อ่านแล้วเล่า

ความลับของหลุมดำกับลุงแอลเบิร์ต

61-1 ความลับของหลุมดำ กับลุงแอลเบิร์ต

เรื่อง ความลับของหลุมดำ กับลุงแอลเบิร์ต
ผู้แต่ง Russell Stannard
สำนักพิมพ์ พิศวาส ปทุมุต์ตรังษี
ราคา 95 บาท

ความลับของหลุมดำ กับลุงแอลเบิร์ต เป็นหนังสือเล่มที่สองในชุดนี้ค่ะ
แต่ถึงอย่างนั้น หนังสือทั้งสามเล่มนี้ก็ไม่ได้ต่อกัน
แม้ว่าไทม์ไลน์ของเหตุการณ์จะต่อเนื่องกัน
แต่เนื้อหาในเล่มนั้นไม่เชื่อมโยงต่อกันให้สับสนค่ะ
เราสามารถอ่านเล่มไหนก่อนก็ได้ หรือจะเลือกอ่านเพียงเล่มที่สนใจเล่มเดียวก็ได้
ในเล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวความโค้งของอวกาศ เรื่องราวของหลุมดำ ฯลฯ
ก้าวไปใกล้กับเรื่องของคลื่นความโน้มถ่วงมากกว่าเล่มที่แล้วเสียอีก
(เล่มที่แล้วคือ มหัศจรรย์แห่งเวลาและอวกาศ กับลุงแอลเบิร์ต ค่ะ)
และเราก็คิดว่า มันออกจะเข้าใจยากมากกว่าเล่มแรกนิดหน่อยด้วย

ในหนังสือเล่มที่สองเล่มนี้ คุณลุงแอลเบิร์ตยังคงตีกรอบความคิดอันเดิมของเรา
ให้แตกกระจายออกไปมากกว่าเดิมอีก
อย่างเช่นเรื่องของอวกาศที่ไม่ได้ว่างเปล่า
แต่มีอะไรบางอย่างที่บังคับให้วัตถุอื่นๆ เคลื่อนที่เป็นเส้นโค้ง ..
อะไรบางอย่างที่ไม่ใช่แรงโน้มถ่วง!!
แรงโน้มถ่วงที่เรารู้จักมาตลอดชีวิต ว่ามันคือแรงดึงดูดวัตถุโคจรรอบดวงดาว
ว่ามันคือแรงดึงดูดที่ทำให้กระสวยอวกาศโคจรรอบโลกของเรา ..
ลุงแอลเบิร์ตกลับบอกว่าไม่ใช่!!

61-2 ความลับของหลุมดำ กับลุงแอลเบิร์ต

แล้วอย่างเรื่องที่บอกว่า อวกาศของเรากำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
นับตั้งแต่เหตุการณ์บิกแบงครั้งนั้นจนปัจจุบันก็ยังไม่สิ้นสุดอีกล่ะ
แล้วถ้าไม่ใช่เพียงแค่โลกของเราหรือดาวดวงต่างๆ จะเป็นทรงกลม
แต่อวกาศเองก็อาจจะกลายเป็นทรงกลมได้ในวันหนึ่งด้วยล่ะ!
มันน่าทึ่งจริงๆ ที่ไอน์สไตน์จินตนาการไปขนาดนั้นได้ยังไง!!

เป็นหนังสือเล่มบางๆ ที่อ่านไปได้อย่างช้าๆ (แต่จบลงในวันเดียวได้อย่างแน่นอน!!)
ฉกฉวยช่วงเวลาเช้าๆ อันปรอดโปร่งค่อยๆ สร้างจินตนาการตามคุณลุงไป
เคยหยิบเล่มนี้มาอ่านตอนก่อนนอน พบว่าใช้ได้เหมือนกัน
คืออ่านจบแล้ว เอาไปอ่านต่อในฝันได้ด้วย
แต่สารภาพว่า เวลาที่ง่วงจัดๆ แต่อยากอ่านหนังสือสักเล่ม .. เล่มนี้ไม่ไหวค่ะ
เราอ่านย่อหน้าเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย
ต้องยอมปิดแล้วไปหยิบเล่มอื่นที่เนื้อหาเบากว่ามากล่อมตัวเองแทน ^^”
เป็นเล่มบางๆ ที่อัดแน่น เข้มข้นมาก

เนื้อเรื่องในตอนนี้ยิ่งตอกย้ำคำนำจาก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ
(บก.ของหนังสือเล่มนี้) เลยค่ะว่า
การที่ลุงแอลเบิร์ตมีหลานสาวชื่อเกดังเก้น .. อันแปลว่าความคิดนั้น
เป็นสิ่งที่ลงตัวสุดๆ
เพราะบางที หลานเกดังเก้นคนนี้อาจจะไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงๆ
เป็นเพียงความคิดหนึ่งในสมองของลุงแอลเบิร์ต ที่กำลังครุ่นคิดคุยอยู่กับตัวเองก็ได้
การที่ลุงแอลเบิร์ตพาเกดังเก้นขึ้นยานอวกาศในบอลลูนความคิดได้
ก็เป็นเพราะว่าเกดังเก้นเองก็อยู่ในสมองของลุงแอลเบิร์ตด้วยเหมือนกัน
ลึกล้ำจริงๆ ค่ะ (เราคิดเอาเองน่ะนะ)

Comments are closed.