย
เขาเป็นคนมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ และไม่ยอมแพ้ต้ออุปสรรคใดๆ
โรงเรียนที่สร้างขึ้นมีส่วนในการพัฒนาชุมชนโดยรอบให้เจริญรุ่งเรืองไปด้วย
เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิธีการสร้างอาหาร
ทั้งปลูกผัก ปลูกข้าว และทำปศุสัตว์
รู้จักสร้างบ้าน ตั้งแต่ขั้นตอนการทำอิฐดินเผา ทำเครื่องเรือน เตียงนอน ที่นอน ฯลฯ
ได้รู้จักการค้าขายผลผลิตที่ครูและนักเรียนได้ร่วมกันสร้างขึ้น
ความรู้เหล่านี้ นักเรียนสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ในชีวิตจริง
ทั้งการช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง และการประกอบอาชีพ
การต่อสู้ต่อความยากลำบาก
ซึ่งไม่ใช่ความยากลำบากของตนเอง
แต่เพื่อลูกศิษย์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที
ผู้เขียนได้ต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ ที่จะสอนตามแนวทางของตนเอง
ต่อสู้กับความยากจนเพื่อให้ได้หอพัก อาหาร และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ
ความพยายามทั้งหมดนี้ได้เสริมสร้างกำลังใจในการทำความดีของผู้อ่าน
ว่าอุปสรรคนั้นมีไว้เพื่อฟันฝ่าและเอาชนะ
ในช่วงครึ่งแรกที่ผู้เขียนฟันฝ่าอุปสรรคนั้น เป็นช่วงที่สนุกพอใช้ (สำหรับเรา)
แต่จะมาน่าเบื่อหน่อยใช้ช่วงหลังๆ ที่ผู้เขียนเล่าถึงการกล่าวสุนทรพจน์ต่างๆ
ผู้เขียนมีชื่ออยู่มากในด้านการกล่าวสุนทรพจน์
ดังนั้น จึงมีหลายบทตอนที่เล่าไว้ถึงเรื่องเหล่านี้
สุนทรพจน์ต่างๆ ที่เขากล่าวไว้
ล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษา และการฝึกฝนตนเองของคนผิวดำ
การพัฒนาตนเองไปอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งสองเชื้อชาติ
ความสำคัญของคนทั้งสองเชื้อชาติที่มีต่อผืนแผ่นดิน
หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่สนุกน้อยกว่าที่คิด
วิธีเล่ามีความเป็นทางการ ภาษาที่ผู้แปลใช้ก็เป็นภาษาเก่า
ใช้วิธีแปลแบบเก่า คือแปลออกมาไท้ยไทย
อ่านแล้วก็จะเบื่อๆ หน่อย
มีช่วงให้สนุกบ้างตอนที่ผู้เล่าต้องเอาชนะอุปสรรคต่างๆ
แต่โดยรวมๆ นั้นจะชวนง่วงหน่อย
Comments are closed.