อ่านแล้วเล่า

ขมิ้นกับปูน

85-1 ขมิ้นกับปูน

เรื่อง ขมิ้นกับปูน
ผู้แต่ง จุลลดา ภักดีภูมินทร์
สำนักพิมพ์ เพื่อนดี
ราคา 290 บาท

เรื่องราวใน ขมิ้นกับปูน เริ่มต้นในยุคสมัยที่เพิ่งจะเปลี่ยนแปลงการปกครองหมาดๆ
สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพิ่งจะจบสิ้นลงไปในปีนั้น

ฉากของเรื่องเกิดขึ้นระหว่างบ้านใหญ่สองหลัง
อันเป็นบ้านที่ประกอบไปด้วยสมาชิกในบ้านมากมาย
บ้านหลังแรก เป็นบ้านของพระยาอภิบาลบำรุง ผู้มีบุตรและบุตรีรวมกัน 4 คน
อันได้แก่ บุตรชาย พระนิติรักษ์ธรรมสถิต (ปรุง), และบุตรีอีก 3 คน คือ
คุณปริก คุณจำปา และคุณปีบ ตามลำดับ
ในชั้นหลาน พระนิติรักษ์ธรรมสถิต ก็มีบุตรสาวอีก 3 คน
คือ ปัทมา (ปัท) พี่สาวคนโต ผู้มีทิฐิแรงเช่นเดียวกับปู่และพ่อ
ปวีณา (ณา) น้องสาวที่ห่างกัน 2 ปี ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมา
มีนิสัยช่างฟ้อง และมักทำให้ปัทต้องถูกคุณปู่ทำโทษเสมอๆ
เด็กหญิงคนสุดท้อง คือ ปารมี (ปาน) มีอายุน้อยที่สุด ห่างจากปัทถึง 5 ปี

ส่วนบ้านอีกหลัง เป็นบ้านของ พระวิจิตรศิลปการ (ทวน)
พระวิจิตรฯ มีลูกชาย 3 คน คือ คุณทำนุ คุณทำนอง และคุณธนา
มีสะใภ้คือ คุณพิศมร สมรสกับนายทำนุ มีลูกชายอีก 2 คน
คือ แทนพงศ์ (แทน) และทันพันธุ์ (ทัน)
และหลานสาวทางคุณพิศมรอีกหนึ่งคน คือทานตะวัน

ในยุคที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วดุจกระแสน้ำอันไหลแรง
ครอบครัวของพระยาอภิบาลบำรุง โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัว
คือผู้ที่ไม่ปรับตัวยอมรับรู้การเปลี่ยนแปลงใดๆ
ทำตัวเป็นกิ่งไม้แข็งขืนลอยต้านธารน้ำเชี่ยวนั้น

ความแตกแยกออกเป็นสองฝ่ายในยุคนั้น
มีให้เห็นอย่างชัดเจน และปรากฏอยู่ในวรรณกรรมหลายเรื่อง
ที่เห็นเด่นชัดและจำได้ติดใจก็คือ สี่แผ่นดิน
ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้มอบบทบาทแห่งความแตกแยกนี้ไว้ในบ้านของพลอย
ตาอ้น ลูกชายของคุณเปรมคนโตเป็นฝ่ายผู้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
ในขณะที่ตาอั้น ลูกชายแท้ๆ ของพลอยเอง
เป็นฝ่ายเห็นดีเห็นงามไปกับพวกหัวก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

สำหรับในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้มอบให้บ้านของพระยาอภิบาลบำรุงเป็นฝ่ายหัวเก่า
แต่เขียนให้ออกไปในทางเก่าคร่ำครึโบราณ และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย
ในขณะที่บ้านของพระวิจิตรศิลปการ
รับบทบาทฝ่ายที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างหน้าชื่นตาบาน
นอกจากนั้นยังหัวสมัยใหม่ ยอมคบค้ากับพวกญี่ปุ่น
และกลายเป็นเศรษฐีสงคราม ที่รุ่งเรืองในอยู่ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2
เป็นการแบ่งฝ่ายที่สุดโต่งกันไปคนละฝั่งอย่างชัดเจนสุดๆ

85-2 ขมิ้นกับปูน

ผู้เขียนวางสงครามและการเมืองเอาไว้เป็นเพียงฉากหลังไกลๆ เท่านั้น
แม้ว่าสองสิ่งนั้นจะมีผลกระทบกับตัวละครโดยตรงหลายประการ
แต่ก็มิได้บอกเล่าเท้าความไปเกินกว่าที่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเนื้อเรื่องเท่านั้น
ทำให้ น่าเสียดายสำหรับผู้อ่านที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นชัดเจน
ก็จะพลาดโอกาสได้รู้ประวัติศาสตร์ของบ้านเราในยุคนั้นไป

สงครามโลก ได้ผันผวนครอบครัวคนไทยหลายครอบครัว
ให้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือถ้วนทั่วกัน
ครอบครัวทั้งสองครอบครัวนี้ก็เช่นกัน
จากข้าราชการตำแหน่งสูงส่ง กลายมาเป็นคนว่างงาน และเริ่มอัตคัดฝืดเคือง
ในขณะที่ข้าราชการตำแหน่งต่ำด้อยค่า กลับได้ดิบได้ดีมีสง่าราศรีอันมาจากน้ำเงิน

ด้วยความแตกต่างดังนี้ รวมทั้งเรื่องราวผิดใจกันมาแต่หนหลัง
ทำให้บ้านสองบ้านนี้ไม่ถูกกันอย่างแรง
เมื่อผู้ใหญ่เกลียดกัน ก็พลอยเกณฑ์ลูกหลานให้พาลเกลียดและไม่พูดจากันไปด้วย
เพียงเพราะความเกลียดชังของผู้เป็นปู่
เด็กๆ ในบ้านจึงถูกสั่งสอนให้เกลียดตามไปด้วย
เป็นความเกลียดที่ถูกฟูมฟัก ปลูกฝังมาตั้งแต่เพิ่งจะรู้ความ

ถ้าท่านผู้ใหญ่หัวกระบวนถูกนำพาด้วยทิฐิไปผิดทาง
ลูกหลานในกระบวนก็พาลถูกนำพาไปผิดทางด้วย
ฝ่ายที่พอจะมีสติปัญญา ก็ถูกคำว่ากตัญญูปิดปาก
ฝ่ายที่เขลาขลาดขาดสติ
ก็พลอยหลับหูหลับตาเดินตามกระบวนไปด้วยนึกว่าตนทำถูก

ถึงแม้ว่าสองครอบครัวนี้จะเกลียดกัน
แต่ด้วยความที่บ้านอยู่ใกล้กันกัน ก็มีเหตุทำให้ต้องเกี่ยวข้องกันอยู่มิรู้สิ้น
แม้ไม่ถูกกัน แต่ก็รู้จักหน้ารู้จักชื่อกันดีทุกคน

ทานตะวัน เป็นหลานทางสะใภ้ของครอบครัวพระวิจิตรฯ
เธอเป็นเด็กผู้หญิงคนเดียวท่ามกลางเด็กผู้ชายในบ้านนั้น
ทานตะวันเป็นเพื่อนรักของปัทมา
หากความสัมพันธ์ของเด็กๆ ก็ต้องเป็นไปอย่างหลบๆ ซ่อนๆ
ทานตะวันนี้เอง คือผู้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปจนถึงที่สุด

ในวัยเด็ก ปัทมา และทานตะวัน มีโอกาสพบปะสนิทสนมกันที่โรงเรียนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ความสนิทสนมของเด็กๆ เชื่อมโยงไปถึงเด็กหนุ่มอีกคนในบ้านพระวิจิตรฯ ด้วย
เด็กหนุ่มคนนั้นเป็นลูกหลงของพระวิจิตรฯ จึงมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลานๆ
ธนา หรือที่เด็กๆ เรียกกันว่าน้านา
เขามีโอกาสพบหน้าปัทมาน้อยครั้ง แต่ก็ตกหลุมรักเด็กสาวบ้านตรงข้ามทีละน้อย
ความยากลำบาก คือสิ่งที่ช่วยเพิ่มรสชาติให้กับความรัก ความหลง ..
ยิ่งถูกกีดกันเท่าไร ก็ยิ่งต้องขวนขวาย ดื้อดึงเพื่อที่จะรักกันให้ได้
ทานตะวันเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของความรักครั้งนี้
เธอออกหน้าวางแผนการช่วยเหลือเพื่อนสนิทและญาติสนิทอย่างเต็มใจ

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวปัทมานั้น ไม่ใช่การยึดถืออุดมคติเหนือความรัก
หากแต่เป็นการใช้แต่อุดมคติโดยปราศจากความรักเสียมากกว่า
โดยเฉพาะปู่และพ่อของปัทมาเป็นสำคัญ
การเลี้ยงเด็กด้วยทิฐินั้น หนักหนาเอาการอยู่แล้ว
แต่การเลี้ยงเด็กด้วยทิฐิแห่งอุดมคติอันปราศจากความรักความเมตตาแล้วล่ะก็
ไม่ควรหวังให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ใฝ่ดีได้เลย

เหตุการณ์ถลำไปไกลถึงขั้น ปัทมาถูกจับได้ว่าแอบเขียนจดหมายรักถึงธนา
เธอถูกผู้เป็นปู่ลงโทษทารุณกรรม และจับไปบวชชีที่วัดแห่งหนึ่งในชลบุรี
ปัทมาก็ยังหนีออกมาจากวัดอีกครั้ง และครั้งนี้เป็นการเลยเถิดถลำลึกจนลืมสติ
ตัวละครทั้งหมดที่รายล้อมปัทมาอยู่
ต่างก็มีส่วนในการผลักดันให้เธอก้าวตกกะไดพลอยโจนเข้าไปทุกที
ซึ่งทั้งหมด ล้วนเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยอดีต
ตั้งแต่ทวดของเธอ มาถึงคุณอาปีบ
และจะส่งผลไปยังปารมี น้องสาวคนสุดท้องของเธออีกด้วย
แต่ทั้งนี้ จะโทษคนรอบข้างเพียงอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้อง
เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ต่างก็มีต้นกำเนิดที่คล้ายคลึงกันทุกคน
แต่ทางที่แต่ละคนต่างเลือก ก็ทำให้ผลที่เกิดขึ้นนั้นต่างกัน
โดยเรื่องที่เกิดขึ้นกับปัทมานั้น เป็นหนทางเดินที่ร้ายที่สุดนั่นเอง

ความรักที่ต้องห้ามที่ถูกคว้ามาได้ .. เปรียบเสมือนชัยชนะของทั้งคู่
ปัญหาต่อๆ มาคือความแตกต่างของทั้งคู่ ..
และความน้อยเนื้อต่ำใจของฝ่ายหญิง
บางที อ่านแล้วก็รำคาญความเขลา ความคับแคบของปัทมา ..
(เผลอเอาทัศนคติของตัวเองไปตัดสินเธออีก ;P)
ในยุคหนึ่ง ตัวละครอย่างปัทมาอาจจะน่าสงสาร
แต่ในยุคปัจจุบัน เห็นได้ชัดเลยว่าปัทมามีส่วนสำคัญในการนำพาชีวิตตนให้ตกต่ำ

85-3 ขมิ้นกับปูน

ขมิ้นกับปูน เป็นหนังสือที่มีสำนวนสละสลวย ดำเนินเรื่องได้น่าติดตาม ..
เสียแต่ว่าเป็นพล็อตที่เราไม่ชอบเอาซะเลย
เป็นหนังสือที่อ่านแล้วอัดอั้นตันใจ มีแต่ความยึดผิดหลงผิด
มุ่งหวังแต่จะให้ร้ายต่อกันและกัน
และแต่ละฝ่ายก็สุดโต่งกันไปคนละทาง
โดยที่ต้นเหตุแห่งความเกลียดชังนั้นก็จบสิ้นไปไม่รู้กี่รุ่นแล้ว
แต่ก็ยังยึดมั่นถือมั่น จงเกลียดจงชังไม่เลิก
นอกจากไม่เลิกเกลียด แล้วก็ไม่เลิกใส่ใจด้วย
เฝ้านั่งดู แล้วก็นั่งเกลียดกันไม่ยอมทำอะไรอยู่นั่นเอง

ในความหลงผิดของตัวละครทั้งสองฝ่ายนั้น เป็นดั่งละครให้เราย้อนดูตัว
อ่านแล้วเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดของพระยาอภิบาลฯ และพระวิจิตรฯ
เพราะผู้เขียนตั้งใจเขียนให้มันออกจะสุดโต่ง ชัดเจน
อ่านแล้ววิเคราะห์ อ่านแล้วอย่าเอาเยี่ยงอย่าง ..
ขมิ้นกับปูน ถือเป็นบทเรียนเตือนใจที่ดีทีเดียวค่ะ

แม้ว่า ขมิ้นกับปูน นั้น จะเครียดมาโดยตลอดเรื่อง
แต่ในตอนท้ายๆ นั้นก็พอมีเรื่องราวให้อมยิ้มอยู่ได้บ้าง
ทันพันธุ์ หลานคนสุดท้องของพระวิจิตรฯ นั้น
เป็นคนตรงไปตรงมาเข้าขั้นขวานผ่าซากทีเดียว
นอกจากนั้นยังมั่นใจในตนเองอย่างสูง อย่างคนที่ไปเรียนเมืองนอกมาตั้งแต่เล็ก
แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็เป็นคนมีจิตใจดี มีคุณธรรมซื่อตรง
มีอะไรดีๆ ในตัวพอสมควร
นายทันพันธุ์คนนี้เอง ที่ได้กลายมาเป็นคู่ปรับคารมกับพระยาอภิบาลในตอนท้าย
อ่านมาทั้งเรื่อง ก็เพิ่งมาเห็นพระยาอภิบาลยอมอ่อนข้อลงให้คนคนนึง
แถมยังเป็นเด็กกว่าถึงรุ่นหลาน .. หลานของศัตรูเสียด้วย
เพราะทันพันธุ์นี่เอง เรื่องที่เครียดมาโดยตลอดเรื่อง
จึงมีชื่นมื่นให้พอยิ้มได้ในตอนจบ

โดยตลอดเรื่อง ผู้เขียนได้แจกแจงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอย่างลึกซึ้ง รอบด้าน
จนถึงในบทอวสาน ก็ยังเป็นการจบอย่างมีชั้นเชิง และสอนใจ
เป็นการสรุปรวมเหตุการณ์ทั้งปวงที่ตรรกะบิดเบี้ยวสุดโต่งในตอนต้น
ได้แปรเปลี่ยนลงตัวสมบูรณ์ในตอนจบ
เป็นนิยายที่อ่านเหนื่อย แต่สนุกและเตือนใจได้ดีจริงๆ ค่ะ

Comments are closed.