ขวัญสงฆ์

เรื่อง ขวัญสงฆ์
ผู้แต่ง ชมัยภร แสงกระจ่าง
สำนักพิมพ์ คมบาง
ราคา 140 บาท
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือนอกเวลาของลูกสาวค่ะ
(จิ๊กหนังสือลูกมาอ่านอีกแล้ว ^^”)
ขวัญสงฆ์ เป็นหนังสือนวนิยายที่เรียงร้อยต่อกันด้วยทำนองของร้อยแก้ว
ไม่ได้เน้นที่ความสละสลวยของบทกลอน แต่เป็นกลอนอ่านง่ายที่เน้นเนื้อหากินใจ
หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่สอง (ที่เราเคยอ่าน) ที่ใช้วิธีเขียนแบบนี้
(เล่มแรกคือ แมวผู้มองเห็นกำแพงเป็นสะพาน ค่ะ และเล่มนั้นผู้เขียนใช้ภาษาไพเราะมาก)
เป็นเรื่องราวของเด็กชายกำพร้าคนหนึ่งที่ถูกนำมาวางทิ้งไว้ที่วัด
มีหลวงตาคอยอบรมเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังไม่รู้ความ
เมื่อยังเล็กนั้น หลวงตาได้ฝากให้ตาส่งและยายหนูดูแล
ต่อเมื่อพ้นวัยทารก ขวัญสงฆ์จึงได้กลายมาเป็นเด็กวัดอย่างเต็มตัว
ขวัญสงฆ์ แม้จะเติบโตในวัด แต่ก็เป็นเด็ก
ได้ทำผิดบาป พลั้งพลาดได้ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป
หลวงตาและขวัญสงฆ์ ต่างต้องข้ามผ่านบทเรียนแห่งรักมากมาย
หลายบททดสอบ ที่พระต้องตัดใจทำโทษขวัญสงฆ์
ทั้งๆ ที่ใจผู้ปกครองก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน
คือภาพที่ชัดเจนตามสุภาษิต ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’
แม้จะไม่มีพ่อมีแม่ แต่ขวัญสงฆ์ก็เติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์
กินอิ่ม นอนหลับ และมีความสุขพอประมาณ
แม้จะซุกซนประสาเด็ก แต่ก็ได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลวงตาเสมอๆ
เมื่อเข้าโรงเรียน ขวัญสงฆ์มีเพื่อน และได้เห็นความแตกต่างของผู้คน
ทั้งที่สุขกว่าตน และทุกข์กว่าตนก็มี
ขวัญสงฆ์ได้รับทั้งความรัก ความเมตตาปราณี และได้พบเห็นความแปรเปลี่ยน
ได้เรียนรู้ ผ่านทุกข์มาก ทุกข์น้อย และความสุขมาหลายแบบ
แล้วขวัญสงฆ์ก็เติบโตทั้งทางกายและทางใจ
เราติดใจนิดเดียวที่เนื้อเรื่องของขวัญสงฆ์ดูเป็นนิย๊ายนิยายไปหน่อยค่ะ
โดยเฉพาะตอนท้ายๆ ที่ครูสุดากับครูสมเดชทำกับขวัญสงฆ์
เราว่ามันร้ายเกินคนเป็นครู .. แม้ว่าในชีวิตจริง เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้
แต่สำหรับในเรื่องมันก็ไม่รองรับเหตุผลในตอนต้นอยู่ดี ที่เลี้ยงดูกันมาอย่างดี
อยู่ด้วยกันมาตั้งหลายปี ไม่รู้จักเด็กในปกครองของตนกันเลยหรือไร?
ถ้าจะเปลี่ยน ก็ควรจะเป็นที่อารมณ์เปลี่ยน หงุดหงิดเกินงาม
เมื่อสติกลับมาก็ควรจะระลึกได้ถึงเหตุถึงผล
แต่นี่เรียกว่าโกรธจนขาดสติ ไม่ฟังเหตุและผลใดๆ
แต่ก็นั่นแหละค่ะ ถ้าไม่มีควาทุกข์จากครูสุดาและครูสมเดชเป็นตัวขับ
ขวัญสงฆ์ก็จะไม่พบทุกข์จนอยากหาทางพ้นทุกข์
ขวัญสงฆ์ เป็นธรรมะสำหรับเด็กที่ง่ายงาม ไม่ได้ลงลึกซึ้งอะไร
ช่วยจุดประกายความคิด และบางคำถามสำหรับเด็กๆ
เหมาะแล้วที่จะเป็นหนังสือนอกเวลาค่ะ
Comments are closed.