ขนำน้อยกลางทุ่งนา

เรื่อง ขนำน้อยกลางทุ่งนา
ผู้แต่ง จำลอง ฝั่งชลจิตร
สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9748428664
ขนำน้อยกลางทุ่งนา เริ่มต้นเรื่องอย่างธรรมดา ..
เล่าชีวิตเด็กชนบทในอีกแบบหนึ่งที่ต่างไปจาก ลูกอีสาน
ลูกอีสาน นั้นเป็นเรื่องอันเป็นตัวแทนของกสิกรแห่งภาคอีสาน
ในขณะที่ ขนำน้อยกลางทุ่งนา ย้ายพิกัดไปเล่าเรื่องชาวนาทางภาคใต้
ตัวละครในเรื่องผลัดกันเป็นตัวเอกในแต่ละตอน
แต่ที่เด่นสุด ก็น่าจะเป็น เด่น ลูกชายประถม 5 ของแม่นวล
เด่นเป็นเด็กชายช่างฝัน ที่มีความคิดนอกกรอบ
เด่นเป็นเด็กที่เคยเรียนหนังสือเก่ง แต่กลับไม่ชอบเรียนหนังสือ
ชอบใช้ชีวิตในทุ่งนา อยากทำงานเก็บเงินเลยโดยที่ไม่ต้องเรียน
ถ้า คูน เป็นตัวแทนของเด็กชายอีสานผู้เล่าเรื่องลูกอีสานให้เราฟัง
เด่น ก็เป็นเด็กชายหลัก ผู้เล่าเรื่อง ขนำน้อยกลางทุ่งนา เล่มนี้
ภาษาสำนวนที่ใช้ในเล่มนี้มีความสละสลวย มีสถานการณ์ที่มาที่ไป
เป็นนิยายที่อ่านได้ลื่นไหลกว่าลูกอีสาน (รสนิยมส่วนตัวนะ)
เรื่องถูกแบ่งออกเป็นตอนขนาดไม่สั้นไม่ยาว
แต่ละตอนจบลงในตัวของมันเองคล้ายเรื่องสั้น
มันมีเรื่องราวของมันเองอยู่ หากแต่ว่าในแต่ละตอนก็ต่อเนื่องเชื่อมโยง
พาเรื่องให้ดำเนินไปทีละน้อย
ในเนื้อเรื่องยังมีตัวละครเปรียบเทียบอีกคนหนึ่ง คือบ่าว
ทางบ้านของบ่าว แม่ไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือ
แต่เจ้าตัวกลับขวนขวายใฝ่รู้ทั้งๆ ที่ลำบาก
เด็กชนบท .. อันที่จริงน่าจะนับรวมเด็กไทยทั้งหมด .. ในสมัยก่อน
โตเป็นผู้ใหญ่และรู้จักรับผิดชอบตัวเองได้เร็วและมากกว่าเด็กในยุคนี้
พวกเขาสามารถจัดแจงหาข้าวปลากินเองได้ อยู่บ้านคนเดียวได้ตั้งแต่เล็กๆ
รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี
เพื่อนของเด่นอีกบางคน รวมไปถึงป้าๆ น้าๆ เพื่อนบ้าน
ที่ต่างก็มีอุปนิสัยเป็นเอกลักษณ์กันไปคนละแบบ
ล้วนแต่ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องราวของ ขนำน้อยกลางทุ่งนา ให้ดำเนินไป
ชีวิตและชีวิต สุขทุกข์เกื้อกูลกันกลายเป็นมิตรภาพ
ที่ดีก็ดีเหลือแสน
ที่ร้ายก็ร้ายจนไม่เคยลืมตามองเห็นความยากลำบากของใคร
ตอนที่เด่นกัดปลานี่สะเทือนใจเราที่สุด
แต่นอกจากตอนนี้ ก็ยังมีตอนที่น่าสนใจอยู่หลายตอน
เราเริ่มอ่าน ขนำน้อยกลางทุ่งนา มาแบบอ่านไปเรื่อยๆ อ่านก็ได้ไม่อ่านก็ได้
แต่พอผ่านช่วงที่กัดปลามาสักพัก เนื้อเรื่องก็เริ่มมีทางไปของมัน
เริ่มมีจุดมุ่งหมายให้เรามองเห็น
เรื่องที่ดูเรื่อยๆ มาเรียงๆ ตั้งแต่แรก
มาขมวดสนุกเอาตอนใกล้จะจบนี่เอง
จากที่เฉยๆ เมื่อตอนเริ่ม ถ้าทนอ่านจนผ่านจุดที่เริ่มรู้สึกเบื่อๆ มาได้
ตอนจบของเล่มนี้มันคุ้มค่า คู่ควรแก่การอ่านค่ะ
Comments are closed.