ค่าของคน
เรื่อง ค่าของคน
ผู้แต่ง โรสลาเรน
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา 400 บาท (2 เล่มจบ)
ค่าของคน เป็นนิยายที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2508
เรียกว่าเก๋ากึ๊กส์ก่อนเราเกิดกันเลยทีเดียว
ดังนั้น ฉาก เนื้อหา และเรื่องราวก็เลยต้องย้อนยุคกันนิดหน่อย
แต่ใจความหลักของเรื่อง กลับยิ่งทันสมัยมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อวันเวลาผ่านมาจนถึงในยุคปัจจุบัน
สังคมที่แวดล้อมเราอยู่ เป็นหนึ่งสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนแบบที่คนหมู่มากหมู่นั้นเป็น
ทัศนคติเกี่ยวกับ “ค่าของคน” ก็เช่นกัน
ลักษมณ์เป็นมนุษย์ที่ถูกแวดล้อมไปด้วยผู้ที่ตีค่าของคนเอาไว้ด้วยค่าของเงิน
ดังนั้น เมื่อมาเจอมนุษย์นอกสังคมเดียวกัน บางครั้งเขาก็เผลอใช้บรรทัดฐานอันคุ้นเคย
เมื่อได้พบรจเรขเป็นครั้งแรก เขาจึงตีค่าเธอด้วยเงิน
และนั่น เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ยังผลให้เกิดความไม่เข้าใจต่อกันมาอีกตลอดเรื่อง
ชายหนุ่มผู้มีมาดนักธุรกิจเหลี่ยมคมจัด
กับหญิงสาวผู้ซื่อตรงกับทุกสิ่ง ทั้งซื่อตรงต่อหน้าที่ความกตัญญูแห่งความเป็นบุตร
ซื่อตรงต่อความถูกต้อง และซื่อตรงต่อคำพูดของตน
สำนวนของทมยันตี (โรสลาเรน) ในเวลาที่ไม่ได้เขียนให้ซับซ้อนอ่านยากนั้น
เสียดสีและแสบสันต์ดีไม่น้อยทีเดียว
อ่านแล้วก็เกิดอาการสาแกใจคนอ่านอยู่หลายวรรค
พล็อตนิยายเรื่องนี้ เป็นพล็อตนิยายเก่าเก๋ากึ๊กส์สมกับที่เขียนเอาไว้นานแล้ว
ประเภทที่ว่านางเอกมีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน เป็นเหตุผลแห่งความกตัญญู
ในขณะที่ฝ่ายพระเอกก็เข้าใจผิด ให้ค่าของนางเอกไม่เกินค่าของเงิน
หากป้าอี๊ดก็เล่าได้สละสลวย สมเหตุสมผลรองรับกับสถานการณ์ของเรื่อง
(เฉพาะตอนต้นเรื่องนะ เพราะช่วงท้ายๆ ต่างฝ่ายต่างก็ถือทิฐิกันจนน่ารำคาญ)
ถึงขนาดอ่านในสมัยนี้ ยังนับได้ว่าการตัดสินใจของรจเรขค่อนข้าง “แรง”
ไม่อยากจะนึกเลยว่า ถ้านั่งไทม์แมชชีนไปถือขนบของคนเมื่อเกือบ 50 ปีก่อนแล้วอ่าน
เนื้อเรื่องของ “ค่าของคน” เรื่องนี้จะ “แรง” ขนาดไหน
และเนื่องจากว่าโรสลาเรนวางตัวพระเอกเรื่องนี้เอาไว้ว่าเจ้าชู้
ดังนั้นบทบาทของชายเจ้าชู้ เวลาที่เจ้าเล่ห์แสนกลกับนางเอกจึงน่ารัก
บทหวานๆ ยามที่ทั้งสองคนไม่ได้ทะเลาะกันก็ชวนจิกหมอน
เป็นความหวานแบบโบราณและสวยงาม (นานๆ ทีเรื่องของป้าอี๊ดจะมีฉากชวนจิกหมอน)
ความสัมพันธ์ของ “ค่าของคน” กับเรานั้น จะนับไปก็เป็นการอ่านหนแรก
แต่เป็นการอ่านหนแรกแบบพอรู้เรื่องมาเกือบหมดแล้ว
ด้วยว่าเพิ่งดูละครเวอร์ชั่นล่าสุดจบไปไม่กี่ปี
และแม้เวอร์ชั่นล่าสุด จะปรับอะไรต่อมิอะไรให้ทันสมัยจากวันที่ผู้เขียนเขียนมาอีกเกือบ 50 ปี
แต่ธีมเรื่องสำคัญก็ยังครบถ้วน (ในความเห็นของเรานะ)
รายละเอียดที่มีในหนังสือแต่ไม่มีในละครหลายอย่างก็ละเอียดและจับใจ
อย่างเช่นความผูกพันของพี่น้องต่างมารดาอย่างลักษมณ์และพิมานนั้น
เป็นความสนิทชิดเชื้อและปรารถนาดีต่อกันจริง
แต่เบื้องหลังนั้น ยังมีความรู้สึกลึกๆ บางอย่างของทั้งสองคน
ที่ฝ่ายหนึ่งได้เป็นตัวตายตัวแทนของพระยาผู้เป็นบิดา
ในขณะที่อีกคน (น่าจะ) จงใจทำตัวให้ไม่ได้เรื่องได้ราว เพื่อเสียสละให้น้อง
ส่วนคนน้องเองก็เสียสละอิสระส่วนตัว เพื่อรับหน้าที่อันเป็นที่หวังของครอบครัว
ซึ่งแท้ที่จริงใจ การได้ทำตามใจตัวเอง หรือการอยู่ในกรอบระเบียบอันดีงามของสังคม
สิ่งใดกันแน่คือความถูกต้อง?
ค่าของคน เป็นนวนิยายที่จะเอาอ่านเรื่องเพื่อความสนุกก็ได้
หรือจะใช้สอนใช้เตือนตนเองก็ได้อีก
และไม่ว่าจะอ่านเพื่ออะไร สิ่งหนึ่งที่เราได้พ่วงมาด้วยคือภาษาสละสลวย อ่านลื่น จรรโลงใจ
นี่คืออรรถรสของนิยายโบราณ ที่หาอ่านยากขึ้นทุกที
หยุดยาวๆ ถ้าไม่มีแพลนจะไปไหน หนังสือดีๆ สักเล่มก็นับเป็นการพักผ่อนที่ไม่เลวนะคะ ^^
Comments are closed.