อ่านแล้วเล่า

ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด

เรื่อง ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด
ผู้แต่ง ฮาร์เปอร์ ลี
ผู้แปล นาลันทา คุปต์
สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161812324

ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด เป็นหนังสือที่เริ่มอ่านได้ยากมาก
มันมีวิธีเล่าแบบจิ๊กซอว์ที่ให้ผู้อ่านปะติดปะต่อภาพเองทีละน้อย
เราเองสงสัยมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นอ่าน (จริงๆ ต้องบอกว่าตั้งแต่ได้ยินกิตติศัพท์ของมัน)
ว่าหนังสือเล่มนี้ดีงามตรงไหน
มันเริ่มต้นยาก .. อย่างที่บอก
แต่ความดีงามของมันที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้น ก็เป็นเรื่องคุ้มค่า
ผ่านร้อยหน้าแรกไปให้ได้ แล้วเราจะเริ่มชอบมัน

ได้ยินมาว่าหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของคนดำและคนขาว
เป็นเรื่องของความเท่าเทียมทางสังคม ว่าด้วยเรื่องของการยอมรับในความเป็นมนุษย์
แต่เมื่อเราได้อ่าน .. 
มันไม่ใช่แค่เรื่องของคนดำกับคนขาว
เมื่อเมืองทั้งเมืองเป็นเมืองของคนขาว
ซึ่งมีคนดำเป็นเพียงชิ้นส่วนแทรกเร้นอยู่ในส่วนต่างๆ ของเมือง
ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด ยังเล่าถึงความสัมพันธ์แบบชุมชนเมือง
เพื่อนบ้าน และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ .. ความสัมพันธ์ของเพื่อนมนุษย์
ผู้คนรูปแบบต่างๆ และวิถีชีวิตอันดำเนินไปอย่างเกี่ยวพันกัน
ความสัมพันธ์รูปแบบแปลกๆ ในสังคมมนุษย์ ฯลฯ

เพื่อนบ้านทุกคนมีส่วนในการขับเคลื่อนให้เรื่องราวดำเนินไป
(แอบนึกถึง คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ บ้านเรา)

ตัวละครผู้เล่าเรื่องทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ให้เราฟังคือ “ฉัน”
ซึ่งก็คือสเกาท์ (มิสสเกาท์ ฟินช์) และคือจีน หลุยส์ ด้วย
(คนคนหนึ่งจำเป็นต้องมีชื่อเยอะขนาดนี้มั๊ย?)
สเกาท์ เป็นเด็กหญิงอายุ 6 ขวบ
(อันที่จริง เราอ่านมันมานานพอควรเลย กว่าจะรู้ว่าสเกาท์เป็นเด็กผู้หญิง 555)
เธอมีพี่ชายวัย 10 ขวบ นามว่า เจ็ม (เจเรมี แอคติคัส ฟินช์)
มีพ่อเลี้ยงเดี่ยวคือ แอคติคัส มีอาชีพทนายความ

แอคติคัสเป็นทนายดี และเป็นพ่อที่ดี
มันเป็นการยากที่จะตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง
ทั้งๆ ที่รู้ผลของมันจากนั้นจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตใหญ่หลวง
ในยุคที่คนผิวสียังต่ำต้อยด้อยค่า
แม้จะเลิกทาสแล้ว แต่วิถีชีวิตของพวกเขาก็ไม่ต่างจากนั้นนัก
คนดำถูกลดชั้นลงในทุกๆ อย่างจากคนขาวเพียงครึ่งหนึ่ง
และเมื่อมีข้อพิพาท คำพูดของเขาน่าเชื่อถือเพียงครึ่งเดียว

แอคติคัสเป็นทนายความ และหน้าที่ของเขาคือเป็นทนายให้กับคนดำคนหนึ่ง
การยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคนขาวในศาล
ทำให้ครอบครัวของเขาต้องยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคนขาวในหมู่บ้าน

เด็กๆ จะต้องอดทนอดกลั้นต่อหลายสิ่งหลายอย่างในสถานการณ์ช่วงนั้น
และผ่านมันไปให้ได้
เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ว่าคนที่กล้าหาญคือคนที่อดทนอดกลั้นต่อการดูถูกได้ต่างหาก
ไม่ใช่คนที่วิ่งเข้าไปซัดหน้าคนที่ว่าเรา
เด็กๆ ได้เรียนรู้จักความซื่อสัตย์ และยอมรับในสิ่งที่ตนทำลงไป
เด็กๆ มีอิสระที่จะเที่ยวเล่น ตะลอนไปได้ทั่วทุกที่
แต่พวกเขาจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนทำ

   

เราชอบตอนที่แอคติคัสสอนให้เจ็มกลับไปขอโทษยายแก่
เพื่อนบ้านที่แสนจะร้ายกาจ .. หญิงชราที่ป่วยและร้ายกาจ
แกดูถูกแอคติคัส (พ่อ) ของพวกเด็กๆ จนเจ็มทนไม่ไหว
และทำลายสวนดอกไม้ของแก
แอคติคัสให้เจ็มกลับไปยอมรับความผิด และยอมรับการลงโทษ
ด้วยการเข้าไปอ่านหนังสือในบ้านทึมๆ มืดๆ และเต็มไปด้วยกลิ่นยา
นานเป็นเวลาหนึ่งเดือน

จริงๆ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราชอบในหนังสือเล่มนี้ เล่าได้ไม่หมด
มันเป็นหนังสือที่อ่านจบลงไปแล้วรอบหนึ่ง ก็อยากจะอ่านทวนมันซ้ำอีกรอบ เรื่อยๆ
มันยังมีแง่มุมต่างๆ ให้เราเก็บตก ขบคิด พินิจพิเคราะห์
เป็นหนังสือที่ลึกซึ้ง ดีงาม และทำให้เราอยากจะอ่านมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างคำตอบ ..
ว่าทำไมเราจึงไม่ควรเลิกอ่านหนังสือที่มันน่าเบื่อในตอนต้น
เพราะเราจะพลาดโอกาสที่จะรักมันในตอนสุดท้าย
เรารักหนังสือเล่มนี้ค่ะ

Comments are closed.