กระท่อมน้อยของลุงทอม
เรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม
ผู้แต่ง แฮเรียต บีชเช่อร์ สโตว์
ผู้แปล อ.สนิทวงศ์
สำนักพิมพ์ รวมสาส์น (1977)
เลขมาตรฐานหนังสือ ไม่ได้ลงไว้
เป็นหนังสือที่อ่านจบแล้วยอมรับเลยว่ารีวิวยากมาก
หลังพลิกหน้าสุดท้ายของ กระท่อมน้อยของลุงทอม จบลง
เกิดความคิดมากมายหลายอย่างพลุ่งพล่านอยู่ในหัวเต็มไปหมด
เราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับทาสและการเลิกทาสกันบ่อยมาก
แต่สำหรับเราจะเป็นในมุมมองของทาสไทย และศักดินาแบบไทยๆ มากกว่า
นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดในมุมมองของทาสได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น
ได้รับรู้ถึงความเศร้าที่เป็นของจริง
การพลัดพราก การทำทารุณกรรม
ไปจนถึงความรู้สึกนึกคิดของทาสที่มีต่อคนยุคนั้น
คนขาวที่ให้ค่าความเป็นมนุษย์แตกต่างกันราวคนกับสัตว์
กระท่อมน้อยของลุงทอม ใช้ตัวละครลุงทอมเป็นผู้ดำเนินเรื่อง
แต่ถ่ายทอดให้เราเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทาสคนอื่นๆ อีกต่อไปเป็นทอดๆ
ตัวละครอีกหลายตัวที่เชื่อมต่อ ผูกพัน เกี่ยวข้องต่อกันและกัน
ผู้เขียนเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่างทาสหนึ่งที่ยอมจำนน ซื่อสัตย์และภักดี
ไม่ว่าจะต้องพบเจอกับนายที่มีลักษณะนิสัยเช่นไร
เขาคนนั้นคือลุุงทอมนี่เอง
ลุงทอมมีศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างแรงกล้า
ศรัทธา แม้ว่าตัวเองจะได้พบเจอความทุกข์อย่างแสนสาหัส ..
แกก็ยังเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าพระเจ้าไม่ทอดทิ้งแก
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นทาสที่รักอิสระ
เขาถูกกระทำทารุณอย่างอยุติธรรมมาตั้งแต่จำความได้
จึงเลือกวิธีต่อสู้อย่างเข้มแข็ง
เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้อง เหมาะสม
แต่ไม่ว่าจะเป็นทาสอย่างลุงทอม หรืออย่างทาสคนอื่นๆ
ทั้งสองฝ่ายล้วนมีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน
ต้องการการยอมรับและปฏิบัติจากเพื่อนมนุษย์ อย่างมนุษย์ด้วยกัน
เราเล่าเรื่อง สปอยล์ เนื้อหาบางส่วนนะคะ
กระท่อมน้อยของลุงทอม เริ่มต้นขึ้นในครอบครัวของชาวผิวขาวครอบครัวหนึ่ง
ครอบครัวเชลบีประกอบไปด้วยสามี ภรรยา และลูกชายเล็กๆ คนหนึ่งคือยอร์ช
ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวคนขาวที่นับได้ว่าดีพอใช้
เขามีความเมตตากรุณาต่อทาสพอสมควร
แต่เมื่อมีปัญหาการเงิน เขาก็เลือกหนทางที่จะทำให้ตนเองสบาย
โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากของผู้อื่น
ด้วยการตัดสินใจขายทาสที่แสนดีอย่างลุงทอมไปในราคาค่อนข้างสูง
เพื่อนำเงินมาใช้หนี้
การเล่าด้วยมุมมองของผู้เขียนนั้นไม่ได้ตำหนิการกระทำของมิสเตอร์เชลบีมากนัก
ด้วยว่าเป็นวิถีปกติธรรมดาที่ผู้คนยุคนั้นปฏิบัติกัน
แต่ผู้เขียนก็เลือกที่จะตำหนิการกระทำของมิสเตอร์เชลบีผ่านตัวละครอื่น
อย่างภรรยาและลูกชายของเขาเอง
ในครั้งที่ลุงทอมถูกขาย ยังมีทาสเด็กชายอีกคนหนึ่งที่ถูกขายพร้อมกันไปด้วย
แต่แม่ของเด็กเลือกหนทางที่จะพาลูกหนีไปเสียจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรมนี้
เส้นทางของเรื่องราวจึงถูกแยกออกเป็นสองเส้นทางคู่ขนานกันไป
ชีวิตของลุงทอมนั้นยังไม่โชคร้ายเท่าไรนัก เมื่อเขาได้นายใหม่ที่ดีอีกครั้งหนึ่ง
ครอบครัวเซนต์แคลนี้มีสามีที่เป็นคนดีพอใช้ มีลูกสาวเล็กๆ ที่นิสัยดีมาก
แต่มีภรรยาที่แย่มากถึงมากที่สุด
มิสเตอร์เซนแคลร์มีภรรยาที่น่ารำคาญมาก
เห็นความคิดตัวเองเป็นสำคัญ ตรรกะพิการ แยกแยะผิดชอบชั่วดีแบบแปลกๆ
เธอเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ
แต่ไม่รู้สึกแม้แต่น้อยว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นคือความเห็นแก่ตัว
อ่านถึงตอนที่มารีพร่ำพรรณนาถึงสิ่งต่างๆ แล้วรำคาญมาก
แม้ครอบครัวนี้จะมีมาดามที่ป่วยจิต แต่สมาชิกอื่นๆ
ในครอบครัวก็ให้ความสุขแก่ลุงทอมได้ดีพอใช้
แต่แล้ว .. ความสุขก็อยู่กับลุงทอมไม่ได้นาน
เกิดเหตุให้ลุงทอมจำต้องถูกขายต่ออีกครั้ง
และครั้งนี้ ลุงทอมได้นายที่เลวร้ายที่สุด!!
การที่ลุงทอมที่ถูกขายต่อให้นายแต่ละคนเป็นทอดๆ
ก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงชาวผิวขาวผู้เป็นนายที่มีลักษณะนิสัยไปแต่ละแบบ
พวกเขาปฏิบัติต่อทาสไปต่างๆ กัน
ทั้งคนที่ทำดีมีน้ำใจ และพวกที่โหดร้ายทารุณ
คนที่มีระเบียบเรียบร้อย ปกครองคนเป็น
และพวกที่ปล่อยปละละเลย บ้างใช้พระคุณ และบ้างก็ใช้พระเดช
นิยายเรื่องนี้แสดงลักษณะนิสัยของคนหลายประเภท
ทั้งผู้ที่เป็นทาส และผู้ที่เป็นนาย
ผู้เขียนได้แสดงให้เราเห็นธาตุแท้ในจิตใจมนุษย์
หลังจากที่เราได้รับรู้ปูมหลังของเขา
ได้รับรู้สิ่งที่เขาพบเจอมา
มันหล่อหลอมให้มนุษย์กลายเป็นคนดีหรือคนไม่ดี ภายใต้นิยามของใครต่อใคร
มนุษย์มีเหตุมีปัจจัยให้กลายเป็นคนอย่างที่คนอื่นมองเห็นได้จากภายนอก
เมื่อมนุษย์มองกันที่ภายนอก เราจึงถือไม้บรรทัดของเราวัดค่าความดีของเขา
ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปิดเผยความคิดจิตใจที่แท้จริง
และเมื่อเราเปิดเผยสิ่งนั้น ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองเห็น
การกระทำที่ชาวอเมริกันทำต่อทาสผิวดำนั้นรุนแรงมาก
ทั้งรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจ
อ่านแล้วในหัวอกมันเหือดๆ แห้งผาก หายใจได้ไม่ทั่วท้อง
การพรากแม่พรากลูก พรากสามีภรรยา มีให้เห็นอยู่ตลอดเรื่อง
เริ่มจากเด็กโตไปจนถึงเด็กเล็กลงทุกที
แม้แต่แม่ที่เพิ่งถูกขายมาพร้อมลูก ก็ถูกพรากลูกซ้ำอีกครั้ง
พ่อค้าทาสขายลูกของเธอต่ออีกทอดทั้งที่ยังไม่ทันหย่านม
มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันราวกับเป็นสัตว์ ไม่มีหัวใจ
เชื่อถือกันไปเองว่าคนผิวดำไม่มีความรู้สึกเท่าตน
ความทุกข์ของคนดำ ไม่มากเท่าความทุกข์ของคนขาว
ความทุกข์ของคนอื่น ไม่ยิ่งใหญ่เท่าความทุกข์ของเราเอง
ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ และปลอบประโลมผู้ถูกกดขี่
มนุษย์ตีค่ามนุษย์ด้วยกันต่ำเท่าเทียมกับสรรพสัตว์
สามารถซื้อขายตีราคา ดุด่าเฆี่ยนตีได้ตามใจชอบ
ขึ้นชื่อว่าทาส พวกเขาไม่มีอะไรที่เป็นของตัวเองเลย
สามี ภรรยา ลูก พี่น้อง ครอบครัว พร้อมจะถูกจับแยกขาย พลัดพราก
โดยไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน
ความสามารถที่มีก็ไม่ใช่ของตัว
พวกเขาไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
ไม่อาจฝึกฝนความสามารถให้เจริญรุ่งเรืองได้ตามใจชอบ เว้นแต่นายอนุญาต
ความชอบก็ไม่ใช่ของตัวเอง ความรักก็ไม่ใช่ของตัวเอง ..
แม้แต่ชีวิตก็ไม่ใช่ของตัวเอง
ผู้เขียนเล่าเรื่องอย่างเอื่อยๆ ด้วยวิธีเชยๆ (เพราะเขียนมานานมากแล้ว)
แต่ถ้อยคำธรรมดาเหล่านั้นลึกซึ้ง
กระทบกระแทกเข้าถึงความรู้สึกส่วนลึกในจิตใจของผู้อ่าน
เป็นหนังสือที่มีพลังรุนแรง ..
เข้าใจได้เลยว่าทำไมมันมีอิทธิพลต่อผู้คนจนถึงขั้นทำให้เกิดการเลิกทาสในอเมริกาได้
ถ้ามีโอกาส อยากแนะนำให้อ่านจริงๆ เลยค่ะ ..
ปล. และคำสุดท้ายที่อยากบอกผู้เขียน .. ขอบคุณสำหรับตอนจบค่ะ!
Comments are closed.